เนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ รวมไปถึงห่วงโซ่การผลิตข้ามพรมแเดน และอุปสงค์การเดินทางระหว่างสองประเทศที่สูงขึ้น ทำให้ระบบรถไฟความเร็วสูงเป็นที่ต้องการของรัฐบาลมาเลเซียและรัฐบาลไทย

กรุงเทพฯ และกรุงกัวลาลัมเปอร์จะสร้างเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายอื่น โดยเฉพาะจากกรุงเทพฯ เพื่อสร้างเครือข่ายที่กว้างขึ้น และขยายไปยังลาวและจีน ซึ่งนอกจากการขนส่งผู้โดยสาร รางขนาดมาตรฐานยังสามารถรองรับบริการขนส่งทางตรงไปยังจีนและจุดหมายอื่น ผ่านการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับ โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ( บีอาร์ไอ ) ของจีน

ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไทยและมาเลเซียเห็นโครงการที่เชื่อมต่อเมืองหลวงของ 2 ประเทศ เป็นกิจการร่วมค้า แต่ถึงอย่างนั้น มันมีอุปสรรคบางอย่างที่สูงอย่างน่ากังวลอยู่

เมื่อเปรียบเทียบกับการบิน ระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่ค่อนข้างไกล ทำให้รถไฟความเร็วสูงเสียเปรียบในระยะทางระหว่าง 200 และ 1,000 กม. แม้จะมีข้อได้เปรียบเรื่องเวลา เพราะสถานีรถไฟจะอยู่ใกล้ศูนย์กลางของเมืองอยู่เสมอก็ตาม

นอกจากนี้ ความร่วมมือจะเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในช่วงก่อนหน้านี้ ต่างได้รับการสนับสนุนโดยผู้จัดหาด้านเทคโนโลยีและการเงินจากภายนอก ที่ส่วนใหญ่คือ รัฐบาลปักกิ่ง

ขณะเดียวกัน โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ไม่สามารถเป็นเรื่องระหว่าง 2 ประเทศได้ เพราะทั้งมาเลเซียและไทย ไม่มีเทคโนโลยีและเงินทุนที่เพียงพอ ต่อการสนับสนุนโครงการดังกล่าว แม้ญี่ปุ่นยินดีมอบความสนับสนุน แต่ความช่วยเหลือด้านการเงินที่จำกัดอาจไม่เหมาะสมต่อโครงการนี้

ปัจจุบัน จีนมีบทบาทมากขึ้น เข้ามาเพิ่มการลงทุน เชื่อมโยงโครงการให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ( เอสเคอาร์แอล ) ที่เป็นการพัฒนาขนาดใหญ่ระหว่างจีนและสมาชิกหลายประเทศ ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน )

ทั้งนี้ การเจรจาขอการสนับสนุนจากจีน สำหรับการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดหนองคาย ที่มีความคืบหน้าแบบขึ้น ๆ ลง ๆ ชี้ให้เห็นว่า ความสามารถและความยืดหยุ่นทางการเงินของจีนมีขีดจำกัด อีกทั้งปัญหาอย่างอื่น เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงสายเบลเกรด-บูดาเปสต์ อาจทำให้ความกระตือรือร้นของรัฐบาลปักกิ่งลดลง

นอกจากนี้ อุปสรรคใหญ่คือ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ และกรุงกัวลาลัมเปอร์ จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านตอนใต้ของประเทศไทย ที่มีการก่อความไม่สงบอยู่เป็นระยะ ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างความปลอดภัยตลอดเส้นทางย่อมเพิ่มค่าใช้จ่าย และการป้องกันอาจครอบคลุมได้ไม่มากพออีกด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES