โดยเป็นข้อมูลจากรายงานวิจัย “การสังเคราะห์ผลการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย : การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย” โดย รศ.ดร.จุลนี เทียนไทย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ซึ่งในตอนที่แล้ว ได้มีการฉายภาพ “ลักษณะของชาวดิจิทัลไทย” ไว้แล้วบางส่วน…

ในตอนนี้…จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “มุมมอง-ทัศนคติ”

ที่ชาวดิจิทัลไทยมีต่อ “มิติทางสังคม” ในด้านต่าง ๆ

จะเป็นอย่างไร??…ลองมาติดตามรายละเอียดกัน…

ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยชิ้นนี้นอกจากจะค้นพบลักษณะที่สำคัญของ “ชาวดิจิทัลไทย” แล้ว ยังพบประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ “มายาคติ-ทัศนคติ” ในด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลกับประชากรดิจิทัลไทยอีกด้วย โดย “มุมมองชาวดิจิทัลไทย” นั้น ยอมรับว่า…การพัฒนาเทคโนโลยีส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อาทิ… พฤติกรรม การปฏิสัมพันธ์ และบรรทัดฐานทางสังคมที่เปลี่ยนไป รวมถึงทำให้ เกิดการสร้างแบบแผนใหม่ เช่น… การใช้ภาษา วิธีคิดต่อการใช้ชีวิต การจัดการชีวิต การเรียนรู้ การทำงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัว การสร้างและนำเสนอตัวตน การตัดสินความผิดชอบชั่วดี และหลักคุณธรรม

อย่างไรก็ตาม ชาวดิจิทัลไทย “ประชากรดิจิทัลของไทย” ยังมองว่า… ผลพวงการพัฒนาทางเทคโนโลยียังส่งผลต่อ ผลกระทบในเชิงโครงสร้าง ที่เป็นปัจจัยทำให้ เกิดความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ เช่น… เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงเทคโนโลยี และยัง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพรูปแบบใหม่ ๆ จนกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันอีกด้วย

ขณะที่ “ภาพมายาคติที่ต่างกัน” ระหว่าง “คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่” ก็ทำให้ “เกิดความคิดที่แตกต่าง” อาทิ… “มายาคติของคนรุ่นเก่า” มักจะมองว่า… “คนรุ่นใหม่ถูกทำให้ฉลาดน้อยลง!!!” เพราะปล่อยให้เทคโนโลยีคิดให้ ซึ่งเรื่องนี้ “ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่เห็นแย้ง” เนื่องจาก คนรุ่นใหม่มองเทคโนโลยีเป็นแค่ “การใช้งาน” หรือ “ตัวช่วย” เท่านั้น…

อีกทั้งยังมีการมองกรณีคนที่เห็นว่า เทคโนโลยีเป็นตัวการทำให้ฉลาดน้อยลง ว่า… คนกลุ่มดังกล่าวนั้น น่าจะเป็น “คนรุ่นเก่า” มากกว่า เนื่องเพราะคนกลุ่มนี้มักจะ “ไม่ได้ใช้” หรือ “ใช้ไม่เป็น” หรือ “ใช้เทคโนโลยีเป็น…แต่ก็ไม่คล่อง” ดังนั้นจึงคิดไปเองว่าเทคโนโลยีทำให้ฉลาดน้อยลง โดยคนรุ่นใหม่ได้ให้เหตุผลว่า…เพราะผู้ที่ใช้เทคโนโลยีนั้น…

ก็จำเป็นจะต้อง “ฉลาดคิด” และจะต้อง “รู้เท่าทัน”

กับผลสำรวจหัวข้อ “วิถีออนไลน์ในคนรุ่นใหม่” พบว่า…การใช้ชีวิตแบบวิถีออนไลน์เป็นลักษณะที่สำคัญของชาวดิจิทัล จนทำให้เกิด “สังคมก้มหน้า”  ซึ่งก็มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น โดย สาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องออนไลน์ตลอดเวลา ทั้งด้านการทำงาน และการติดต่อสื่อสาร รวมถึง ต้องตื่นตัวกับข้อมูลมากมายที่เข้ามา เป็นผลเกิดจาก โครงสร้างสังคม ที่ “เน้นแข่งขัน-ต้องรวดเร็ว” ทำให้ คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องพึ่งพาชีวิตในโลกออนไลน์ มากกว่า

ส่วนในหัวข้อ “ความเป็นคนรุ่นใหม่” นั้น ผลศึกษาวิจัยนี้พบว่า… ชาวดิจิทัลไทยส่วนใหญ่มองว่า… การออนไลน์ตลอดเวลาเป็นเรื่องปกติ และทำได้ง่ายมาก และด้วยความที่มองว่า… กระแสในโลกออนไลน์มีลักษณะมาไว-ไปไว จึงทำให้เกิด “พฤติกรรมการติดตามแฮชแท็ก” ที่เป็นลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของประชากรดิจิทัล เนื่องจากโครงสร้างทางสังคมที่เน้นแข่งขัน-ต้องการความรวดเร็ว ทำให้ชาวดิจิทัลต้องทันข้อมูลข่าวสารเหตุการณ์อยู่เสมอ ซึ่งส่วนหนึ่งชาวดิจิทัลก็ยอมรับว่า“เพราะกลัวตกข่าว หรือถูกมองเป็นคนไม่อัพเดท” ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวดิจิทัลให้ความสำคัญอย่างมาก…

“เมื่อคนรุ่นใหม่ต้องอยู่กับโลกที่ต้องเท่าทันเหตุการณ์ตลอดเวลา ชาวดิจิทัลจึงต้องการความรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน ซึ่งความต้องการความรวดเร็วนี้เองทำให้คนรุ่นเก่ามองคนรุ่นใหม่ว่า…ใจร้อน!!! จนนำไปสู่การตีความเชิงลบต่อคนรุ่นใหม่ว่าความอดทนต่ำ ไม่รอบคอบ”…เป็น “มุมมองต่างกัน” ที่ “ความไม่เข้าใจ” นี้ทำให้มี “มายาคติเชิงลบ” ต่อกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้สังคมจะมอง ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ ว่า… “มั่นใจตัวเอง-กล้าแสดงออก” แต่จากการวิเคราะห์เชิงลึก พบว่า…ภายใต้ความมั่นใจ…มีความไม่มั่นใจแฝงอยู่!!! ที่ทำให้ชาวดิจิทัล ต้องแสดงออกในหลายลักษณะ หรือ ใช้แพลตฟอร์มแสดงออกที่ต่างกัน เช่น… ใช้เฟซบุ๊กเป็นเพื่อนกับพ่อแม่ แต่ไปแสดงตัวตนผ่านทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม

นอกจากนี้ยังพบว่า… ชาวดิจิทัลวัยทำงานจะเลือกแสดงตัวตนให้รับรู้เฉพาะแค่แพลตฟอร์มไลน์ โดยไม่รับเป็นเพื่อนกับคนที่ทำงานในเฟซบุ๊กเพราะไม่อยากให้ใครรับรู้เรื่องส่วนตัว, ต้องจัดแต่งข้อความรูปภาพก่อนโพสต์หรือแชร์ จากความไม่มั่นใจในการตัดสินใจ, กังวลกับผลตอบรับ และกลัวการไม่ได้รับการตอบรับมากที่สุด เมื่อตนเองโพสต์หรือแชร์ข้อมูลลงโลกออนไลน์ ซึ่งจากการวิเคราะห์เรื่องนี้ สะท้อนว่า… แม้วิถีชีวิตออนไลน์จะทำให้รู้สึกถึงความมีอิสระมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ชาวดิจิทัลก็รู้สึกว่า…ตนเองไม่มีอิสระจากโลกของเทคโนโลยีเลย …นี่เป็น “ข้อค้นพบ” เกี่ยวกับชาวดิจิทัลไทย

“ประชากรดิจิทัลไทย” ปัจจุบันนี้ “มีเป็นจำนวนมาก”

คนกลุ่มนี้ “นับวันยิ่งมีบทบาทอย่างมากต่อสังคม”

ขณะที่ “ข้อค้นพบเชิงลบ” นี่ “ก็น่าคิดไม่น้อย??”.