ท่ามกลางการติดตามความคืบหน้าของชาว “LGBTQ+” หลังจากมีการผลักดันกฎหมายดังกล่าวกันมานานพอสมควร ซึ่งก็ถือเป็นการเฉลิมฉลองและต้อนรับ “Pride Month เดือนมิถุนายน” อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่ง ท่ามกลางการเปิดกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย ในแง่ “การปฏิบัติของผู้ที่เป็นพ่อแม่”  นั้น…หลายคนก็อาจจะอยากได้คำแนะนำ…

เกี่ยวกับเรื่อง…”การเลี้ยงดูลูกที่เป็น LGBTQ+”

เพื่อไม่ให้มีผลต่อ “ความสัมพันธ์ในครอบครัว”

สำหรับเรื่องนี้…“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อคำแนะนำโดย นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ให้คำแนะนำไว้ผ่านรายการ Re-Mind ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Mahidol Channel – มหิดล แชนแนล โดยได้ให้แนวทางไว้เกี่ยวกับ “การเลี้ยงลูก…เมื่อลูกเป็น LGBTQ+”

ทาง นพ.สมบูรณ์ แนะนำเรื่องนี้ไว้ว่า… สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าลูกนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่พ่อแม่รักและผูกพันตั้งแต่ยังไม่เห็นหน้า หรือผูกพันกันตั้งแต่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า…ลูกนั้นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อลูกเติบโตขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง ก็มีบ่อยครั้งที่พ่อแม่เองอาจเป็นกังวล เมื่อพบว่าลูกของตนเองนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็น LGBTQ+ ที่เมื่อเผชิญสถานการณ์เช่นนี้…

ส่วนใหญ่ก็มักตั้งคำถาม… “แล้วทำยังไงต่อ??”

ทั้งนี้ เมื่อพ่อแม่ต้องเผชิญสถานการณ์เช่นนี้ คำถามส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นก็คือ “ควรจะทำอย่างไรกับลูก??” ซึ่ง นพ.สมบูรณ์ ได้ให้แนวทางกับพ่อแม่ที่มีลูกเป็น LGBTQ+ ไว้ว่า… ควรเริ่มจากการทำใจยอมรับ และ มองให้เป็นเรื่องปกติ เพื่อไม่ไปลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของลูก จากนั้นก็ต้อง พยายามให้กำลังใจลูก เพื่อให้ลูกที่เป็นกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เตรียมพร้อม-เตรียมตัว ในการที่จะต้องออกไปเผชิญกับโลกภายนอก …เป็นคำแนะนำเบื้องต้น…

เมื่อพ่อแม่ได้รู้ว่า… “มีลูกเป็น LGBTQ+”

อนึ่ง สำหรับสาเหตุการเป็น LGBTQ+ นั้น เรื่องนี้ทาง นพ.สมบูรณ์ ได้อธิบายเอาไว้ว่า… สาเหตุที่ส่งผลต่อการเป็น LGBTQ+ ของเด็กนั้น อาจจะเป็นเรื่องของ พันธุกรรม เพราะมีการศึกษาที่พบว่า… ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็น LGBTQ+ สามารถมีประชากรที่เป็น LGBTQ+ ได้มากกว่าประชากรทั่วไป ขณะที่ สิ่งแวดล้อม ก็เป็นอีกปัจจัยได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่สามารถระบุหรืออธิบายได้อย่างชัดเจนว่า…สรุปแล้วอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้เด็กมีแนวโน้มเป็น “LGBTQ+” เพราะทุก ๆ ปัจจัยนั้นสามารถเกี่ยวโยง และอาจจะเป็นสาเหตุได้ทั้งหมด ทั้งพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม รวมถึง ปัจจัยชีวภาพ ที่เกิดจากระบบในร่างกายเอง ซึ่ง… การค้นหาสาเหตุอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด…

เท่ากับ “ดำเนินชีวิตเช่นไรภายใต้สถานการณ์นี้??”

แล้ว “ควรต้องเลี้ยงลูกเช่นไร??” …กับคำถามนี้ เมื่อทราบว่าลูกเป็น LGBTQ+ ทาง นพ.สมบูรณ์ แนะนำเพิ่มเติมไว้ว่า… อาจจะเริ่มจาก พ่อแม่ต้องเปิดใจคุยกับลูกเป็นอันดับแรก เพื่อให้ลูกไว้วางใจ เพราะถ้าลูกรู้สึกไม่ไว้วางใจ ก็จะไม่กล้าเข้ามาพูดคุยกับพ่อแม่ แต่เลือกที่จะปิดบังซ่อนเร้นตัวตนเอาไว้ ซึ่งถ้าหาก ลูกไม่มีที่ปรึกษา หรือปรึกษาใครไม่ได้

อาจสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ

ทาง นพ.สมบูรณ์ ยังได้ขยายความไว้อีกว่า… ถ้าลูกกล้าที่จะเดินเข้ามาบอก แสดงว่าไว้วางใจพ่อแม่ แต่เมื่อลูกเดินเข้ามาพูดคุย หรือบอกเล่าอะไรบางอย่าง ก็ มีหลักสำคัญอีกประการที่พ่อแม่จะต้องท่องไว้ไม่ให้ลืม นั่นคือ… พ่อแม่ต้องตั้งใจรับฟังสิ่งที่ลูกบอกเล่า และระหว่างที่พูดคุย ห้ามตำหนิต่อว่าเด็ดขาด เพราะนั่นจะทำให้การสนทนาหยุดชะงักลง

“วิธีพูดคุยกับลูกที่เป็น LGBTQ+” นั้น อาจารย์สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำไว้ว่า… แม้ระหว่างพูดคุยอาจมีบางอย่างที่พ่อแม่ฟังแล้วรู้สึกตกใจ พ่อแม่ก็ต้องระมัดระวังการแสดงสีหน้า ห้ามชักสีหน้าหรือแสดงอาการที่จะทำให้ลูกรู้สึกกลัวจนไม่กล้าที่จะพูดคุยหรือปรึกษาต่อ ซึ่งถ้าฟังลูกจบแล้วและมีประเด็นไม่เห็นด้วยก็อาจแลกเปลี่ยนมุมมองกันและกันในประเด็นนั้น รวมถึงไม่ลืมปิดท้ายการสนทนาด้วย “ประโยคสำคัญ” อย่าง… “ถ้าลูกต้องการความช่วยเหลือให้บอกพ่อแม่ได้ทุกเวลา” ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยกับลูกในประเด็นนั้นก็ตาม…

ทั้งนี้ทั้งนั้น กับ “การเลี้ยงดูลูกที่เป็น LGBTQ+” นั้น ทาง นพ.สมบูรณ์ ได้ระบุไว้ว่า… ก็ ไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากการเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิง แต่ก็มี “จุดที่อยากย้ำเตือน” ถึงบรรดา พ่อแม่-ผู้ปกครอง ที่มักจะลืมตัวหรือเผลอตัวได้บ่อย ๆ นั่นก็คือ… ห้ามนำลูกไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น และ… พ่อแม่ต้องไม่ทะเลาะกันให้ลูกเห็น หากพ่อแม่เห็นไม่ตรงกันในเรื่องของสถานการณ์ของลูก เพราะหากลูกเห็นภาพการทะเลาะกันของพ่อแม่ อาจยิ่งทำให้เกิด “แรงกดดันทางชีวิต” จนส่งผลต่อสุขภาพจิตใจและร่างกาย เนื่องจากลูกจะรู้สึกว่าเขาเป็นตัวปัญหาของครอบครัว…

เหล่านี้เป็น “คำแนะนำ” ที่ “มีประโยชน์อย่างยิ่ง”

วิธีเลี้ยงดูลูก” ที่ “เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ”

ที่ “ไม่ลดทอนคุณค่าชีวิตของลูกโดยพ่อแม่เอง”.