ปัจจุบันปัญหายาเสพติดยังคงเป็นปัญหาสำคัญและปัญหาใหญ่ของไทยและทั่วโลก โดยปัญหายาเสพติดถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นจำนวนมาก ทำให้นานาประเทศพยายามร่วมมือกัน เพื่อหาทางหยุดยั้งปัญหายาเสพติดให้ได้มากที่สุด

วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวันนี้ รวมถึงความสำคัญและที่มาของวันที่ 26 มิ.ย. วันต่อต้านยาเสพติดโลกกัน

ประวัติความเป็นมาวันต่อต้านยาเสพติด

เริ่มจากในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบใช้ยาเสพติด ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในปี 2530 ที่ประชุมได้มีมติให้เสนอสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ขอให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันต่อต้านยาเสพติดโลก” (International Day Against Drug Abuse and Illicit Trafficking) โดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคม 2530

โดยประเทศไทย หนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทั่วโลก ด้วยการจัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดเป็นประจำเสมอมา ดังนั้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ประชาชนไทยเกิดความตระหนักว่ายาเสพติดเป็นปัญหาของคนไทยทั้งชาติ ที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไข 

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหายาเสพติดมาเป็นเวลานาน รัฐบาลในแต่ละยุคได้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาตลอด จนกระทั่งในปี 2501 คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2501 ให้เลิกการสูบฝิ่นทั่วราชอาณาจักร โดยมีการเผาทำลายฝิ่นและอุปกรณ์การสูบฝิ่นที่ท้องสนามหลวง หลังจากนั้นปี 2504 รัฐบาลได้จัดตั้ง “คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ” ใช้ชื่อย่อว่า ป.ป.ส. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีอธิบดีกรมตำรวจเป็นประธาน และมีผู้แทนจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ 

จากนั้นในสมัย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้เล็งเห็นว่า การปราบปรามยาเสพติดไม่สามารถแก้ไขได้โดยการดำเนินการเฉพาะกรมตำรวจฝ่ายเดียว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 2519 ต่อสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2519 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยก็ได้ดำเนินไปอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือเรียกชื่อย่อว่า ป.ป.ส. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ส. ขึ้นเป็นหน่วยงานกลางรับผิดชอบโดยตรง มีฐานะเป็นกรมกรมหนึ่งในสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันสำนักกระทรวงยุติธรรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศมาโดยตลอด ได้นำมติเรื่องวันต่อต้านยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา และมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและต่อต้านปัญหายาเสพติดนี้อย่างจริงจัง

ปัญหายาเสพติด…ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกคนในการเป็นหูเป็นตาเพื่อบรรเทาและปราบปรามให้ปัญหานี้หมดไป เพื่อให้ประเทศไทยปราศจากยาเสพติดและขับเคลื่อนพัฒนาต่อไปได้อย่างดีในอนาคต.