ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าติดตามบนท้องฟ้าไม่ว่าจะเป็นสุริยุปราคา ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี ฝนดาวตก หรือที่เพิ่งจะผ่านไปกับความงามของพาเหรดดาวเคราะห์ยามเช้าที่ปรากฏให้ชมอย่างโดดเด่น ให้คนรักการถ่ายภาพได้เก็บภาพบันทึกความประทับใจ

เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ ดวงจันทร์ หลายต่อหลายปรากฏการณ์ทั้งปรากฏการณ์จันทรุปราคา พระจันทร์ทรงกลด ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก (Super Full Moon) ดวงจันทร์ข้างขึ้น ข้างแรม ฯลฯ ล้วนแต่เป็นที่น่าสนใจ ชวนติดตามเฝ้ามอง

นอกจากความสวยงาม ภาพถ่ายดวงจันทร์ยังแฝงไว้ด้วยความรู้อีกมากมายที่สามารถอธิบายไขคำตอบ ส่งต่อการเรียนรู้เชื่อมโยงต่อเนื่องไปอีกหลากหลายมิติ ทั้งนี้พาสำรวจความสวยงามของท้องฟ้ากลางคืน พาค้นความรู้ชมภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องจากดวงจันทร์ โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม บันทึกภาพ ให้ความรู้เล่าเรื่องน่าศึกษาที่ค้นได้จากดวงจันทร์ จากการถ่ายภาพว่า การถ่ายภาพดวงจันทร์ในปรากฏการณ์ต่าง ๆ หรือการศึกษา สังเกตดวงจันทร์ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดวงจันทร์เป็นวัตถุท้องฟ้าที่สว่างที่สุดในเวลากลางคืน ทั้งยังเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ง่าย

ดวงจันทร์ยังเป็นตัวแทนบอกกลางวัน กลางคืน โดยถ้าตัวแทนของกลางวันคือ ดวงอาทิตย์ ในยามค่ำคืนก็ต้องยกให้ดวงจันทร์ ดวงจันทร์มีรายละเอียดที่บอกเล่าเรื่องราวได้อีกมาก ทั้งนำมาสื่อสารใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อีกไม่น้อยอย่างในเรื่อง ทิศ ซึ่งเรียนรู้ได้จากดวงจันทร์เช่นกัน ทั้งนี้ถ้าสังเกตเห็นดวงจันทร์ในช่วงหัวค่ำ ในลักษณะพระจันทร์เสี้ยวซึ่งคนไทยจะเรียกคืนเดือนหงาย ทิศที่มองเห็นดวงจันทร์คือ ทิศตะวันตก 

แต่ถ้าสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ในช่วงหัวค่ำ ทิศที่ดวงจันทร์อยู่คือ ทิศตะวันออก หรือถ้าอยากรู้ว่าช่วงเวลานี้เป็น ข้างขึ้นหรือข้างแรม ก็สังเกตได้จากดวงจันทร์ โดยถ้าเห็นดวงจันทร์ช่วงหัวค่ำ จะเป็นดวงจันทร์ข้างขึ้น แต่ถ้าสังเกตเห็นดวงจันทร์ในช่วงดึก ๆ หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป หรือใกล้รุ่งเช้า ลักษณะนี้จะเป็นดวงจันทร์ข้างแรม เป็นต้น”

หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ ศุภฤกษ์ ขยายความเพิ่มอีกว่า นอกจากบอกทิศ ในยามที่พระจันทร์เต็มดวง มองเห็นพระจันทร์สว่างชัดเจน จากพื้นผิวของดวงจันทร์ยังเกิดจินตนาการ ทั้งนี้คนไทยจะมองเห็นเป็น กระต่ายบนดวงจันทร์ ส่วนที่เป็นสีคล้ำ ๆ นักดาราศาสตร์เรียกว่า มาเร เป็นบริเวณที่ดวงจันทร์เคยถูกอุกกาบาตพุ่งชนในอดีต กลายเป็นแอ่ง ซึ่งลักษณะที่เป็นสีคล้ำ ๆ ที่เป็นพื้นผิวที่มองเห็น จากที่กล่าวทำให้เกิดการจินตนาการเป็นรูปร่างรูปทรงต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ละวัฒนธรรม

นอกจากความรู้ในมิตินี้ ดวงจันทร์ยังส่งต่อเชื่อมโยงเรื่องราวที่น่าศึกษา ส่งต่อการศึกษาค้นคว้า โดยถ้ามองถึงปรากฏ การณ์ที่เกี่ยวกับดวงจันทร์ คนส่วนใหญ่จะนึกถึง ปรากฏการณ์จันทรุปราคา ปรากฏการณ์ที่มีดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน ในการเกิดขึ้นแม้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ครั้งใดที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวง

ส่วนช่วงเวลาที่เกิดจันทรุปราคา ดวงจันทร์บอกอะไรกับเรา ศุภฤกษ์ ขยายความเพิ่มว่า ในอดีตคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าโลกของเราแบน นักดาราศาสตร์เองก็ใช้ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า โลกเราไม่ได้แบน โลกเรากลม ด้วยที่ขณะดวงจันทร์กำลังเคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก จะสังเกตเห็นช่วงที่ดวงจันทร์ถูกเงาของโลกบัง เงาที่ตกบนพื้นผิวของดวงจันทร์มีลักษณะโค้งซึ่งเป็นเงาของโลก จากการถ่ายภาพภาพที่บันทึกไว้ก็ได้ใช้พิสูจน์เป็นคำตอบ

อีกปรากฏการณ์ที่มีความโดดเด่น Super Full Moon ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะมีการกำหนดช่วงเวลาที่ดวงจันทร์เต็มดวงและเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ซึ่งปีนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม เวลา 01.39 น. ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถรอชมปรากฏการณ์นี้ได้ โดยถ้าแนะนำอยากให้รอชมในคืนวันที่ 13 ข้ามคืนไปถึงวันที่ 14 ซึ่งจะได้เห็นดวงจันทร์ใหญ่กว่าปกติชัดเจน

“วงโคจรของดวงจันทร์ที่โคจรรอบโลกมีลักษณะเป็นวงรี ดังนั้นในหนึ่งเดือนจะมีช่วงที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลก และดวงจันทร์อยู่ไกลโลก จากที่กล่าววงโคจรของดวงจันทร์เป็นวงรี และเมื่อศึกษาดูในรอบปีทั้ง 12 เดือนจะมีช่วงไหนบ้างที่ดวงจันทร์เต็มดวงแล้วดวงจันทร์เข้าใกล้โลกที่ระยะห่างน้อยที่สุดในรอบปีก็จะนิยามออกมา 

สดร. เรากำหนดหรือนิยามโดยศึกษาจากเดือนที่มีดวงจันทร์เต็มดวง และต้องมีระยะที่ใกล้ที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่น ซึ่งปีนี้จากที่กล่าว ตรงกับคืนวันที่ 14  โดยถ้าสนใจชมความใหญ่อลังการของดวงจันทร์ แนะนำให้สังเกตดวงจันทร์นับแต่เริ่มขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกในช่วงหัวค่ำ”

นอกจากนี้ ดวงจันทร์ยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นวัตถุที่สามารถหลอกสายตาเราได้ หรือเรียกว่าเป็นภาพลวงตา เวลาที่เราดู ดวงจันทร์เมื่อเปรียบเทียบกับวัตถุที่ขอบฟ้า ที่พื้น ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ต่างๆ จะสัมผัสได้ว่าดวงจันทร์มีขนาดปรากฏที่ใหญ่ แต่เมื่อใดก็ตามที่ดวงจันทร์อยู่กลางท้องฟ้า กลางศีรษะจะให้ความรู้สึกว่าเล็ก แต่แท้จริง ๆ แล้ว ถ้าถ่ายภาพดวงจันทร์แต่ละช่วงเวลา เมื่อนำภาพถ่ายมาเปรียบเทียบกันจะพบว่าดวงจันทร์ที่ตำแหน่งกลางศีรษะมีขนาดใหญ่

แต่ที่มองแล้วรู้สึกว่าดวงจันทร์ที่กลางศีรษะมีขนาดเล็ก ก็เพราะไม่มีวัตถุใดมาเปรียบเทียบกับขนาดดวงจันทร์ จึงรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดเล็ก เป็นภาพลวงตา ซึ่งก็เป็น อีกมุมถ่ายภาพที่สร้างความสวยงาม ความประทับใจ โดยช่างภาพมักจะถ่ายภาพปรากฏการณ์นี้กับวัตถุที่อยู่บนพื้นโลกกับสถานที่ต่าง ๆ

หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ ศุภฤกษ์บอกเล่าเพิ่มอีกว่า นอกจากดวงจันทร์ใกล้โลก ในปีนี้ดวงจันทร์เต็มดวงและไกลที่สุดก็เกิดขึ้นแล้วในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดวงจันทร์ไกลโลก ถ้ามองด้วยตาเปล่าอาจไม่ค่อยรับรู้ได้สักเท่าไหร่ แต่ถ้ามองผ่านภาพถ่าย การถ่ายภาพเก็บไว้จะเห็นถึงความต่างที่เกิดขึ้น ทั้งช่วงที่ใกล้และไกลโลก

“ดวงจันทร์ยังมีอิทธิพลกับชีวิตของเราและกับโลกของเรา โดยสิ่งที่ได้รับจากดวงจันทร์มากที่สุดคือ การเกิดนํ้าขึ้น นํ้าลง เป็นอิทธิพลที่ดวงจันทร์ส่งผลโดยตรงกับโลก อีกทั้งปรากฏการณ์สุริยุปราคา ก็มีความเกี่ยวเนื่อง โดยทั่วไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะนึกถึงดวงอาทิตย์ แต่จริง ๆ แล้วเป็นปรากฏการณ์ที่มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลกเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เหมือนกับจันทรุปราคาที่มีโอกาสสังเกตการณ์ได้หลายชั่วโมงและยังดูได้พร้อมกันในหลายพื้นที่ในเวลากลางคืน”

ส่วนปรากฏการณ์อื่น ๆ ที่สามารถเรียนรู้ได้จากดวงจันทร์ จากภาพถ่าย ที่นักดาราศาสตร์ ช่างภาพบันทึกไว้ยังมี ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์การบังกัน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงความรู้ นำไปสู่เรื่องของการหาระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ได้ อีกความรู้ ความงามที่มีคำตอบที่ศึกษาได้จากการสังเกต เฝ้ามองดวงจันทร์ 

นอกจากนี้ดวงจันทร์ยังมีเรื่องราวของเกร็ดความรู้อีกหลายมิติ โดยทุกวันนี้นักดาราศาสตร์ยังคงติดตามเก็บข้อมูลดวงจันทร์ ทั้งนี้ดวงจันทร์ยังคงสว่างเด่นบนท้องฟ้าในช่วงเวลากลางคืน คงไม่มีวัตถุใดที่จะมีความสว่างเท่ากับดวงจันทร์ หรือแม้กระทั่งดาวหางที่แม้จะมีความสว่าง แต่ก็สว่างได้ไม่มากไปกว่าดวงจันทร์

อีกทั้งในมิติการศึกษาสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์จากทั่วโลกยังคงให้ความสนใจ จะเห็นได้ว่าหลายประเทศยังคงมีภารกิจเดินทางออกไปศึกษาสำรวจดวงจันทร์ โดยดวงจันทร์จึงยังคงเป็นโจทย์แรก ๆ ส่วนการติดตามปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่เกี่ยวกับดวงจันทร์ ที่จะเป็นอีกไฮไลต์ให้ติดตาม นอกจากที่กล่าวมา ในเดือนพฤศจิกายนในคืนวันลอยกระทง จะมีโอกาสได้เห็นจันทรุปราคาแบบเต็มดวง โดยสังเกตเห็นได้นับแต่หัวค่ำ

ส่วนถ้ามองในมิติการถ่ายภาพ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ ศุภฤกษ์ ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า การถ่ายภาพดวงจันทร์ สามารถถ่ายภาพได้หลายรูปแบบ อย่างเช่น ถ้าต้องการถ่ายดวงจันทร์ในช่วงข้างขึ้น จะต้องถ่ายภาพในช่วงหัวค่ำ แต่ถ้าต้องการบันทึกภาพดวงจันทร์ข้างแรม อาจต้องเฝ้ารอคอยสักหน่อย เพราะดวงจันทร์จะปรากฏขึ้นจากขอบฟ้าในช่วงหลังเที่ยงคืน หรือช่วงรุ่งเช้า การถ่ายภาพดวงจันทร์ทุกเฟสให้ครบตั้งแต่ดวงจันทร์ข้างขึ้น 1 ค่ำเรื่อยไป จนกระทั่งถึงข้างแรม 1 ค่ำ เรื่อยไปถึงแรม 15 ค่ำ ต้องเฝ้ารอ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายแต่สามารถเป็นไปได้

“การถ่ายภาพดวงจันทร์หากถ่ายด้วยความคมชัด เมื่อนำภาพมาเร่งสีจะพบความสวยงามทั้งส่งต่อการศึกษา การค้นคว้า โดยภาพที่ถ่ายออกมามีสีของพื้นผิวดวงจันทร์ สีที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ สีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพื้นผิวของดวงจันทร์ซึ่งมากไปด้วยแร่ธาตุที่มีความหลากหลาย หรือการบันทึกภาพดวงจันทร์ในแต่ละวัน หากนำมาเปรียบเทียบกันก็จะเห็นลักษณะรายละเอียดขอบผิวของดวงจันทร์ที่ต่างกัน เห็นดวงจันทร์ในด้านไกลที่แตกต่างกัน ฯลฯ โดยเหล่านี้ศึกษาได้จากภาพถ่าย”

อีกทั้งในบางครั้งการถ่ายภาพดวงจันทร์ เราอาจออกไปถ่ายดวงจันทร์กับสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือสถานที่ที่เป็นไฮไลต์ก็จะช่วยส่งเสริมให้การถ่ายภาพดวงจันทร์โดดเด่น น่าประทับใจ บอกเล่าความงดงามของดวงจันทร์

บอกเล่าความรู้ที่ศึกษาได้จากภาพถ่ายดวงจันทร์.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ

ภาพโดย สดร.