การเสียเสียงข้างมากในการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ หรือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจัดการลงคะแนนสองรอบในเดือนนี้ ทำให้มาครงไม่สามารถพึ่งพาสภาแห่งนี้ในฐานะ “สภาตรายาง” ได้อีก ในทางกลับกัน เขาจะถูกบีบให้ทำการเจรจาต่อรองกับพันธมิตรที่เอาใจยาก และเพื่อนร่วมงานบางกลุ่ม ซึ่งมีความพยาบาทต่อกัน

นั่นหมายความว่า มาครงอาจต้องมองหาเสียงสนับสนุนจากพรรคอนุรักษนิยม เลส์ รีพับลิกัน (แอลอาร์) ซึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นตัวแปรสำคัญ และต้องการค่าตอบแทนครั้งสำคัญจากมาครง สำหรับความสนับสนุนทางนิติบัญญัติ ที่อาจรวมถึงการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส

FRANCE 24 English

“วัฒนธรรมของการประนีประนอมเช่นนี้ คือสิ่งหนึ่งที่เราจะนำมาใช้ แต่พวกเราต้องทำในขอบเขตของคุณค่า แนวความคิด และแผนงานทางการเมืองที่ชัดเจนสำหรับฝรั่งเศส” นายบรูโน เลอ แมร์ รมว.คลังฝรั่งเศส กล่าว

อย่างไรก็ตาม มันอาจเป็นเรื่องยากสำหรับมาครงและผู้ที่อาจเป็นพันธมิตร ในการเรียนรู้ศิลปะของการสร้างฉันทามติและการทำงานร่วมกัน

“ผมกลัวว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองแบบอิตาลี ซึ่งบริหารจัดการได้ยากกว่าสถานการณ์แบบเยอรมนี ที่มีการเจรจาจนเห็นชอบร่วมกัน” นายคริสโตเฟอร์ เดมบิค นักวิเคราะห์จากธนาคาร แซกโซแบงก์ บอกกับรอยเตอร์ส “ในมุมมองของผม มันไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเรื่องเศร้า แต่มันอาจเป็นโอกาสในการให้ความเข้มแข็งต่อประชาธิปไตยของฝรั่งเศสอีกครั้ง และหวนคืนสู่ความหมายที่แท้จริงของสภา” เขากล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ มาครงถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งในช่วงการบริหารงานครั้งแรกของเขา ว่าการผลักดันการปฏิรูปที่เอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ และไม่มีการปรึกษากับสภา หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนอกองค์กรแต่อย่างใด อีกทั้งฝ่ายตรงข้ามมักจะกล่าวหามาครงว่า มีบุคลิกลักษณะห่างเหินและหยิ่งผยอง

แม้ในช่วงการรณรงค์หาเสียง มาครงตอบโต้คำกล่าวหาด้วยการสัญญาถึง “วิธีใหม่” ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการสร้างตัวแทนนอกสภาที่จะเติมเต็มด้วยบุคคลจากประชาสังคม และผู้ที่เขาจะปรึกษาเรื่องแผนปฏิรูปในอนาคต แต่ดูเหมือนว่าในท้ายที่สุด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวฝรั่งเศสกลับไม่เชื่อใจเขา

FRANCE 24 English

นอกจากนี้ มาครงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการอภิปรายประวิงเวลาจากทั้ง 2 ฝ่ายของสภา โดยด้านหนึ่งคือ กลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้าย “นูเปส” ซึ่งเปลี่ยนบรรดาสมาชิกสภาที่พร้อมรบให้กลายเป็นขุมกำลังฝ่ายค้านขนาดใหญ่ที่สุดของรัฐสภา และจะขัดขวางกระบวนการลงมติอย่างไม่หยุดยั้ง

ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือ พรรคแนวร่วมแห่งชาติ (อาร์เอ็น) ฝ่ายขวาจัดของนางมารีน เลอ แปน ซึ่งกลายเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่อันดับสอง จากการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่อาจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญทบทวนกฎหมายหลายฉบับ

ทั้งนี้ทั้งนั้น การประนีประนอมไม่จำเป็นที่จะต้องหมายถึง “ความหมดสภาพ” เพียงแต่ร่างกฎหมายบางฉบับอาจผ่านได้อย่างยากลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจับตามองคือ ระยะเวลาที่มาครงยอมรับการแบ่งอำนาจในสภา เนื่องจากประธานาธิบดีมีอำนาจ ประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ทุกเมื่อ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS