แม้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุด และเป็นเป้าหมายสำคัญในการทดแทนด้วยแหล่งพลังงานทางเลือกอื่น แต่เยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย และ เนเธอร์แลนด์ ต่างมองว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินอาจใช้เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ถูกรัสเซียระงับการส่งได้

นายโรเบิร์ต ฮาเบค รมว.เศรษฐกิจเยอรมนี อธิบายว่า การตัดสินใจของรัฐบาลที่จำกัดการใช้ก๊าซธรรมชาติ และเผาถ่านหินมากขึ้นนั้น “เป็นความขมขื่น” แต่ประเทศต้องทำทุกอย่างเพื่อกักเก็บก๊าซให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวในปีนี้

ขณะที่ เนเธอร์แลนด์ จะดำเนินการ “ระยะเฝ้าระวัง” ของแผนวิกฤติพลังงาน และยกเลิกขีดจำกัดการผลิตก๊าซจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนอิตาลีและออสเตรีย แผนพิจารณาการเผาถ่านหินเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยการลดจ่ายก๊าซของรัสเซียเช่นกัน

ด้าน นายเฮนนิง กลอยชไตน์ ผู้อำนวยการของบริษัทให้คำปรึกษาด้านพลังงาน สภาพภูมิอากาศ และทรัพยากรต่อความเสี่ยงทางการเมือง “ยูเรเชีย กรุ๊ป” กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาระยะสั้นสำหรับเยอรมนีและอีกหลายประเทศในยุโรป คือการเข้าถึงพลังงานรูปแบบใดก็ได้ ที่ไม่ใช่ของรัสเซีย แม้จะต้องเป็น “ถ่านหิน” ก็ตาม

กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ “การปันส่วนพลังงาน” โดยในระยะแรก จะเป็นการร้องขอให้อุตสาหกรรมที่ไม่สำคัญลดการใช้พลังงาน ก่อนที่จะตามมาด้วยอุตสาหกรรมปันส่วนและภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนยุโรปไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน อีกทั้งประชาชนในบางพื้นที่อาจต้องหนาวตาย เรื่องนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดมากที่สุด

นายลอริ มิลลิเวอร์ตา หัวหน้านักวิเคราะห์ที่ศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาด (ซีอาร์อีเอ) กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องสำคัญในการเข้าใจช่วงเวลาของการตัดสินใจที่จะกลับมาใช้ถ่านหิน เนื่องจากยุโรปไม่ได้เตรียมการรับมือกับวิกฤติ และมาตรการหลายอย่างจำเป็นต้องใช้ เพื่อให้ผ่านพ้นฤดูหนาวปีนี้ ที่อาจไม่มีก๊าซของรัสเซีย”

“นโยบายด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานที่ล้มเหลวมาหลายสิบปี ได้นำไปสู่จุดที่รัฐบาลของพวกเราต้องพิจารณาการใช้ถ่านหินอีกครั้ง เชื้อเพลิงที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชากรหลายล้านคน และความเสียหายทางสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้” นางมาฮี ซิเดอริดู กรรมการผู้จัดการของกลุ่มรณรงค์ ยุโรป บิยอนด์ โคล กล่าว

นอกจากนี้ ซิเดอริดู กล่าวว่า การลงทุนที่สำคัญในพลังงานทดแทน โดยเฉพาะลมและแสงอาทิตย์ จำเป็นต้องมีการแก้ไขการกักเก็บพลังงาน มาตรการที่มีประสิทธิภาพ และอื่น ๆ ซึ่ง “สิ่งนี้เป็นวิธีเดียวที่พวกเราสามารถรับมือวิกฤติค่าครองชีพและสภาพภูมิอากาศ รวมถึงช่วยนำมาซึ่งความสงบสุขได้”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES