จากเหตุการณ์พบผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในรถบรรทุกพ่วงในเมืองซานอันโตนิโอที่ร้อนระอุ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือตัวอย่างที่แสดงถึงความลำบากของเจ้าหน้าที่สหรัฐ ในการหากลยุทธ์ที่ถูกต้อง สำหรับการตรวจตราพรมแดน และการป้องกันการเสียชีวิต

การบังคับใช้กฎหมายที่หละหลวม สามารถกระตุ้นให้ผู้คนเดินทางเข้าสหรัฐ ด้วยความหวังในชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่การจำกัดไม่ใช่อุปสรรคเสมอไป ในทางกลับกัน กลุ่มผู้อพยพอาจพึ่งพาเส้นทางที่มีความเสี่ยงมากกว่าเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ หรือฝากตัวเองไว้กับผู้ลักลอบขนคนเข้าเมือง ซึ่งเรียกรับเงินแลกกับคำสัญญาที่จะหลบหลีกเจ้าหน้าที่รัฐได้

ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กล่าวว่า การเสียชีวิตที่เกิดขึ้น “น่าหวาดกลัวและน่าเศร้าใจ” พร้อมประณามการหาผลประโยชน์จากกลุ่มคนเปราะบาง และยืนยันว่ารัฐบาลของเขาจะยังทำทุกอย่างเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อหยุดการลักลอบขนคนเข้าเมือง และการค้ามนุษย์ต่อไป

แผ่นป้ายข้อความไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 53 ราย ซึ่งแออัดกันอยู่ภายในรถบรรทุกคันหนึ่ง ในเมืองซานอันโตนิโอ ที่รัฐเทกซัส ทางตอนใต้ของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สนับสนุนการอพยพกล่าวว่า ไบเดนจดจ่อกับการบังคับใช้กฎหมายมากเกินไป แม้ศาลฎีกาจะคงไว้ซึ่งนโยบายสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ปฏิเสธโอกาสในการหาที่ลี้ภัยของผู้อพยพจำนวนมาก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม

“หากรัฐบาลของไบเดนยังคงหันหลังหนีผู้อพยพอย่างผิดกฎหมาย และปฏิเสธโอกาสของพวกเขาในการหาที่พักพิงอาศัยโดยชอบธรรม หลายคนและหลายครอบครัวที่หนีจากการประหัตประหาร, สงคราม และภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะยังต้องเผชิญกับความรุนแรงและการเสียชีวิตต่อไป” ศูนย์ผู้ลี้ภัยและผู้ย้านถิ่นฐานเพื่อการศึกษาและบริการด้านกฎหมาย (เรเซส) องค์กรไม่แสวงหากำไรในรัฐเทกซัส กล่าวในแถลงการณ์

ABC News

ขณะที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เรียกร้องให้มีการสืบสวนเหตุการณ์ที่เมืองซานอันโตนิโออย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ การเสียชีวิตกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำซากในพื้นที่พรมแดนของประเทศ หลังจากมาตรการ “โอเปอเรชั่น เกตคีปเปอร์” (Operation Gatekeeper) ถูกประกาศใช้เมื่อปี 2537 ซึ่งผลักไสการค้ามนุษย์จากเมืองซานดิเอโก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ไปยังทะเลทรายแอริโซนา

ภายใต้รัฐบาลของทรัมป์และไบเดน กำลังเจ้าหน้าที่ตระเวนชายแดนมีจำนวนเบาบางอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพิจารณาคดีความต่อศาลตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งด้วยภาระรับผิดชอบที่ทำให้พวกเขาไม่ได้ปฏิบัติงานภาคสนาม จึงเป็นเรื่องง่ายที่ผู้คนสามารถเดินทางข้ามพรมแดนโดยไม่ถูกตรวจพบ

ตัวเลขของคนที่ข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายอยู่ในระดับใกล้เคียง หรือสูงสุดในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการตัดสินใจย้านถิ่นฐานเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่อาจเป็นเพราะมีหลายคนที่สามารถผ่านพรมแดนโดยไม่ถูกตรวจจับ และส่งเสริมให้ผู้อื่นทำตาม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES