สัปดาห์นี้พาไปทำความรู้จัก “สนามบินพะเยา” ที่กรมท่าอากาศยาน เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมแจ้งเกิดเป็นสนามบินน้องใหม่ลำดับที่ 30 มูลค่าโครงการ 4.4 พันล้านบาท ปักหมุด “ดอกคำใต้” สร้างเทอร์มินอลสไตล์ล้านนา หนุนอัตลักษณ์ท้องถิ่น รันเวย์ 2,500 เมตร ย่นการเดินทางส่งเสริมการท่องเที่ยว วางเป้าหมายเปิดบริการปี 72  

กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีเคท คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท อลานา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วงเงิน 5.79 ล้านบาท ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา จ.พะเยา ซึ่งผ่านขั้นตอนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) แล้ว อยู่ระหว่างเร่งรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาคาดว่าจะสรุปผลการศึกษาฯ เสนอกระทรวงคมนาคม รวมถึงหน่วยงานต่างๆ พิจารณาได้ภายในปี 65

หากกระทรวงคมนาคม และทุกหน่วยงานเห็นชอบ จะจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และเสนอแบบก่อสร้างต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะอนุญาตในการสร้างสนามบิน รวมทั้งจะเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม 

เมื่อ กพท. และ สผ. เห็นชอบแล้ว จะมีการเวนคืนที่ดินและก่อสร้าง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จต้องขอเปิดใช้งานกับ กพท. อีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลานับจากนี้อย่างเร็วที่สุด 7-8 ปี หรือประมาณปี 72 จะเปิดใช้บริการได้ 

ท่าอากาศยานพะเยา จะเป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ของ ทย. ลำดับที่ 30 ช่วยรองรับทั้งการขนส่งผู้โดยสาร-สินค้าทางอากาศ ลดเวลาการเดินทาง และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.พะเยา เบื้องต้นท่าอากาศยานพะเยา ตั้งอยู่ใน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ห่างจากตัวเมืองประมาณ 18 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าโครงการ 4,421 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานก่อสร้าง 2,001 ล้านบาท ค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์ 1,700 ล้านบาท และค่าดูแลและบำรุงรักษา 30 ปี 720 ล้านบาท ระยะแรกอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่ใช้งาน 9,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) จากนั้นอีก 10-20 ปี จะมีการขยาย เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อไป

มีทางวิ่ง (รันเวย์) ท่าอากาศยานพะเยากว้าง 45 เมตร ยาว 2,500 เมตร มีลานจอดขนาด 120X180 เมตร ในอนาคตสามารถขยายรันเวย์ได้ถึง 3,000 เมตร แต่ระยะแรกนี้เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสาร รวมทั้งความต้องการของเครื่องบินในระดับของเครื่องยนต์ลำตัวแคบสามารถบินได้ประมาณ 7-8 ชั่วโมง จึงเริ่มที่ความยาวรันเวย์ 2,500 เมตรก่อน และในอนาคตหากมีความต้องการให้สามารถบินไปยุโรปได้ จึงจะขยายเป็น 3,000 เมตร จะไม่ลงทุนตั้งแต่แรกเนื่องจากต้องใช้งบประมาณมากขึ้น

คาดการณ์ปีเปิดให้บริการจะมีผู้โดยสาร 78,348 คนต่อปี จนถึงปี 80 ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 94,920 คนต่อปี ตารางการบินที่สอดคล้องกับคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารคือ ใช้เครื่องบิน 180 ที่นั่ง (แอร์บัส A320 และโบอิ้ง B737) ให้บริการวันเว้นวัน สลับกับใช้เครื่องบิน 70 ที่นั่ง (ATR) จากนั้นจึงเพิ่มเป็นใช้เครื่องบิน 180 ที่นั่ง ให้บริการทุกวัน 

สำหรับอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินอล) ท่าอากาศยานพะเยา  ประชาชนในพื้นที่เสนอให้นำอัตลักษณ์ของ จ.พะเยา ที่มีสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มาประกอบการออกแบบด้วย

ปัจจุบัน ทย. มีท่าอากาศยานในสังกัด 29 แห่ง ท่าอากาศยานเบตง เป็นน้องใหม่ล่าสุด นอกจากท่าอากาศยานพะเยาแล้ว ทย. ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่อีก 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานนครปฐม, ท่าอากาศยานบึงกาฬ, ท่าอากาศยานมุกดาหาร, ท่าอากาศยานกาฬสินธุ์, ท่าอากาศยานพัทลุง และท่าอากาศยานสตูล 

เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง