มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ในปีนี้เป็นครั้งที่ 24 โดยเหล่าศิลปินมากความสามารถพร้อมที่จะสะกดทุกสัมผัสให้ตราตรึง โดยมหกรรมฯ ครั้งนี้มาพร้อมกับ 11 ชุดการแสดงนับแต่การแสดงคลาสสิกไปจนถึงการแสดงสมัยใหม่ที่น่าประทับใจ

อีกทั้งยังถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมหกรรมฯ ที่เปิดโอกาสให้ ศิลปินเยาวชนได้ร่วมแสดงบนเวทีเดียวกันกับศิลปินระดับตำนาน ภายใต้โครงการเพื่อเยาวชน (Student Outreach Program) ด้วยการจัดให้มีการแสดงและมาสเตอร์คลาสจากศิลปินชื่อดังที่ได้รับเชิญมาร่วมมหกรรมฯ โดยมีความหวังว่าการสร้างการมีส่วนร่วมและความซาบซึ้งในดนตรี นาฏศิลป์ การละคร และศิลปะแขนงอื่น ๆ จากหลากหลายวัฒนธรรม สังคม และประเพณีจะช่วยหล่อหลอมคนรุ่นใหม่ให้สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และส่งต่อแรงบันดาลใจ

มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ เตรียมเปิดม่านขึ้นในระหว่างวันที่ 7 กันยายน ถึง 18 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยครั้งนี้เปิดประเดิมด้วยการแสดงชุดแรก โดย ซูเปอร์สตาร์เสียงเมซโซโซปราโน แคทเธอรีน เจนกินส์ ร่วมกับ วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ หรือ Royal Bangkok Symphony Orchestra ภายใต้การควบคุมวงของ แอนโทนี่ อิงกลิช วาทยกรผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่

ต่อด้วยการแสดงบัลเลต์เรื่อง สวอนเลค จาก คณะบัลเลต์สตานิสลาฟสกี ซึ่งก่อตั้งมาแล้วเกือบ 100 ปี เป็นที่รู้จักในด้านการใส่ใจตีความบุคลิกของตัวละครหลัก รวมถึงรายละเอียดความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเหล่านั้น รังสรรค์งานแสดงออกมา ราวกับเป็นชิ้นงานศิลปะแบบองค์รวมที่ให้ความสำคัญทั้งการเต้น การแสดงละคร และดนตรี โดยนักออกแบบท่าเต้น วลาดิเมียร์ เบอร์ไมสเตอร์ ที่ได้ตีความเพลงของสวอนเลค ออกมาให้มีลักษณะเบา ไพเราะ และสมจริงเป็นเอกลักษณ์ของคณะฯ นับตั้งแต่เปิดแสดงครั้งแรกในปี 1953 และยังมีชื่อเสียงในด้านการนำบทประพันธ์ครบทุกองค์ของไชคอฟสกีมาใช้

รวมถึงบทนำ บทส่งท้าย พายุ (The storm) การอำลาของเหล่าหงส์ (The farewell dance of the swans) และอีกมากมาย ซึ่งทำให้การแสดงนี้กลายเป็นการแสดงบัลเลต์สวอนเลคฉบับสมบูรณ์แบบ สมจริง และได้รับคำยกย่องจากนักวิจารณ์จำนวนมากว่าเป็นสวอนเลคที่ดีที่สุดในโลก

การแสดงจากนักเปียโนชาวโครเอเชีย แมกซิม มิรวิก้า หนึ่งในนักเปียโนไอคอนระดับโลกสายคลาสสิกผสานดนตรีแนวใหม่ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยรางวัล MTV Award รางวัลดับเบิลแพลทินัมอัลบั้ม และรางวัลอื่น ๆ มากมาย แมกซิมทลายขอบเขตแนวดนตรี ตั้งแต่ดนตรีคลาสสิกและดนตรีประกอบภาพยนตร์ ไปจนถึงป๊อปและอิเล็กทรอนิกส์ แมกซิมได้รับเชิญไปแสดงรอบโลกไม่ว่าจะเป็น การแสดงร่วมกับวงมอสโก ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา ไปจนถึงการเปิดการแสดงที่ซิดนีย์โอเปร่าเฮาส์ ฯลฯ

การแสดงจาก คณะแทงโก้ วีว่า ในโชว์ชุด Everything is Tango ที่ได้ทำการแสดงกว่า 50 ประเทศและต่อหน้าบุคคลสำคัญมากมาย แทงโก้ วีว่า เป็นคณะเต้นรำจากบัวโนสไอเรส ที่ได้รับการยกย่องทางวัฒนธรรม จากกระทรวงวัฒนธรรมอาร์เจนตินา ผู้กำกับศิลป์ของคณะได้รับเชิญจากรัฐบาลอาร์เจนตินา ให้จัดมาสเตอร์คลาสให้กับนักเต้นมืออาชีพที่ World Tango Championship ในปี 2017 โดยเน้นดนตรีจังหวะคลาสสิกแทงโก้เป็นหลัก แต่ยังรวมถึงแนวเพลงอื่น ๆ เช่น Swan Lake ของ Tchaikovsky และเพลง Love of My Life ของ Queen เรียบเรียงโดยผู้อำนวยเพลงประจำคณะ ซึ่งเป็นนักดนตรีที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งของอาร์เจนตินา และอยู่เบื้องหลังเพลงประกอบภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงหลากหลายเรื่อง รวมถึงเรื่อง Evita ที่นำแสดงโดยมาดอนน่า

อีกชุดการแสดงที่พลาดไม่ได้ การแสดงจาก คณะโทเดส ด้วยพื้นฐานการเต้นเบรกแดนซ์และการเป็นทีมแบ๊กอัพให้กับป๊อปสตาร์ คณะโทเดส ได้ผสมผสานบัลเลต์และโอเปร่าคลาสสิกเข้าด้วยกันเพื่อสร้างรูปแบบการเต้นร่วมสมัยที่ฉีกกฎเกณฑ์ทั้งหมดของการเต้นร่วมสมัย

การเต้นที่ผสานกายกรรมนี้เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของศิลปินอัลลา ดูโควา ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ผู้กำกับศิลป์ และหัวหน้านักออกแบบท่าเต้น และบ่อเกิดของแรงบันดาลใจที่ไม่สิ้นสุดในโลกแห่งการเต้นรำ การแสดงที่จะมาแสดงที่กรุงเทพฯ ชื่อว่า Attention ซึ่งจะเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการออกแบบท่าเต้นสมัยใหม่ การเดินทางที่น่าตื่นเต้นผ่านความกว้างใหญ่ของจิตวิญญาณมนุษย์ สำรวจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างหญิงชาย ความลุ่มหลงที่ร้อนแรง และความสุขที่ไร้ขอบเขต

วง เท็น เทเนอร์ส ที่กลับมาอีกครั้งด้วยชุดการแสดงอันยิ่งใหญ่ผสมผสานดนตรีร็อกเข้ากับดนตรีคลาสสิก จะมาร่ายมนตร์สะกดทุกสายตา การันตีด้วยอัลบั้มกว่า 15 ชุด รวมถึงรางวัลดับเบิลแพลทินัมอัลบั้มล่าสุดที่คว้ามาและการแสดงสดกว่า 4,000 ครั้ง นักร้องเสียงเทเนอร์ 10 คนพร้อมสร้างปรากฏการณ์สุดพิเศษ มาพร้อมกับนักดนตรีที่มีความสามารถหลากหลาย

ยังมีการแสดงเต้นจากคณะ เซลทิก เลเจนส์ ที่จะชวนให้ขยับตาม คณะ เซลทิก เลเจนส์ ถือกำเนิดขึ้นบริเวณเนินเขาคอนเนมาราของไอร์แลนด์ ในปี 2002 และทำการแสดงเต้นแท็ปแดนซ์ไปทั่วโลก โดยแสดงให้เห็นถึงพลังการเคลื่อนไหวและความรื่นเริงของวัฒนธรรมไอริชดั้งเดิม และดึงดูดผู้ชมให้รู้สึกเหมือนได้ไปเที่ยวชมเกาะเอเมรัลด์ ไอล์ โดยนักเต้นคว้าแชมป์โลกมาแล้วหลายครั้งและได้ออกทัวร์การแสดงต่าง ๆ ดนตรีและวัฒนธรรมการเต้นของชาวไอริชมีชีวิตชีวาขึ้นมาจากความไวของฝีเท้าและเพลงประกอบที่สนุกสนานจากคณะนักเต้นกลุ่มดีกรีรางวัล ซึ่งจะทำให้อยากลุกขึ้นมาเต้นไปพร้อมกัน

นอกจากนี้มีเซอร์ไพร้ส์จาก คณะบัลเลต์เปรลโจกาจ โดยมี แองเจลิน เปรลโจกาจ ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Officier des Arts et des Lettres และ Chevalier de la Leégion d’Honneur จากรัฐบาลฝรั่งเศส มาเป็นผู้ออกแบบท่าเต้นที่ทรงพลังและกระตุ้นความคิด บิดมุมมองของโลกในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ คณะบัลเลต์เปรลโจกาจ ได้ผสมผสานบทประพันธ์ชิ้นเอกของไชคอฟสกี กับการเรียบเรียงดนตรีแบบร่วมสมัย ออกมาเป็นตำนานสวอนเลคที่มีเอกลักษณ์ และเป็นการไว้อาลัยให้กับปรมาจารย์ด้านบัลเลต์ มาเรียส เปติปา ด้วย โดยได้ศิลปินกราฟิก บอริส แล็บเบ้ มือรางวัลเข้ามาออกแบบภาพเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มมิติให้แก่การแสดงอันวิจิตรงดงามของนักบัลเลต์ทั้ง 26 ชีวิตบนเวที

การแสดงยังไม่หมดเพียงเท่านี้สามารถจะเพิ่มรายละเอียดมหกรรมฯ ได้ทาง www.bangkokfestivals.com หรือ www.facebook.com/BangkokFestivals โดยการแสดง 3 ชุดสุดท้ายของมหกรรมฯ ในปีนี้ คณะบอลชอยแห่งกรุงเบลารุส จะมาถ่ายทอดวัฒนธรรมเบลารุส ผ่านท่วงท่าของนักบัลเลต์จำนวน 80 ชีวิต และยังมีการแสดงเรื่อง นัทแครกเกอร์ เรื่องราวดินแดนในฝันของเด็กหญิงในวันคริสต์มาส ต่อด้วยเรื่อง เชอเฮเรอสาด และ คาร์เมน สวีท ที่นับว่ามาคืนเดียวได้ชมถึง 2 เรื่อง ถือเป็นคํ่าคืนแห่งความบันเทิงอย่างแท้จริง

โดยเรื่องเชอเฮเรอสาดกำกับการแสดงโดยนักเต้นชื่อดังระดับโลกอย่าง อานดรีซ ลีเอปา ส่วน คาร์เมน สวีท ถือเป็นหนึ่งในบทเพลงที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรี และส่งท้ายมหกรรมฯ ด้วยการแสดงบัลเลต์เรื่อง เจ้าหญิงนิทรา สุดคลาสสิก ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความรักมีชัยเหนือความชั่วร้ายเป็นเรื่องราวที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่โปรดปราน ปิดม่านมหกรรมฯ ครั้งนี้ลงอย่างประทับใจ

ร่วมเฉลิมฉลองจิตวิญญาณของมนุษยชาติ สานต่องานสร้างสรรค์ และร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจ.