“ปางอุ๋ง” เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในโครงการพระราชดำริปางตอง 2 หลังจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการปรับปรุงสภาพป่าบริเวณรอบ ๆ ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2528 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลว มีพระราชเสาวนีย์ ณ เรือนประทับแรมปางตอง ทรงมีความห่วงใยในสภาพแวดล้อมของโลก กับปัญหาการขาดแคลนอาหาร ทรงเห็นว่าแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งนํ้า จึงมีพระราชประสงค์ให้มีการทำเกษตรกรรมในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแบบหลากหลายและให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้แม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งสะสมอาหารตามธรรมชาติ หรือ FOOD BANK ซึ่งมีอาหารหลากหลายทั้งพืชและสัตว์

ปัจจุบันปางอุ๋งนอกจากจะมีทัศนียภาพที่สวยงามจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตสุดแสนโรแมนติกติดอันดับต้น ๆ ของแม่ฮ่องสอนแล้ว ยังมีสวนปางอุ๋งใกล้ ๆ กับที่ทำการของโครงการพระราชดำริฯ ซึ่งปลูกพืชที่ให้ประโยชน์ทางด้านอาหารและยาแพทย์แผนไทย เช่น อโวคาโด พลับ สาลี่ บ๊วย รวมถึงการตกแต่งด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว เช่น กุหลาบ ไฮเดรนเยีย พวงแสด

ไม่ใช่เพียงแค่โครงการพระราชดำริปางตอง 2 เท่านั้น จากการที่ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่บ่อยครั้ง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขา มีความยากลำบากในการทำกิน จึงพระราชทานจัดตั้งโครงการพัฒนาตามพระราชดําริขึ้นมากมาย

อีกแห่งที่ไม่ไกลกันคือ “โครงการพระราชดำริ 3 (หมอกจำแป่-แม่สะงา)” โครงการพระราชดำริปางตอง 3 ที่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติและสายนํ้าต่างหลงใหลเพราะมีลำธารแม่สะงา ลำธารขนาดใหญ่ที่มีนํ้าใสสวยงามไหลผ่าน และร่มเงาจากต้นไผ่ยักษ์ มีร้านอาหารและระเบียงชมวิวติดลำนํ้า มีสะพานไม้ไผ่สำหรับข้ามลำธารไปชื่นชมธรรมชาติกลางสายนํ้าและยังมีลานกางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว ระหว่างทางที่เดินเข้าไปนักท่องเที่ยวยังจะได้เห็นวิวทิวทัศน์ของป่าเขา ทุ่งนาขั้นบันไดอันสวยงาม วิถีชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ และยังสามารถแวะเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียง เช่น นํ้าตกผาเสื่อหรือถํ้าปลาได้ด้วย

ขณะที่ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย” เป็นพื้นที่พัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผักตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย เช่น ระบบการเพาะปลูกที่ดี (GAP) มาตรฐานพืชอินทรีย์ของกาแฟสร้างรายได้ที่มั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่เกษตรกร เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรที่สูงแก่นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป ผลผลิตหลัก ได้แก่ เรดโครอล โอ๊คลีฟเขียว โอ๊คลีฟแดง ปวยเล้ง บีทรูท ขึ้นฉ่าย เบบี้คอส เบบี้ฮ่องเต้ พริกเม็กซิกันเผ็ด มะเขือม่วงก้านเขียว มะเขือม่วงก้านดำ และฟักทองญี่ปุ่น เคพกูสเบอร์รี เสาวรสหวาน อโวคาโด กาแฟอาราบิก้า ถั่วแดงหลวง ข้าวไร่ และข้าวนา

และด้วยความเมตตาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชเสาวนีย์ ส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนชาวไทยภูเขาที่กระจายตัวอยู่โดยรอบ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรและวิถีชีวิต อาทิ นาขั้นบันไดของบ้านดง ผ้าทอลายตวนของชาวลั๊วะ และหัตถกรรมเครื่องเงินหมู่บ้านละอูบ กาแฟอาราบิก้าคุณภาพดีและผ้าทอขนแกะห้วยห้อม จากหมู่บ้านห้วยห้อม

ส่วน “ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในพระบรมราชินูปถัมภ์” เป็นอีกหนึ่งโครงการในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่นี่เป็นสถานที่ฝึกอบรมและส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ ให้แก่ราษฎร ทั้งชาวไทยพื้นราบและชาวไทยภูเขา ทั้งยังเป็นศูนย์รวมของข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยในพื้นที่แม่ฮ่องสอน และเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้วย

ลงมาที่ลำปาง ณ พื้นที่รอยต่อ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.เมืองปาน และ อ.แจ้ห่ม เกิดปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2539 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรบ้านใหม่
พัฒนา หลังจากทรงทราบเรื่องจึงมีพระราชเสาวนีย์ แก้ปัญหาดังกล่าวจนเป็นที่มาของ “โครงการพระราชดำริฯ บ้านทุ่งจี้” ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรในพื้นที่เป้าหมายรอยต่อสามอำเภอ ทั้งเป็นศูนย์ประสานงานการอนุรักษ์ป่าต้นนํ้าแม่วัง โดยมีการก่อสร้างโรงฝึกอาชีพด้านเซรามิก นอกจากงานเครื่องปั้นดินเผาแล้วยังมีการส่งเสริมการแกะสลัก ทอผ้า ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และเลี้ยงผึ้งด้วย

ขณะที่ “โครงการพัฒนาบ้านแม่ตํ๋า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ตํ๋า)” เกิดขึ้นหลังจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน
ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ทรงรับทราบถึงความทุกข์ยากของราษฎร ทั้งยากจน มีอาชีพไม่แน่นอน และดำรงชีพด้วยการรับจ้างตัดไม้ จึงทรงเลือกที่ดินว่างเปล่าหน้าโรงเรียนแม่ตํ๋าและพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ศิลปาชีพขึ้น งานศิลปาชีพประเภทแรกที่เริ่มต้นขึ้นคืองานทอผ้าฝ้าย ก่อนจะตามมาด้วยเครื่องปั้นดินเผา ทั้งหมดก็เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพสุจริตไม่บุกรุกแผ้วถางป่า

เข้ามาใกล้กรุงเทพฯ ที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา สถาบันสิริกิติ์ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงาน “มหัศจรรย์งานศิลป์แผ่นดินไทย” (Miracle of the Arts of the Kingdom) ณ “พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเผยแพร่พระเกียรติคุณผู้ทรงเป็นแม่ของแผ่นดิน ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ เผยแพร่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นมรดกทางหัตถศิลป์และเป็น Soft Power of Thailand อันทรงคุณค่า อีกทั้งยังช่วยสร้างความภูมิใจให้แก่ช่างศิลป์และท้องถิ่น

งาน “มหัศจรรย์งานศิลป์แผ่นดินไทย” (Miracle of the Arts of the Kingdom) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สืบสานงานหัตถศิลป์ แผ่นดินสยาม” โดยนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยและความรุ่งเรืองของงานหัตถศิลป์ มรดกทางศิลปะของไทยในรูปแบบเรียบหรู งดงาม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสกับประสบการณ์และเรื่องราวความเป็นไทยอันงดงาม นำไปสู่แรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวแบบ Thai Royal & Local Experience ที่มีความหมายและคุณค่ามากยิ่งขึ้น ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ การแสดงโขนกลางแปลง การแสดงหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ ศิลปะการต่อสู้สำนักพุทไธสวรรย์ กิจกรรมสาธิตงานหัตถศิลป์ โดยช่างสถาบันสิริกิติ์

ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ผู้เข้าร่วมงานสามารถเข้าชมภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน และอาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และในวันที่ 13-14, 20-21 และ 27-28 สิงหาคม 2565 สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ โดยมีวิทยากรนำชม แบ่งเป็น 3 รอบเวลา พร้อมกันนี้ยังมีบริการรถบัสรับส่งฟรีสำหรับประชาชนทั่วไป เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และอาคาร ททท. สำนักงานใหญ่)-พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์การค้าเซ็นทรัลอยุธยา-พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fanpage : Thailand Festival

อธิชา ชื่นใจ