แม้ไม่มีจรวดพิสัยไกลเหมือนกับกลุ่ม “ฮามาส” ซึ่งปกครองฉนวนกาซามานานกว่า 1 ทศวรรษ แต่พีไอเจมีคลังแสงสำคัญที่เต็มไปด้วยยุทโธปกรณ์ขนาดเล็ก, ปืนครก, จรวด, ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง และกลุ่มติดอาวุธที่เรียกว่า “กองพันอัล-คุดส์”

“อิสลามิก จีฮัด เป็นที่รู้จักจากการต่อต้านกระบวนการสันติภาพ และแนวทางเจรจาต่อรองกับอิสราเอล มันใช้การต่อสู้ด้วยอาวุธต่อการยึดครองของอิสราเอล เช่นเดียวกับกลุ่มฮามาส อีกทั้งยังเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดอย่างมากกับอิหร่าน และด้วยความเชื่อมโยงกับอิหร่านนี้เอง พวกเราจึงเห็นว่ามันเป็นสาเหตุหนึ่งของการโจมตีของอิสราเอล” นายอิบราฮิม ฟรายฮัต จากสถาบันโดฮา กล่าว

ปาเลสไตน์ อิสลามิก จีฮัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 โดยกลุ่มนักศึกษาชาวปาเลสไตน์ในอียิปต์ มีเป้าหมายเพื่อการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์, ฉนวนกาซา และพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งเป็นดินแดนของอิสราเอลในปัจจุบัน โดยกลุ่มพีไอเจมีขนาดเล็กกว่าอีกสองกลุ่มหลักปาเลสไตน์ ที่อยู่ในฉนวนกาซา และมีจำนวนสมาชิกน้อยกว่ากลุ่มฮามาสอย่างมาก

Al Jazeera English

“ถึงเป็นกลุ่มติดอาวุธขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ปาเลสไตน์ อิสลามิก จีฮัด ก็มีประสิทธิภาพและการจัดการที่ดีมาก รวมถึงการมีระเบียบที่เข้มแข็งภายในกลุ่มด้วย” ฟรายฮัต กล่าว “แม้เป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็ก แต่ก็มีส่วนร่วมในการเผชิญหน้ากับอิสราเอลทุกครั้ง”

ทั้งกลุ่มฮามาสและพีไอเจต่างถูกระบุว่าเป็น “องค์กรก่อการร้าย” โดยรัฐบาลตะวันตก ขณะที่ทั้งสองกลุ่มมีสายพันธุ์อันดีกับอิหร่าน แต่สิ่งที่แตกต่างจากกลุ่มฮามาสคือ พีไอเจปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกระบวนการเลือกตั้ง และดูเหมือนว่าจะไม่มีความทะเยอทะยาน ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อปกครองฉนวนกาซา หรือเขตเวสต์แบงก์แต่อย่างใด

แม้พีไอเจได้รับความสนับสนุนหลายด้านจากอิหร่าน แต่อาวุธส่วนมากที่พีไอเจใช้ เป็นการผลิตขึ้นเองภายในท้องถิ่น ขณะที่กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน (ไออาร์จีซี) กล่าวว่า ชาวปาเลสไตน์ “ไม่ได้อยู่เพียงลำพัง” ในการต่อสู้ของพวกเขากับอิสราเอล ขณะที่พล.ท.เบนนี กันต์ซ รมว.กลาโหมอิสราเอล ขู่ว่าจะพุ่งเป้าไปที่บรรดาผู้นำของพีไอจีที่กบดานอยู่ในต่างประเทศ

ด้านฟรายฮัตบรรยายถึง “สงครามในเจนิน” หมายถึงเมืองเจนิน ในเขตเวสต์แบงก์ ตลอดช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาว่า พีไอเจยุยงให้มีการจู่โจมภายในอิสราเอล และกองกำลังของอิสราเอลเข้าโจมตีเมือง ตามมาด้วยการจับกุมและสังหารสมาชิกหลายคนของกลุ่ม

“ในเขตเวสต์แบงก์มีสมาชิกพีไอเจเหมือนในฉนวนกาซา แต่มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องขนาด แต่เป็นเพราะอิทธิพล ประสิทธิภาพ และความสามารถการสู้รบทางทหารในการเผชิญหน้ากับอิสราเอล และด้วยเหตุผลนั้น อิสราเอลจึงพยายามจับกุมผู้นำของกลุ่มในเขตเวสต์แบงก์ และเพื่อควบคุมการกระทำใด ๆ ของกลุ่มพีไอเจ ที่อาจบานปลายได้” เขากล่าว

ทั้งนี้ทั้งนั้น นายไซอัด อัล-นาคาลา ผู้นำกลุ่มพีไอเจ ให้คำมั่นว่าจะแก้แค้นอิสราเอลสำหรับการโจมตีทางกาศอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้น รวมถึงการเล็งโจมตีไปที่กรุงเทลอาวีฟ และเมืองอื่น ๆ อีกด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS