ได้เวลาลุยก่อสร้างต่อแล้ว สำหรับโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ขนาด 6 ช่องจราจร ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) หลังหยุดก่อสร้างชั่วคราวเพื่อสแกนการทำงานเพิ่มมาตรการความปลอดภัยตามคำสั่งอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะเป็นอีกโครงการที่ใช้พื้นที่ก่อสร้างบนทางหลวงหมายเลข 35 หรือ ถนนพระราม 2 ที่เกิดเหตุสลดคานสะพานถล่มทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 2 ราย

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. บอกว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการฯ รวม 5 สัญญาซึ่งได้ผลงานก่อสร้างรวม 33.46% เร็วกว่าแผนงานที่กำหนด 5.14% ได้กำชับให้กวดขันตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และรัดกุมทุกขั้นตอน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุแก่ประชาชนที่สัญจรบริเวณถนนพระราม 2 โดยมีพื้นที่ก่อสร้างในจุดอื่นๆ รวมถึงต้องปิดเกาะกลางถนนพระราม 2 เป็นพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด 6 จุดนาน 1 ปี-1 ปีครึ่ง ยาวไปถึงเดือน ต.ค. ปี 67

นับจากนี้ กทพ.จะเร่งโครงการ จึงจำเป็นต้องปิดการจราจรหลายจุด อาจทำให้ผู้สัญจรไม่ได้รับความสะดวก และการจราจรหนาแน่นกว่าปกติ กทพ. ต้องขออภัย และหวังว่าประชาชนที่ใช้ถนนพระราม 2 จะเข้าใจในความมุ่งมั่นดำเนินโครงการทางด่วนสายใหม่ ที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ กับพื้นที่ปริมณฑลด้านตะวันตก เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางของทุกคนในอนาคต โดยคาดว่าจะเปิดบริการทั้งโครงการได้ในปี 67

ยืนยันว่าที่ผ่านมา กทพ. ก่อสร้างโครงการฯด้วยมาตรการความปลอดภัย มีวิธี และขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างนับรวมการทำงานได้ 6,616,568 ชั่วโมง จนปัจจุบันยังไม่เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต ถือได้ว่าเป็น Zero Fatalities” ผู้ว่าการ กทพ. กล่าว

ลงรายละเอียดสัญญาที่ 1 งานสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 กม.13+000 ถึง กม.6+600 ระยะทาง 6.4 กม. ได้ผลงานกว่า 3.64%

สัญญาที่ 2 งานสร้างทางยกระดับจากเซ็นทรัลพระราม 2-รพ.บางปะกอก 9 กม.6+600 ถึงทางแยกต่างระดับดาวคะนอง 5.3 กม. ได้ผลงานกว่า 43.94%

สัญญาที่ 3 งานสร้างทางยกระดับจาก รพ.บางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง คร่อมตามแนวทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ช่วงดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ 5 กม. ได้ผลงานกว่า 3.18%

สัญญาที่ 4 งานสร้างสะพานขึงคู่ขนานสะพานพระราม 9 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้ผลงาน 77.16% เร็วกว่าแผน 12.28%

จากการเจรจากับผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 เบื้องต้นรับจะเร่งรัดงานก่อสร้างทางขึ้น-ลง บริเวณถนนสุขสวัสดิ์ให้แล้วเสร็จภายในปี 66 เพื่อเปิดใช้สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 และทำให้รถยนต์ขึ้นลงถนนสุขสวัสดิ์ได้ จะช่วยแบ่งเบาปริมาณการจราจรของรถยนต์เข้า-ออกเมืองที่จะใช้สะพานพระราม 9 เดิมระหว่างที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จทั้งโครงการ

ส่วนสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร วงเงินประมาณ 800 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนเตรียมประกวดราคา คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลภายในเดือน ต.ค.-พ.ย.65 เริ่มงานปลายปี ใช้เวลา24 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 67 มีความล่าช้าเนื่องจากต้องใช้เวลาปรับปรุงร่างขอบเขตงานให้เป็นระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ช่วยระบายการจราจรหน้าด่านฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับระบบจัดเก็บค่าผ่านทางของโครงการทางยกระดับบนถนนพระราม 2 (มอเตอร์เวย์ M82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว) ของกรมทางหลวง

ผู้ว่าการ กทพ. บอกด้วยว่า ได้ขอพระราชทานชื่อสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เพื่อเทิดพระเกียรติหระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ กทพ. ตลอดจนเป็นความภูมิใจของประชาชน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ ช่วยระบายการจราจรที่ติดขัดสะสม ลดปริมาณรถจากสะพานพระราม 9 เพื่อเดินทางไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างสะดวกมากขึ้น

ความพิเศษของสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 (ฝั่งธนบุรี) ก่อสร้างเป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 8 ช่อ

ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในไทย มีความยาวช่วงกลางสะพาน (Mid Span) 450 เมตร และมีความยาวของสะพาน 780 เมตร ข้ามไปฝั่งกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ต่อกับทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนศรีรัช (ด่วน 2) ระยะทางรวมประมาณ 2 กม.

กทพ.ได้จัดทำแบบจำลองสะพาน Full Model สำหรับทดสอบความแข็งแรงของสะพานต่อแรงลม สามารถรับแรงลมได้ถึง 270 กม.ต่อชม.หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด สะพานจึงมีความมั่นคงแข็งแรงเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงได้ออกแบบสะพานให้มีความลาดชันน้อยกว่าสะพานพระราม 9 ที่เริ่มยกระดับจากพื้นดินขึ้นไป หากแต่สะพานใหม่จะเริ่มยกระดับจากระดับชั้นที่ 2 ซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 10 เมตร ทำให้วิ่งขึ้นและลงสะพานได้สะดวกมากขึ้น ไม่ชะลอตัวสะสมช่วงขึ้นสะพาน

ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ยังเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ M82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว แบบไร้รอยต่อ ยิ่งเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง แต่ระหว่างที่ยังสร้างไม่เสร็จ ผู้ใช้รถใช้ถนนพระราม 2 ต้องเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติทั้งรถติดและความเสี่ยงจากการก่อสร้าง 2 โครงการใหญ่ยักษ์บนถนนพระราม 2

ทั้งกรมทางหลวงและ กทพ.เจ้าของโครงการ ต้องสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยขั้นสูงสุดให้ประชาชน

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง