ความงดงาม ความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น ยังส่งต่อการสังเกต การค้นคว้า การเสาะแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุมีผล อีกทั้งการบันทึกถ่ายภาพ “ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ยังเป็นสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความเข้าใจที่เข้าถึงได้ง่าย

ภาพถ่ายดาราศาสตร์ยังฝากเรื่องน่ารู้ไว้อีกหลากหลายมิติ ทั้งนี้พาชมมุมมองการถ่ายภาพ ชมภาพถ่ายดาราศาสตร์รางวัลจากการประกวด “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ประจำปี 2565 โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเปิดพื้นที่ต่อเนื่องให้กับนักดาราศาสตร์สมัครเล่น และผู้รักการถ่ายภาพ ได้ส่งภาพถ่ายดาราศาสตร์เข้าประกวด โดยที่ผ่านมาได้เผยโฉม สุดยอดภาพถ่ายดาราศาสตร์แห่งปี

ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. ในนามคณะกรรมการจัดการประกวด ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เล่าถึงภาพถ่าย 5 ประเภทในการประกวด ซึ่งได้แก่ ภาพถ่ายวัตถุในห้วงอวกาศลึก ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ วัตถุในระบบสุริยะ วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ และปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ทั้งให้มุมมอง เล่าถึงผลงานมหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ปีนี้ว่า จากการจัดประกวดต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 การถ่ายภาพยังคงได้รับความสนใจ โดยปีนี้มีผลงานรวมทุกประเภทกว่าห้าร้อยภาพ

“แต่ละประเภทมีความน่าสนใจ สวยงามมหัศจรรย์ ผู้ถ่ายภาพมีมุมมอง มีความเข้าใจทางด้านดาราศาสตร์ ทั้งมีทักษะการถ่ายภาพ การประมวลผลภาพ โดยที่สำคัญคือความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์และวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งภาพถ่ายที่ต้องการ โดยภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลทั้งหมด สดร. จะนำไปต่อยอดผลิตเป็นสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ เผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ”

ส่วนการถ่ายภาพในแต่ละประเภท ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ ศุภฤกษ์ อธิบายว่า ประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects) ประเภทนี้มีความน่าสนใจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ เวลาการถ่ายภาพ ฯลฯ โดยบางท่านใช้เวลาบันทึกภาพหลายสิบชั่วโมงกว่าจะได้ภาพที่ต้องการ ใช้ความพยายามในการถ่ายภาพ

“การถ่ายภาพในประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก เป็นการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า อย่างเช่น กาแล็กซี เนบิวลา หรือกระจุกดาว ฯลฯ การถ่ายภาพประเภทนี้ มีความท้าทายผู้ถ่ายภาพหลายด้านไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง สภาพอากาศ หรือแม้แต่โชค ช่วงจังหวะเวลาถ่ายภาพก็เป็นตัวแปรสำคัญเช่นกัน อย่างเช่น คํ่าคืนนั้น ๆ แม้ไม่มีแสงจันทร์รบกวน แต่ถ้ามีฝนตก สภาพอากาศไม่เป็นใจ ก็ไม่สามารถถ่ายภาพได้ ฯลฯ”

แต่อย่างไรก็ตามเสน่ห์ของภาพประเภทนี้คือ ภาพวัตถุที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่การถ่ายภาพด้วยเทคนิคและอุปกรณ์ที่มีความสามารถจะเผยให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ของวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ไกลมาก ๆ ได้เก็บภาพอันน่ามหัศจรรย์ที่อยู่ในห้วงอวกาศลึก นอกจากนี้ภาพที่ได้ ยังนำองค์ความรู้ นำเรื่องราวของวัตถุที่อยู่นอกโลกกลับมา

สำหรับปีนี้ภาพ Vela Supernova Remnant โดย รัตถชล อ่างมณี ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยอธิบาย “เศษซากของซูเปอร์โนวาในกลุ่มดาวเวลา (Vela Supernova Remnant) เกิดจากการระเบิดของซูเปอร์โนวาเมื่อ 11,000-12,300 ปี มีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าที่ใหญ่มาก การระเบิดได้ผลักดันฝุ่น และก๊าซออกมาเป็นจำนวนมาก บริเวณนี้จึงเต็มไปด้วยโครงสร้างสลับซับซ้อนมีความสวยงามมาก ใช้เวลาบันทึกภาพประมาณ 50 ชั่วโมง บันทึกภาพในย่าน ไฮโดรเจนอัลฟา (Ha) ดับเบิลไอออไนซ์ออกซิเจน (OIII)”

ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ภาพในกลุ่มนี้จะได้เห็น ปรากฏการณ์ฝนดาวตก สุริยุปราคาบางส่วน จันทรุปราคา ฯลฯ โดยผู้สนใจถ่ายภาพประเภทนี้จะติดตามข่าวสารหรือปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในรอบปี นำเสนอปรากฏการณ์ หรือเสนอภาพที่เป็นไฮไลต์

ผู้ถ่ายภาพต้องมีความแม่นยำในเรื่องเวลา และสถานที่ถ่ายภาพ ทั้งนี้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้ จะต้องไปในวัน เวลานั้น ๆ และแต่ละปรากฏการณ์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งซึ่งถือเป็นความพิเศษของภาพกลุ่มนี้ ในการประกวดฯ ภาพ Night of Geminids โดย วชิระ โธมัส ได้รับรางวัลชนะเลิศจากภาพอธิบาย ในปี 2563 นับว่าเป็นปีทองของฝนดาวตกเจมินิดส์ เนื่องจากเป็นปีที่มีอัตราการตกค่อนข้างมาก และยังเป็นคํ่าคืนที่ไร้แสงจันทร์รบกวน

บันทึกภาพบริเวณดอยแม่โถ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นดอยที่มีสภาพอากาศแห้ง โปร่ง จึงไม่เกิดนํ้าค้างในเวลากลางคืน ทำให้สามารถเก็บภาพฝนดาวตกได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ใช้เวลารวมประมาณ 8 ชั่วโมง เป็นปีที่สามารถเก็บดาวตกมาเป็นจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา และสังเกตเห็นจุดศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกเจมินิดส์ที่ปรากฏในบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ได้อย่างชัดเจน”

ประเภท วัตถุในระบบสุริยะ ไม่ว่าจะเป็น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวหาง หรือดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ฯลฯ ภาพประเภทนี้อาจดูเหมือนถ่ายได้ง่าย แต่ไม่เป็นเช่นนั้นการถ่ายภาพมีความยากที่ไม่ต่างจากการถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึก ซึ่งปีนี้ภาพรางวัลชนะเลิศได้แก่ “Leonard Christmas Tails” โดย วชิระ โธมัส โดยอธิบายว่า “ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 ดาวหาง C/2021 A1 Leonard โคจรมาใกล้โลกจนสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า และสามารถบันทึกภาพได้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ขณะที่ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นก็เกิดการปะทุ ทำให้หางฝุ่นแตกกระจายออกมา และมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน

ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม ก็เกิดการปะทุอีกครั้งหนึ่งเป็นการปะทุที่ทำให้เกิดหางฝุ่นที่ยาวมาก บันทึกภาพตั้งแต่วันที่ 21-25 ธันวาคม เพื่อ แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของหางหลังจากเกิดการปะทุขึ้น ในช่วงใกล้วันคริสต์มาส สถานที่ถ่ายภาพอยู่บริเวณอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ในสภาพท้องฟ้าที่มืด และโปร่งใส ใช้วิธีบันทึกภาพดาวหางทุกวัน วันละประมาณ 20-45 นาที”

ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ ภาพกลุ่มนี้ได้รับความนิยมมาโดยตลอด ในผลงานภาพถ่ายจะเห็น ดาร์กสกาย พื้นที่เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดสถานที่ต่าง ๆ การถ่ายภาพประเภทนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์ อนุรักษ์ท้องฟ้ามืด โดยภาพที่ได้ชมมีทั้ง กลุ่มดาว ทางช้างเผือก ภาพที่เกี่ยวกับเรื่องแสงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างเช่น แสงจักรราศี ฯลฯ โดยภาพที่ป๊อปปูลาร์ในทุกปีคือ ภาพทางช้างเผือกกับวิวธรรมชาติ

“ปีนี้ภาพชนะเลิศคือ Yellowstone Hot Spring” โดย วิศณุ บุญรอด ซึ่งอธิบายไว้ว่า “อุทยานแห่งชาติ Yellowstone ในรัฐ Montana สหรัฐอเมริกา มีบ่อนํ้าพุร้อนมากมาย เนื่องมาจากเป็นบริเวณที่มีลักษณะเป็นภูเขาไฟที่ยังคงตื่นตัวอยู่ ด้วยความห่างไกลจากเมืองใหญ่ และอยู่สูงจากระดับนํ้าทะเลมากกว่า 2,400 เมตร ทำให้ท้องฟ้ายามคํ่าคืน สามารถสังเกตเห็นดวงดาว และทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน

บ่อนํ้าร้อนที่อยู่ในภาพคือ บ่อนํ้าร้อน Black Pool ตอนกลางวันจะเห็นนํ้าร้อนในบ่อเป็นสีฟ้าสดใส เนื่องจากความร้อนในบ่อที่มีนํ้าร้อนประกอบกับยามคํ่าคืนอุณหภูมิจะลดตํ่าลงอย่างมาก ทำให้บ่อนํ้าร้อนที่ปะทะกับอากาศเย็นปล่อยไอนํ้าออกมาในปริมาณมากและต่อเนื่อง การถ่ายภาพต้องถ่ายภาพต่อเนื่องหลาย ๆ ภาพ จากนั้นมาเลือกใบที่มีไอนํ้าบดบังน้อยที่สุด นำภาพเหล่านั้นไปใช้เทคนิค Median stacking เพื่อลดนอยส์และลดไอนํ้าที่บดบัง”

อีกหนึ่งประเภท ปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก อย่างเช่น พระจันทร์ทรงกลด รุ้งกินนํ้า ฟ้าผ่า หรือแม้กระทั่งการเกิดเมฆสี ฯลฯ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนชั้นบรรยากาศ การถ่ายภาพประเภทนี้เป็นอีกประเภทที่มีความท้าทายซ่อนอยู่ โดยภาพชนะเลิศของปีนี้คือ “2565 6 14 ปัญจสุริยา” โดย ไกรสร ไชยทอง อธิบายไว้ว่า “ภาพที่ดูเหมือนดวงอาทิตย์ 5 ดวงนี้คือ อาทิตย์ทรงกลดแบบซับซ้อน (Complex sun halos) บันทึกไว้เมื่อ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา บริเวณ อ.เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ

ในสภาพท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศโลกที่หาชมยาก การทรงกลดนี้เกิดจากการที่แสงอาทิตย์เกิดการหักเห หรือสะท้อน โดยผลึกนํ้าแข็งที่อยู่ในเมฆระดับสูงที่เรียกว่า ซีร์โรสเตรตัส (ข้อมูล ​: บัญชา ธนบุญสมบัติ) เป็นอีกส่วนหนึ่ง
ของภาพถ่าย สุดยอดมหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในปีนี้

ภาพที่สื่อความหมาย สร้างการเรียนรู้ การค้นคว้า สร้างความเข้าใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลที่อธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์….

บอกเล่าความงามดวงดาว ปรากฏการณ์ท้องฟ้าอันน่ามหัศจรรย์.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ