โดยที่กรณีนี้ก็มีทั้งฝั่งที่เห็นใจคุณยายและฝั่งที่เข้าใจร่างทรง รวมถึงมีอีกไม่น้อยที่อดจะรู้สึกขำ ๆ กับศึกนี้ไม่ได้ ขณะที่อีกกรณีหนึ่งที่มีกระแสเมื่อเร็ว ๆ นี้เช่นกัน…คือโลกโซเชียลได้มีการโพสต์แชร์เกี่ยวกับ “ร่างทรงที่พูดเป็นโคลงกลอน” ที่ทำให้หลายคนรู้สึก “อึ้ง-ทึ่ง” กับ “มิติยุคใหม่ในสไตล์วินเทจ”

ทั้งนี้ แม้ยุคนี้จะมีผู้คนเป็น “สายมู” สันทัดกรณี “มูเตลู” ด้วยตนเองกันมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ “มุมความเชื่อ” เรื่อง “ทรง” นี่ก็ยังคงมีอยู่ทั่วไปในไทย และที่ผ่านมาก็มีกระแสฮือฮา-อื้ออึงอยู่เนือง ๆ อย่างกรณี “ร่างทรงมนุษย์ต่างดาว” ขณะที่บ่อยครั้งที่มีกระแส “ร่างทรงต้มตุ๋น” ที่มุ่งหาเหยื่อ “หลอกลวงเอาผลประโยชน์” ซึ่งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่เป็นระยะ ๆ แต่ทั้งกรณี “เหลือเชื่อ??” และกรณี “เหยื่อความเชื่อ!!” นี่ก็มิอาจลบล้าง “ความเชื่อเรื่องทรง”  ได้ จนถึงยุคดิจิทัล 5G…

ก็ “ยังไม่สูญหายไปจากสังคมไทย”…

แถม “ยิ่งมีพัฒนาการหลากหลายขึ้น!!”

อนึ่ง กับ “ปรากฏการณ์ร่างทรง” นั้น ทางวิชาการก็สนใจ ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มมานำเสนอต่ออีกครั้ง… โดยมีการ “ศึกษาวิจัยร่างทรง” อีกปรากฏการณ์ “ความเชื่อในสังคมไทย” ซึ่งหนึ่งในงานวิชาการคืองานศึกษาวิจัยโดย อาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ศึกษาเรื่องนี้ไว้เมื่อปี 2538 ซึ่งก็ยังเป็นข้อมูลทางวิชาการที่ช่วยสะท้อนให้สังคมไทยคนไทยได้เห็นถึง “มุมความเชื่อ” เรื่องนี้…ที่ก็ “มีพัฒนาการ-มีวิวัฒนาการ”…

งานวิชาการ-การศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ ชื่อโครงการ “ทรงเจ้าเข้าผี : วาทกรรมของลัทธิพิธีและวิกฤติการณ์ของความทันสมัยในสังคมไทย” โดยมีการเก็บข้อมูลจาก “ร่างทรง-คนทรง” ในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทย เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระบุรี นครสวรรค์ และรวมถึงในพื้นที่กรุงเทพฯ… ทั้งนี้ ในรายงานวิจัยนี้มีการนำเสนอไว้ว่า…ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ “ไสยศาสตร์” และกระแส “พุทธพาณิชย์” ในสังคมไทยสมัยใหม่ โดยการทรงเจ้าเข้าผีเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม และ ได้รับการปรับเปลี่ยน ถูกนำเสนอผ่านความหมายใหม่ ๆ เพิ่มเติม…เพื่อให้สอดคล้องวิถีของสังคมในเมือง

ข้อมูลในรายงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ได้สะท้อนไว้อีกว่า… “ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผี” เป็นพิธีกรรมที่ยึดโยงความเชื่อเกี่ยวกับ “วิญญาณ” และอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติของ “องค์เทพ” มาเป็นศูนย์กลาง ซึ่ง “การติดต่อสื่อสาร” ระหว่างองค์เทพกับมนุษย์นั้นจะติดต่อ “ผ่านทางร่างมนุษย์ที่ถูกเลือก” ที่มีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น… ร่างทรง, คนทรง, สังขาร และในรายงานนี้ก็มีการวิเคราะห์และนำเสนอไว้หลายประเด็น รวมถึง “ความนิยม-ความแพร่หลาย” เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องนี้ ซึ่งพบว่า…ปัจจุบันไม่เพียงในพื้นที่ชนบทที่มีเรื่องนี้อยู่ทั่วไป ในสังคมเมืองนั้นความเชื่อเรื่องนี้ก็แพร่หลายมาก ไม่แพ้กันเลย…

นอกจากนั้นผลศึกษายังพบว่า.. “องค์เทพ” ในลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผีนี้มีที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่… องค์เทพในคติของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู, องค์เทพและเจ้าในคติของศาสนาพุทธนิกายมหายานและศาสนาขงจื๊อของจีน, พระสงฆ์หรือเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง, บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย ฯลฯ และก็ยังรวมถึง บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ด้วย โดยตามความเชื่อของลัทธิพิธีนี้ องค์เทพมีสถานะเป็นอากาศธาตุ หรือวิญญาณที่ปราศจากตัวตน ซึ่งการที่จะมาช่วยมนุษย์ได้ต้องใช้วิธีที่เรียกว่า “ประทับทรง” หรือ “เข้าทรง” เพื่อใช้อำนาจผ่านทางมนุษย์

ส่วน “กระบวนการเป็นร่างทรง” จุดนี้ก็ยังน่าพิจารณา อาทิ… ผู้ที่เป็นร่างทรงจะต้องมีองค์หรือเทพจับ ซึ่งหมายถึงการที่คนนั้น ๆ จะต้องรู้ตัวด้วย สัญญาณ อย่างหนึ่งอย่างใดว่ามีองค์เทพหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์แสดงความต้องการที่จะใช้ร่างกายหรือสังขารของคนนั้น ๆ โดยสัญญาณบ่งบอกก็มีหลายอย่าง เช่น… การเข้าฝัน การทายทักจากร่างทรงคนอื่น การละเมอขณะเจ็บป่วย การประสบอุบัติเหตุหรือโชคร้าย หรือการแสดงพฤติกรรมผิดปกติต่าง ๆ และรวมถึงยังอาจเกิดได้จาก การปฏิเสธหรือท้าทายอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งร่างทรงแต่ละคนก็อาจมีรูปแบบในประเด็นนี้ไม่เหมือนกัน

ในขณะที่ “ขั้นตอนการเข้าทรง” นั้น… เมื่อมีการประทับทรง ประทับร่างทรง หรือ “องค์ลง” ผู้ที่เป็น “ร่างทรง” ก็จะมี “สัญญาณ” ที่บ่งบอกว่าองค์เทพมาประทับร่างแล้ว ซึ่งกับจุดนี้ก็อาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่ มักจะมีลักษณะหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน คือ… อิริยาบถ ท่าทาง น้ำเสียง การใช้คำพูด ซึ่งจะเปลี่ยนไปจากตอนปกติก่อนที่องค์จะลง

ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้มีการเน้นไว้ว่า… มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจ “ลัทธิพิธีทรงเจ้าเข้าผี”  ในฐานะที่เป็น “ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง” ในสังคมไทย ที่ “ยืนยงอยู่คู่สังคมไทย-คนไทย” มานาน ซึ่งการศึกษานี้ไม่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ “ความจริงในความเชื่อ” …ขณะที่ความเชื่อเรื่องนี้ในฝ่าย “สำนักทรง-ร่างทรง” ดูเหมือนว่านับวันจะคล้าย ๆ กับมีการ “รีสกิล-อัพสกิลชวนอึ้ง!!” ขึ้นเรื่อย ๆจากยุคสู่ยุค ซึ่งใคร “เชื่อ-ไม่เชื่อ” ก็เป็น “สิทธิส่วนบุคคล”

ที่สำคัญคือ “เชื่อแล้วต้องไม่เดือดร้อน”

ต้อง “ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น”

และ “ระวัง!!…ทรงต้มตุ๋นก็อัพสกิล!!” .