“พยาบาลรับบทหนักมากกว่าแพทย์ พยาบาลใกล้ชิดคนไข้มากสุดนานสุดนับเป็น ชม. เพราะก่อนส่งไปให้ทีมแพทย์เราต้องสแกนอาการบาดเจ็บก่อนอยู่แล้ว ทำงานมา 30 ปีไม่เคยเจอเหตุการณ์หนักแบบนี้”  จันทร์ทิพย์ วราหไพฑูรย์ อดีตพยาบาลห้องฉุกเฉิน ระบบส่งต่อผู้ป่วย OPD เขตบริการสุขภาพที่ 3 รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ บอกเล่าผ่านเวทีคุยเรื่องถนนผ่านออนไลน์ โดย สสส. ผ่านแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ในหัวข้อ “โควิดยังไม่หาย ชนกันตายขออย่าแทรก” 

จันทร์ทิพย์ บอกว่า  อาสากลับมาช่วยงานที่ รพ.หลังจากเกษียณอายุงานไปแล้ว แต่ในช่วงโควิด-19 แพทย์และพยาบาลต้องทำงานหนัก เธอจึงต้องเข้ามาเสริมทัพ

แน่นอนพยาบาลและบุคลาการทางการแพทย์ที่ทำงานในแผนกฉุกเฉิน ทุกคนจะมีบุกคลิกเฉพาะคือตื่นตัวตลอดเวลา เมื่อเห็นคนไข้ประสบอุบัติเหตุทางถนนจะวิ่งถึงตัวทันที แต่ในภาวะโควิด-19 ต้องคิดเสมอว่าคนไข้เป็นผู้ป่วยโควิด ต้องทำงานภายใต้ชุดพีพีอีที่ร้อน และในกรณีคนไข้ที่เกิดอุบัติเหตุ ต้องปั๊มหัวใจ หรือ CPRในชุดที่ร้อนทำให้การทำงานไม่คล่องตัว

“เมื่อมีอุบัติเหตุทางถนนเท่ากับเวลาเพิ่มความเสี่ยงพิการ เสียชีวิต เพราะพยาบาลต้องใช้เวลาในการสวมชุดพีพีอีเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า  15-20 นาที ดีเลย์กว่าช่วงเวลาปกติ  ถ้าผู้ประสบอุบัติเหตุสมองขาดออกซิเจน 4 นาที มีผลทำให้พิการได้ หรือเสียเลือดมาก”

ตัวแทนพยาบาลในห้องฉุกเฉินอธิบายสภาพการณ์อุบัติเหตุที่พบเห็นในเวลานี้ จะเห็นว่าทุกนาทีคือความเป็นความตายในภาวะวิกฤติของโควิด-19 เป็นจุดเสี่ยงของชีวิตที่ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนขาดโอกาสที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ จ.นครสวรรค์ เป็นพื้นที่ต้นทางสู่ภาคเหนือ แม้ในช่วงการระบาดของโควิดอุบัติเหตุท้องถนนลดลง แต่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเพราะถนนโล่ง ใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ (จยย.) เกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับมากขึ้นในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และคนทำอาชีพเกษตรกรรม แต่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เคยเป็นสาเหตุต้นๆ ของอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงไป 

ฐิติมา แสนโชติ พยาบาลวิชาชีพชำนาญ รพ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ผู้ที่อยู่งานอุบัติเหตุมา 24 ปี บอกว่า ในช่วงโรคระบาด แม้จะทำให้อุบัติเหตุในภาพรวมลดลง 20% แต่กลับพบว่า “ความรุนแรง” ยังเท่าเดิม หรืออาจสูงขึ้นด้วยซ้ำ การขับขี่ที่ใช้ความเร็วสูง ในขณะที่กำลังบุคลากรห้องฉุกเฉิน ถูกแบ่งไปรับมือโควิด-19 ทำให้ภาระงานหนักมาก แม้แต่เวลาจะกินข้าวก็ยังไม่มี หลายคนเมื่อใส่ชุด PPE แล้ว จะเข้าห้องน้ำก็ลำบาก ต้องอั้นและเข้าห้องน้ำให้น้อยที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่พยาบาลห้องฉุกเฉินจะต้องเผชิญกับโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

พยาบาลวิชาชีพชำนาญ รพ.น้ำพอง เล่าว่า ท่ามกลางโรคระบาด เจ้าหน้าที่ต้องป้องกันตัวอย่างเข้มข้น ทำให้การเข้ารับเคสทำได้ช้าลง ไม่เฉพาะที่มาส่งยังหน้าห้องฉุกเฉินเท่านั้น ที่ต้องผ่านกระบวนการซักประวัติ และตรวจคัดกรองโควิดเบื้องต้น ทำให้กว่าผู้ป่วยจะได้รับการตรวจรักษาและทำหัตถการล่าช้ากว่าปกติ ส่วนเคสไหนที่ต้องออกไปรับ ณ จุดเกิดเหตุ กว่าจะแต่งตัวใส่ชุด PPE ตามมาตรฐาน ยิ่งต้องเพิ่มเวลานานหลายสิบนาที

“พวกเราด่านหน้าทำงานอยู่บนความเสี่ยง อาจได้รับเชื้อ หรือเป็นคลัสเตอร์แพร่ระบาดโดยไม่รู้ตัว อย่างน้อยขอให้เราได้ตรวจสวอบทุก 14 วัน จะช่วยให้มั่นใจได้มากขึ้น ส่วนผู้ขับขี่ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ช่วยกันลดใช้ความเร็ว อย่างน้อยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ อาการจะได้ไม่รุนแรงสาหัสมาก เราทุกคนรักคนไข้ ก็อยากให้คนไข้รักพวกเราด้วยเช่นกัน ” ฐิติมา กล่าว

พยาบาลที่อยู่ห้องฉุกเฉินในพื้นที่ภาคใต้ วรรณี มีขวด พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช เกริ่นถึงสถิติอุบัติเหตุในพื้นที่ว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ปี 2563 มีตัวเลขการตายอยู่ที่ 23.9 รายต่อแสนประชากร ขณะที่ปี 2564 คาดว่าจะมีตัวเลขการตายจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ที่ 29 รายต่อแสนประชากร สาเหตุหลักมาจากรถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อก และผู้บาดเจ็บที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขในปี 2563 ที่ลดลงเพราะโรงพยาบาลได้ทำงานร่วมกับตำรวจในการตั้งด่านจับผู้ไม่สวมหมวก ตรวจจับความเร็ว แต่โควิดเจ้าหน้าที่ตำรวจมีไม่เพียงพอต้องกระจายกำลังไปทำงานเสริมด้านโควิดด้วย

“ในฐานะพยาบาลที่ทำงานในห้องฉุกเฉินมา 30 ปีในพื้นที่มีภัยพิบัติ น้ำท่วม พายุ แต่ไม่มีเหตุการณ์ไหนน่ากลัวกว่าในครั้งนี้ ถือเป็นหน้างานที่หนักมาก เทียบกับเมื่อก่อนเราจะวิ่งเข้าหาผู้ป่วยทันที แต่ช่วงโควิดเราต้องหยุดชะงัก เมื่อก่อนหลังรับแจ้งเหตุ การันตีเลยว่า 2 นาทีถึง แต่ตอนนี้ กว่าจะไปถึงอย่างน้อย 15-20 นาที หลายครั้งเมื่อไปถึงหน้างาน บีบหัวใจมาก เพราะผู้ประสบเหตุเสียชีวิตแล้ว กลายเป็นคำถามว่าเราจะทำอะไรให้ดีกว่านี้ได้ไหม”

สำหรับทางออกให้การกู้ชีพอุบัติเหตุทางถนนเร็วขึ้น จันทร์ทิพย์ เสนอทางออกว่า เวลานี้หน่วยงานองค์กรปกครองท้องถิ่นควรสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนมีรถกู้ชีพที่เข้าถึงผู้บาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว โดยต้องมีการอบรมทีมกู้ชีพรู้ขั้นตอนของการช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บในเบื้องต้น จะช่วยแบ่งเบาภาระและทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนมีโอกาสรอดชีวิตได้

ที่ผ่านมามี รพ.หลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต้องปิดห้องฉุกเฉินเป็นการชั่วคราว เพราะเจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วยต้องกักตัว อีกทั้งบาง รพ.เหลือพยาบาลทำงานน้อยลง พยาบาลจากต่างจังหวัดถูกส่งตัวมาช่วยงานที่ รพ.สนามในกรุงเทพฯ และต้องไปทำหน้าที่ฉีดวัคซีน

….เจ็บเมื่อไรก็โทรฯ มาอาจต้องกินเวลาเป็นชั่วโมง กว่ารถพยาบาลจะมาถึง ช่วงสถานการณ์ปกตินับเป็นนาที รถกู้ชีพ รถพยาบาลถึงที่ แต่ขณะนี้รถกู้ชีพรถพยาบาล ต้องวิ่งรับผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ …อย่าให้อุบัติเหตุทางถนนชนกันตายเข้ามาแย่งเตียง และบุคลากรทางการแพทย์ 

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง