แม้การจ่อจลาจลเป็นวงกว้างในอิหร่าน อันมีชนวนเหตุมาจากการเสียชีวิตของผู้หญิงที่ถูกตำรวจจับกุม ไม่น่าจะเป็นภัยคุกคามกะทันหันต่อบรรดาผู้นำสูงสุดของประเทศ ซึ่งมีกองกำลังรักษาความปลอดภัยชั้นยอด ที่ปราบปรามการประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การประท้วงในคราวนี้ ที่ถือว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2562 คืออีกหนึ่งรอยร้าวในโครงสร้างทางสังคมของอิหร่าน ที่กำลังเผชิญกับความไม่สงบจากปัญหาเศรษฐกิจ, ภาวะเงินเฟ้อ และอิสรภาพ

ด้วยความโกรธจากการเสียชีวิตของ น.ส.มาห์ซา อมินี วัย 22 ปี ซึ่งถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมฐาน “แต่งกายไม่เหมาะสม” เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้หญิงชาวอิหร่านต่างออกมาท้าทายการแต่งกายแบบอิสลามของประเทศ และทำการประท้วง ทั้งการนำฮิญาบคลุมศีรษะของพวกเธอออกมาโบกไปมา หรือเผามันทิ้ง ขณะที่บางคนตัดผมของตนเองในที่สาธารณะ ตลอดจนเรียกร้องให้เกิดการล่มสลายของนายอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน

ขณะที่รัฐบาลอิหร่านกำลังประเมินตัวเลือกต่าง ๆ คดีของ อมินี ได้กระทบกระเทือนจิตใจ และปลดปล่อยความโกรธแค้นที่ถูกกักขังมานานหลายปีเกี่ยวกับการบังคับสวมฮิญาบ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า การเสียชีวิตของเธอจะให้กำลังใจแก่ผู้หญิงในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการท้าทายรัฐบาลเกี่ยวกับข้อจำกัดเรื่องการแต่งกาย แม้ว่าการประท้วงที่ขยายไปยังพื้นที่ส่วนใหญ่ของ 31 จังหวัดในอิหร่าน จะจางหายไปหรือถูกปราบปรามก็ตาม

ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายชารีอะห์ของอิหร่าน ซึ่งบังคับใช้หลังการปฏิวัติ เมื่อปี 2522 ผู้หญิงจำเป็นต้องคลุมผม และสวมใส่เสื้อผ้าทรงหลวมยาวเพื่อปกปิดร่างกายของพวกเธอ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องเจอกับการตำหนิ, ค่าปรับ และการจับกุมในที่สาธารณะ แต่หลายทศวรรษหลังการปฏิวัติ รัฐบาลยังคงประสบกับความลำบากในการบังคับใช้กฎหมาย

Al Jazeera English

แม้การต่อต้านจะเป็นเรื่องปกติ แต่ความตกใจที่มีต่อการเสียชีวิตของ อมินี และการประท้วงทั่วประเทศ ได้กลายเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยง เมื่อผู้หญิงชาวอิหร่านเรียกร้องเสรีภาพมากขึ้น

จนถึงตอนนี้ การเคลื่อนไหวภายในในประเทศของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน (ไออาร์จีซี) และหน่วยติดอาวุธบาซิจของอิหร่านยังค่อนข้างถูกจำกัด แต่พวกเขาสามารถระดมกำลังได้อย่างรวดเร็ว และพร้อม “ดำเนินการขั้นเด็ดขาด”

“ไออาร์จีซีและหน่วยบาซิจนั้นโหดร้าย, ภักดี และมีประสิทธิภาพในการปราบปรามการประท้วงอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขามีประสบการณ์อย่างมากตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในการทำเช่นนั้น” นายเฮนรี โรม นักวิเคราะห์ของยูเรเซีย กรุ๊ป กล่าวเพิ่มเติมว่า การประท้วงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐบาลอย่างฉับพลัน น้อยกว่าความชอบธรรมและความยั่งยืนในระยะยาว

ด้านนายเมเออร์ จาเวดานฟาร์ ผู้สอนการเมืองอิหร่านที่มหาวิทยาลัยไรช์มัน ในประเทศอิสราเอล บรรยายถึงการประท้วงครั้งล่าสุดว่า เป็นก้าวสำคัญสำหรับชาวอิหร่านที่โกรธเคืองจาก “ระบอบการปกครองที่ทุจริตและไร้ความสามารถ”

“การประท้วงครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และเราจะเห็นมันมากขึ้น แต่พวกเราไม่น่าจะได้เห็นการปฏิวัติเกิดขึ้นจนกว่า และนอกเสียจากว่าจะมีผู้นำ และอย่างน้อยส่วนหนึ่งของกองกำลังติดอาวุธของอิหร่าน เริ่มเข้าข้างประชาชนที่ต่อต้านระบอบการปกครอง ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่เกิดขึ้น” จาเวดานฟาร์ กล่าว.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS