สัปดาห์นี้ พาไปอัพเดทรถไฟฟ้าสายใหม่ เส้นสีม่วงใต้ช่วงเตาปูนราษฎร์บูรณะ ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูนบางใหญ่) ที่จะมาเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มกระบวนการประกวดราคา (ประมูล) แล้ว อดใจรออีก ปี ได้ใช้บริการ

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยวิธีประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) ฉบับแรก ขึ้นประกาศรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของ รฟม. www.mrta.co.th ให้ผู้สนใจแนะนำ วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นได้ที่ [email protected] ภายในวันที่ 15 มิ.ย. 64 เบื้องต้นจะจำหน่ายเอกสารประกวดราคา วันที่ 5 ก.ค.-7 ต.ค.64 และกำหนดยื่นข้อเสนอในเดือน ต.ค.64

รายละเอียดประกวดราคาประกอบด้วยงานโครงการยกระดับ งานโครงการใต้ดิน งานศูนย์ซ่อมบำรุง อาคารจอดรถ และงานระบบราง มีทั้งหมด 6สัญญา ระยะทางประมาณ 23.6กิโลเมตร (กม.) รวม 17สถานี แบ่งเป็น 10 สถานีใต้ดิน ระยะทาง 13.6 กม. และ 7 สถานียกระดับ ระยะทาง 10 กม. วงเงินรวม 8.23 หมื่นล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างงานโยธา 7.73 หมื่นล้านบาท, ค่าก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1.33 พันล้านบาท และวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sum) 3.58 พันล้านบาท

6 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูนหอสมุดแห่งชาติ วงเงิน 1.85หมื่นล้านบาท เป็นงานออกแบบควบคู่การก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 4.9 กม. และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 สถานี

สัญญาที่ 2งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และสถานีใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติผ่านฟ้า วงเงิน 1.51หมื่นล้านบาท ระยะทาง 2.3 กม. และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 สถานี

สัญญาที่ 3งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้าสะพานพุทธยอดฟ้า วงเงิน 1.44หมื่นล้านบาท ระยะทาง 3.1 กม. และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สถานี

สัญญาที่ 4งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธดาวคะนอง วงเงิน 1.43หมื่นล้านบาท ระยะทาง 4 กม. และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สถานี

สัญญาที่ 5งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่ง และสถานียกระดับช่วงดาวคะนองครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park&Ride) วงเงิน 1.27หมื่นล้านบาท ระยะทาง 9.3 กม. สถานียกระดับ 7 สถานี อาคารจอดรถไฟฟ้า และอาคารจอดแล้วจร

และ สัญญาที่ 6งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ วงเงิน 3.42พันล้านบาท เป็นงานออกแบบควบคู่การก่อสร้างงานระบบราง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ตลอดเส้นทางโครงการ และภายในอาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard)

สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกนั้น ในเงื่อนไขการประมูลระบุว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องจัดทำข้อเสนอ 3ซอง ประกอบด้วย ซองที่ 1ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ, ซองที่ 2ข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 3ข้อเสนอด้านราคา โดย รฟม. จะพิจารณาซองที่ 1คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอก่อน หากไม่ผ่านจะไม่เปิดซองที่ 2แต่หากผ่านจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2และ 3ต่อไป

ในส่วนของซองที่ 2และ 3มีคะแนนรวม 100คะแนน แบ่งเป็น ด้านเทคนิค 30คะแนน และด้านราคา 70คะแนน โดยในส่วนของซองที่ 2ด้านเทคนิค จะพิจารณารายละเอียด 5หัวข้อ ซึ่งแต่ละหัวข้อ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 80%ของคะแนนเต็มในแต่ละข้อ และเมื่อรวมคะแนนทั้ง 5หัวข้อ ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 85%ของคะแนนเต็มซองที่ 2หากไม่เป็นไปตามนี้จะถูกตัดสิทธิ ส่วนการประเมินซองที่ 3ด้านราคา ผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุดจะได้รับคะแนนเต็ม 70คะแนน โดย รฟม. จะนำคะแนนซองที่ 2และ 3มารวมกัน ผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด จะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด

สาเหตุที่ใช้เกณฑ์ด้านเทคนิค และราคา ในสัดส่วน 30:70 เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการก่อสร้าง อีกทั้งแนวเส้นทางยังผ่านพื้นที่ชุมชนสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่อ่อนไหว รวมถึงพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ และลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ต้องคัดเลือกผู้รับจ้างที่มีสมรรถนะสูงมาก่อสร้าง เพื่อให้โครงการดำเนินการเสร็จตามแผนงาน ปลอดภัยสูงสุด ลดผลกระทบด้านการจราจร และสิ่งแวดล้อมในระหว่างการก่อสร้างที่อาจกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

รฟม.วางแผนว่าจะได้บริษัทผู้ชนะประมูลภายในปี 64 และเริ่มก่อสร้างต้นปี 65 เพื่อเปิดบริการภายในปี 70

โครงการมีจุดเริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) ที่สถานีเตาปูน เป็นทางยกระดับตามแนวถนน ง.8 ข้ามคลองบางซื่อ เปลี่ยนเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าถนนทหาร ผ่ายแยกเกียกกาย สู่ถนนสามเสน ผ่านอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศ ผ่านแยกผ่านฟ้าลีลาศ เข้าถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดาฯ สู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าถนนประชาธิปก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ และเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับวิ่งไปตามกลางถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกประชาอุทิศ สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดที่ครุใน จ.สมุทรปราการ

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จะเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร รวมถึงสมุทรปราการเข้าด้วยกัน เพิ่มทางเลือกการเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้นภายใน 1 ชม.

——————————
คอลลัมน์ มุมคนเมือง
โดยทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง