ไม่ว่าจะ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ สแกมเมอร์ ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือก่ออาชญากรรม หลอกให้รักแล้วตุ๋นเงิน หลอกลวงให้ลงทุน แสวงหาประโยชน์ทางเพศบนสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึง แพร่ข่าวปลอม (Fake news)…

เหล่านี้เป็นปัญหาที่ อื้ออึงต่อเนื่อง”

มีเหยื่อเสียหายสูญเสียจำนวนมาก!!”

วันนี้ชวนดู…รัฐจัดการปราบถึงไหน?”

ทั้งนี้ จากการที่มีประชาชนคนไทยได้รับความเดือดร้อนและสูญเสียทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก อันสืบเนื่องจากการที่มีบุคคล กลุ่ม-แก๊ง ก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงกรณีการหลอกลวงในรูปแบบที่ถูกเรียกว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กับการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้โดยภาครัฐนั้น ในช่วงท้ายปลายปี 2565 นี้ก็มีรายงานว่า ทางรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ได้สั่งการเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ปัญหาทุกรูปแบบ

การแก้ไขและป้องกันปัญหานี้… ก็มีรายงานว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ บูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและปราบปราม ในทุกมิติ เพื่อที่จะให้นโยบายปราบปรามนั้นไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้มข้น…

มุ่งไปสู่การ ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม”

ก่อนอื่นมาโฟกัสที่กรณี “ข่าวปลอมเฟคนิวส์ (Fake news)” ที่ก็มีส่วนที่มุ่ง หลอกลวง-สร้างความเสียหายแก่ประชาชน กับกรณีนี้ในไทยได้มีการผลักดัน ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center : AFNC) เป็นศูนย์รวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลและข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ที่อาจ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการรับแจ้งข่าวและเบาะแสของข้อมูลเท็จ รวมถึงมีเครื่องมือในการจัดการแก้ไขและเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกต้องต่อสาธารณะด้วย…

ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2562 จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2565 ได้มีการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม โดยมีข้อความที่ต้องคัดกรองจำนวน 942,821,174 ข้อความ มีข้อความที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด 39,346 ข้อความ และหลังจากคัดกรองก็พบข้อความ จำนวนเรื่อง ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ ทั้งหมด 19,065 เรื่อง

ช่องทางที่มีการพบเบาะแส เฟคนิวส์-ข่าวปลอม” มากที่สุดอันดับ 1 คือ… Social Listening Tools 99.89% รองลงมาคือ Line Official 0.10%, Twitter 0.01% ในขณะที่ Facebook 0.00% และ Official Website ก็ 0.00%

ถัดมาที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนดู-ชวนโฟกัส คือ… การ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปราบปราม “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ตามนโยบายรัฐบาล และการ เร่งแก้ไขปัญหา “ฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์” โดยในส่วนนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันบูรณาการ ซึ่งล่าสุดมีการหารือโดย พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน มีการกำหนดมาตรการและขั้นตอนปฏิบัติในการบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการช่วยเหลือ…

จะเยียวยาผู้เสียหายให้เสร็จใน 3 เดือน

และเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการประชุมเรื่องแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ประชุมร่วมกับผู้แทนกระทรวงดีอีเอส ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในการประชุมได้มีการระบุถึงผลการดำเนินงานตาม “มาตรการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงทางออนไลน์” ซึ่งที่สำคัญ ๆ ได้แก่… 1.การเสนอร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงทางออนไลน์ ที่จะทำให้ ธนาคารสามารถแก้ไขปัญหากรณีพบพฤติกรรมที่ต้องสงสัย โดยสามารถระงับพฤติกรรมดังกล่าวได้ เพื่อเป็นการตัดวงจรก่อนกระทบในวงกว้าง ซึ่งขณะนี้ทางดีอีเอสได้นำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว 2.การ แจ้งเตือนภัยออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง 3.การ แก้ไขปัญหาการยืนยันตัวตนใน Mobile Application 4.การ ดำเนินการกับผู้ครอบครองซิมโทรศัพท์จำนวนมากและที่ไม่ลงทะเบียนยืนยันตัวตนตามระบบ …เหล่านี้เป็นมาตรการที่น่าตามดู

ขณะที่การดำเนินการ ดำเนินคดี ที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2565 นี้ กับสถิติ ณ ก่อนกลางเดือน ธ.ค. ที่สำคัญ ๆ ได้แก่… ปิดกั้นข้อความ SMS/โทรฯ หลอกลวง 94,043 หมายเลข และ ดำเนินคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 46 คดี มีการ จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 60 ราย มีการ อายัดบัญชีม้า 47,245 บัญชี และ ปิดกลุ่มโซเชียลมีเดียซื้อขายบัญชีม้า 8 กลุ่ม มีการ ดำเนินคดีเกี่ยวกับการหลอกลวงลงทุน-ระดมทุนออนไลน์ 562 คดี มีการ ดำเนินคดีพนันออนไลน์ 287 คดี และ ปิดกั้นเว็บไซต์พนัน 1,691 เว็บไซต์ รวมถึงมีการ ดำเนินคดีการหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ 246 คดี ด้วย

เหล่านี้คือ อัพเดทปราบอาชญากรรม”

กรณี ที่โยงช่องทางเทคโนโลยี-ไอที”

ที่ก็ ยังต้องบูรณาการ-เข้มข้ามปี!!”.