วิถีการเรียนออนไลน์ที่ไม่ได้เตรียมตัวใจมาก่อน ทอดเวลายาวนานนับปี ทั้งเด็ก ครู พ่อแม่ ต่างอ่อนล้าไปตามๆกัน แต่อีกด้านหนึ่งก็ชื่นชมคุณครูหลายโรงเรียนพยายามปรับตัว คิดค้นวิธีการสอนทั้งร้องเพลง เต้น หรือแต่งตัวให้มีสีสัน  ทำให้เด็กไม่เบื่อหน่าย

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดเสวนาออนไลน์ “ทราบแล้วเปลี่ยน”ในหัวข้อ #แนวทางส่งเสริมสุขภาพเด็กในช่วงเรียนออนไลน์ เพื่อร่วมหาทางออกปัญหาเรียนออนไลน์ จากนักจิตวิทยาเด็ก และผู้บริหารจากกระทรวงศึกษา

ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดลและกุมารแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เกิดผลกระทบในวงกว้าง จนต้องมาเรียนออนไลน์ ทั้งนี้จากเปิดห้องพูดคุยในคลับเฮาส์ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเด็กในช่วงเรียนออนไลน์ แล้วต่อยอดสำรวจความคิดเห็นของเด็กประถมศึกษา และมัธยมศึกษาทั่วประเทศจำนวน 300 คน เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา พบปัญหาสำคัญสรุป 7เรื่องได้แก่

1.เด็กปวดตา เพราะนั่งนาน เนือยนิ่ง 2.มีความเครียด มีความกังวล โดยเฉพาะนร.ที่จะขึ้นช่วงชั้นรอยต่อ ป.6 เข้าเรียนชั้น ม1.หรือ ม.6 เข้ามหาวิทยาลัย มีเสียงสะท้อนออกมา จะไม่มีโปรไฟล์ และผลการเรียนยืนยันเพื่อไปเรียนต่อ รวมทั้งกังวลว่าจะไม่สามารถสอบเข้าโรงเรียนดีๆได้ 3. จำนวนการบ้านมากขึ้นทำให้นอนน้อยลง เพราะบางครั้งหลังทำการบ้านเสร็จ เด็กต้องเล่นมือถืออีกเล็กน้อยก่อนเข้านอน 4.มีความเบื่อหน่ายไม่อยากเรียน 5.มีกิจกรรมทางกายน้อยลง ออกกำลังกายน้อยลง 6.สภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เอื้ออำนวยทำให้ขาดสมาธิ 7.รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา  

เรียนออนไลน์มีความไม่พร้อมหลายประการ นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่องโภชนาการในเด็ก อย่างน้อยในกลุ่มเด็กวัยอนุบาลถึงระดับประถมศึกษาเมื่อมาโรงเรียน จะมีอาหารกลางวันที่มีโภชนาการตามวัย  และนมโรงเรียนที่เสริมสร้างสมองและร่างกายให้เติบโต

นายสนิท แย้มเกษร  รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัญหาโควิด ยาวนานกว่าคิด แม้กระทรวงจะเตรียมรับมือมาตั้งแต่ปลายปี 2562   ส่วนใหญ่เด็กอยากมาโรงเรียน ยกเว้นเด็กมัธยมตอนปลายในโรงเรียนขนาดใหญ่เ มีความประสงค์ที่จะเรียนออนไลน์   แต่พบว่ามีเด็กชายขอบ เด็กบนดอย  เด็กที่อาศัยอยู่บนเกาะ นอกจากไม่สามารถเข้าอุปกรณ์เพื่อเรียนออนไลน์ได้ ยังมีปัญหาเรื่องโภชนาการ โดยสพฐ.ได้แก้ปัญหาปรับงบประมาณ แจกเป็นเงินสดไปยังพ่อแม่ ไปซื้อหาวัถตุดิบในท้องถิ่นมาปรุงอาหารให้เด็ก พร้อมคำแนะนำตามโครงการไทยสคูล ลันซ์   ที่สสส.ร่วมกับม.มหิดลจัดทำขึ้น เน้นเมนูอาหารที่มีโปรตีนและผัก   ซึ่งตามระเบียบแล้วเด็กมีค่าอาหารกลางวัน 20 บาทต่อคน

ส่วนนมโรงเรียนได้ประสานผู้ส่งส่งนมโรงเรียน เปลี่ยนจากนมพาสเจอร์ไรท์มาเป็นนม UHT  แม้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกกล่องละ 1.20 บาทก็ตาม

นายสนิท  กล่าวต่อว่า กระทรวงฯได้มีหนังสือแจ้งไปแล้ว เรื่องกรอบการประเมินการเรียนการสอนของครู จากเดิมที่มี 70 เรื่องปรับให้เหลือ 10 เรื่อง ส่วนที่เหลือให้มาประเมินในช่วงที่เปิดเรียนได้ตามปกติ  อย่างไรก็ตามมีหลายโรงเรียนประกาศยกเลิกการสอบแล้ว สำหรับการเรียนออนไลน์ นอกจากนี้รัฐบาลได้เตรียมเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ลดภาระพ่อแม่  ลดภาระค่าเทอม คาดว่าต้นเดือนก.ย.กระทรวงศึกษาจะนำเงินชดเชยส่งถึงมือผู้ปกครอง โดยจ่ายหัวละ 2,000 บาท

ที่ผ่านมาระบบการเรียนในโรงเรียนได้ปรับให้มีนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ มุ่งเน้นการพัฒนาสมอง พัฒนาจิตใจ พัฒนาทักษะ การปฏิบัติ และพัฒนาสุขภาพ โดยเชื่อมโยงกับหลักสูตร

ด้าน นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสสส. กล่าวว่า  จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าเด็กใช้เวลานั่งมากกว่า 13 ชม.ต่อวัน เป็นเหมือนกันทั่วโลก แต่ในสถานการณ์โควิด พบว่าเด็กต้องนั่งนานขึ้น 14 ชม.เพราะต้องอยู่หน้าจอ โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า เด็กต้องขยับร่างกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน  ซึ่งเด็กไทยมีค่าเฉลี่ยในการขยับร่างกาย 26 % ในภาวะปกติ แต่เมื่อมีโควิด ค่าเฉลี่ยในการขยับเขยื้อนร่างกายลดลงเหลือแต่ 17 % เป็นเทรนด์เดียวกันทั้งโลก  ส่งผลระยะยาวเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะติดพฤติกรรมไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า มีคำแนะนำให้เด็กทำกิจกรรมในบ้าน ให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกาย ครูปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน ระหว่างเรียนให้มีช่วงพักเบรกข้าห้องน้ำ ชวนลูกทำงานบ้าน พ่อแม่ออกกำลังกายพร้อมกับลูก   เมื่อเรียนจบชวนลูกมาถกประเด็นวิเคราะห์ในเนื้อหาที่เรียน เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในครอบครัว  มุมบวกอีกด้าน การที่ลูกอยู่บ้านเป็นโอกาสที่พ่อแม่จะเล่านิทาน หรือคุยกับลูกได้มากขึ้น

เราสามารถปรับพื้นที่ในบ้านให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ได้ แม้แต่บนเตียงนอน เด็กชอบกระโดดปล่อยเขาไป หรือบ้านไหนมีสนามชวนลูกมาเตะบอล  การเล่นยังช่วยพัฒนาสมองของเด็ก  เมื่อเด็กขยับเขยื้อนมีสติปัญญา ไอคิว อีคิว ดีขึ้นงานวิจัยระบุว่าการเล่นมีผลต่อผลการเรียนดีขึ้น มีปฏิสัมพันธ์ภายในห้องเรียนดีขึ้น ลดภาระคุณครู  แต่ระหว่างการเล่น ต้องป้อนข้อมูลสาระความรู้ใส่สมอง ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ไกลขึ้น” ผู้ช่วยผู้จัดการสสส.บอกประโยชน์แห่งการเล่น

ด้าน ผศ.พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว  มหาวิทยาลัยมหิดล และกุมารแพทย์ เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก  กล่าวว่า  เมื่ออยู่หน้าจอมากจะมีปัญหาเรื่องสายตา เพราะกระพริบตาน้อยลง จึงแสบตา ปวดหัว และนั่งท่าเดียวตลอดเวลาทำให้ปวดเมื่อย  และเมื่อต้องเรียนอยู่ที่บ้าน ทำให้เด็กกินอาหารได้ตามใจชอบจนอ้วน พบว่าภาพรวมค่าดัชนีมวลกายหรือบีเอ็มไอของเด็กสูงขึ้น บางครั้งไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ธาตุอาหารที่จะทำให้สมองเด็กเติบโตมาจากธาตุเหล็ก ซึ่งมาจากเนื้อสัตว์ ผัก  โภชนาการสำคัญมากช่วงวัยเด็ก เมื่อเด็กอ้วนส่งผลต่อผู้ใหญ่ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคความดัน หัวใจ เบาหวาน

นอกจากนี้เป็นห่วงเรื่องการนอนของเด็กที่ต้องระวัง เมื่อนอน ไม่พอ ตื่นมาไม่สดชื่นไม่อยากเรียน  ดังนั้นการเรียนออนไลน์ค วรลดเวลาเรียน เรียน 40 นาที พัก 20 นาที  

 ผศ.พญ.แก้วตา ให้คำแนะนำว่า  การเรียนออนไลน์ โรงเรียนควรแบ่งนร.เป็น 2 กลุ่มเด็ก คือกลุ่มที่พ่อแม่พร้อมสอน ต้องยอมรับว่า เด็กอีกกลุ่มพ่อแม่ต้องทำงาน เด็กอยู่กับผู้สูงอายุ ครูควรไปเยี่ยมหรือโทรศัพท์คุยกับผู้ปกครองของเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ซึ่งนโยบายของสพฐ.ให้ครูไปเยี่ยมบ้านเป็นสิ่งที่ดี  อย่างไรก็ช่วงนี้ที่พ่อแม่อยู่บ้าน สามารถสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับลูกได้ เมื่อเด็กมีความเครียดพ่อแม่ควรรับฟัง และสื่อสารกับลูกหาทางออกร่วมกัน จะช่วยทำให้เด็กมีทักษะชีวิต  มีความเข้มแข็งทางใจมากขึ้น เป็นพลังสำคัญจะส่งผลตอนโต ทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ถ้าบรรยากาศในครอบครัวเป็นบวก เด็กจะรู้สึกปลอดภัย ที่มีพ่อแม่คอยรับฟังปัญหา

เรียนออนไลน์มีมุมบวกเหมือนกัน ในแง่ความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่ในมุมลบมีไม่น้อยทั้งครู เด็ก พ่อแม่ ต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยนไปด้วยกัน เพราะเวลานี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์การะบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดได้วันไหน.