10 อันดับนักเตะที่ลงเล่นให้ทีมชาติมากที่สุดในโลก เวอร์ชั่นอัพเดต หลัง คริสเตียโน โรนัลโด ก้าวขึ้นครองสถิติแต่เพียงผู้เดียว หลังลงเล่นเป็นตัวจริงให้ทีมชาติโปรตุเกส ในศึกฟุตบอลยูโร 2024 รอบคัดเลือก นัดเปิดบ้านรับมือ ลิคเตนสไตน์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

10. จานลุยจิ บุฟฟอน (อิตาลี, 176 นัด)

นายทวารคงกระพันแห่งวงการฟุตบอลอิตาลี และวงการฟุตบอลโลก บุฟฟอน ลงเฝ้าเสาให้ทีมชาติอิตาลีชุดใหญ่ครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม 1997 และลงเล่นให้ทัพ “อัซซูรี” เป็นเกมสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม 2018 ก่อนจะประกาศวางมือหลังทีมตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2018 และจนถึงปัจจุบันในวัย 45 ปี “จีจี้” ยังคงลงเล่นให้กับปาร์มา ในศึกกัลโช เซเรีย บี โดยยังไม่มีวี่แววจะแขวนถุงมือ

9. เคลาดิโอ ซัวเรซ (เม็กซิโก, 177 นัด)

นี่คือเซ็นเตอร์ฮาล์ฟร่างเล็กในสไตล์เดียวกันกับ ลิซานโดร มาร์ติเนซ โดยสูงแค่ 5 ฟุต 10 นิ้ว แต่เขาคือตัวหลักของทีมชาติเม็กซิโกอย่างนาวนาน โดยดาวเตะเจ้าของฉายา “เอล เอ็มเปราดอร์” หรือ “จักรพรรดิ” ลงเล่นให้ทีมชาติเม็กซิโกครั้งแรกเมื่อปี 1992 และรับใช้ชาติยาวนานถึง 14 ปี ลงเล่นไป 177 นัด ก่อนจะอำลาทีมชาติไปหลังจบฟุตบอลโลก 2006 ที่ประเทศเยอรมนี

8. โมฮาเหม็ด อัล-เดียเยีย (ซาอุดิอาระเบีย, 178 นัด)

ถ้า บุฟฟอน คือสัญลักษณ์ของผู้รักษาประตูอิตาลี อัล-เดียเยีย ก็น่าจะอยู่ในสถานะเดียวกันสำหรับแฟนบอลซาอุดิอาระเบีย ภาพจำของเขาคือการสวมกางเกงวอร์มขายาวลงเฝ้าเสาแบบเดียวกับ กาบอร์ คาราลี อดีตนายทวารทีมชาติฮังการี มือกาวรายนี้ โดย อัล-เดียเยีย ซึ่งเป็นผู้รักษาประตูที่ลงเล่นรให้ทีมชาติมากที่สุดในโลกนั้น รับใช้ทีมชาติยาวนานตั้งแต่ปี 1993 จนถึงปี 2006 และลงเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 4 สมัย

7. อันเดรส กวาร์ดาโด (เม็กซิโก, 179 นัด)

มิดฟิลด์จอมเก๋าวัย 36 ปี ซึ่งรับใช้ทีมชาติเม็กซิโกมาตั้งแต่ปี 2005 นั้น เพิ่งทำสถิติแซง เคลาดิโอ ซัวเรซ ขึ้นเป็นนักเตะที่ลงเล่นให้ทัพนักเตะจังโก้มากที่สุด ในช่วงอุ่นเครื่องก่อนถึงศึกฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ก่อนที่จะได้ลงเล่นอีก 1 เกมในเวิลด์คัพฉบับทะเลทราย ทำให้สถิติการลงเล่นทีมชาติของเขาขยับเป็น 179 นัด และคาดว่าตัวเลขน่าจะหยุดลงแต่เพียงเท่านี้ แม้เจ้าตัวจะยังไม่มีการประกาศอำลาทีมชาติอย่างเป็นทางการก็ตาม

6. เซร์คิโอ รามอส (สเปน, 180 นัด)

กองหลังวัย 36 ปีจากสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง ลงเล่นให้ทีมชาติสเปนชุดใหญ่เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2005 และกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกทัพ “ลา โรฆา” ยุครุ่งเรือง คว้าแชมป์เมเจอร์ 3 รายการรวด ไล่ตั้งแต่ ยูโร 2008 ฟุตบอลโลก 2010 และยูโร 2012 แต่ล่าสุดเจ้าตัวเพิ่งประกาศอำลาทีมชาติไปด้วยความชอกช้ำ ทั้งที่ใจยังอยากรับใช้ชาติ หลังไม่มีชื่อในทีมของ หลุยส์ เอ็นริเก ชุดลุยศึกฟุตบอลโลก 2022 แถมยังถูก หลุยส์ เดอ ลา ฟวนเต กุนซือคนใหม่ของทัพ “กระทิงดุ” เมินอีกต่างหาก

5. อาห์เหม็ด มูบารัก (โอมาน, 183 นัด)

มูบารัก ได้ชื่อว่าเป็นนักเตะจอมพเนจร เพราะตลอดชีวิตค้าแข้ง เจ้าตัวลงเล่นมากมายถึง 14 สโมสรทั่วทั้งตะวันออกกลาง แต่สำหรับทีมชาติโอมานแล้ว นี่คือมิดฟิลด์กำลังหลักของทีมอย่างยาวนาน โดยเจ้าตัวลงเล่นให้ทีมชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2003 และเพิ่งประกาศอำลาทีมชาติไปเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา โดยความสำเร็จครั้งสำคัญกับทีมชาติโอมาน คือการพาทีมคว้าแชมป์กัลฟ์ คัพ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2018 ปละเป็นการคว้าแชมป์บนแผ่นดินเกิดของตัวเองด้วย

4. อาห์เหม็ด ฮัสซัน (อียิปต์, 184 นัด)

นี่คือกองกลางระดับตำนานของวงการฟุตบอลอียิปต์ โดยเจ้าตัวรับใช้ทีมชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1995 และเป็นกำลังสำคัญในการพาทัพนักเตะฟาโรห์คว้าแชมป์แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ได้ถึง 4 สมัย ในปี 1998, 2006, 2008 และ 2010 จากการลงเล่นทั้งหมด 8 สมัย ซึ่งเป็นสถิตินักเตะที่คว้าแชมป์กาฬทวีปมากที่สุด แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือเจ้าตัวไม่เคยได้โอกาสลงเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเลยแม้แต่ครั้งเดียว จนกระทั่งอำลาทีมชาติไปในปี 2012

3. โซห์ ชิน อันน์ (มาเลเซีย, 195 นัด)

โซห์ ชิน อันน์ เล่นในตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟให้กับทัพ “เสือเหลือง” ชุดใหญ่เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1969 หรือ 12 ปีหลังมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ เขาเป็นสมาชิกของทีม “เสือเหลือง” ชุดลุยรอบสุดท้ายโอลิมปิกเกมส์ 1972 และเคยสร้างชื่อด้วยการสักดเกมรุกของยักษ์ใหญ่ของทวีปอย่าง เกาหลีใต้ เอาไว้ได้ ช่วยให้ทีมยันเสมอ 1-1 อย่างพลิกปฐพีในศึกเอเชียน คัพ 1980 ก่อนจะอำลาทีมชาติไปในปี 1984

2. บาเดอร์ อัล-มูตาวา (คูเวต, 196 นัด)

ดาวเตะวัย 38 ปี เริ่มต้นเส้นทางการรับใช้ทีมชาติคูเวต ตั้งแต่ปี 2003 ด้วยอายุแค่ 18 ปี และความสำเร็จครั้งสำคัญคือการพาทีมคว้าแชมป์ กัลฟ์ คัพ เมื่อปี 2010 จนถึงปัจจุบัน ในวัย 38 ปี ตัวเลขการลงเล่นให้ทีมชาติของเขาขยับมาหยุดที่ 196 นัดมาพักใหญ่ โดยครั้งสุดท้ายที่เจ้าตัวลงเล่นให้ทีมชาติ คือเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และถึงเวลานี้ ยังไม่แน่ชัดว่า อัล-มูตาวา จะยังได้โอกาสลงรับใช้ทีมชาติคูเวตต่อไปหรือไม่

1. คริสเตียโน โรนัลโด (โปรตุเกส, 197 นัด)

เกมที่ “ฝอยทอง” เปิดรังเอสตาดิโอ โฮเซ อัลวาลาด ถล่ม ลิคเตนสไตน์ 4-0 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คือเกมที่ 197 ของ “ซีอาร์ 7” และเจ้าตัวก็ฉลองด้วยการยิง 2 ประตูในเกมดังกล่าว โรนัลโด เริ่มต้นกับทีมชาติตั้งแต่ปี 2003 เช่นเดียวกับ อัล-มูตาวา และปัจจุบันทั้งคู่ก็อายุ 38 ปีเท่ากัน แต่สถิติกับทีมชาติของดาวเตะเลือดฝอยทอง ยังไม่มีทีท่าที่จะหยุดลงแต่อย่างใด