ตั้งแต่ 31 ส.ค. จนถึง 4 ก.ย.จะเป็น วันอภิปรายไม่ไว้วางใจนัดสำคัญ เป็นการอภิปรายครั้งที่ยาวมากเพราะกำหนดระยะเวลาไว้ถึง 4 วันก่อนที่จะมีการโหวตในวันที่ 4 ก.ย. (ตามกฎหมายที่ต้องเว้นระยะเวลาหลังอภิปรายก่อนโหวต) เสียงของฝ่ายค้านเองตอนแรกก็ดูไม่ค่อยเป็นเอกภาพเท่าไรนัก จากกระแสข่าว ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ซึ่งเพื่อไทยดูเหมือนต้องการจะโฟกัสที่ประเด็น การบริหารจัดการโควิดของรัฐบาลสียมากกว่า เพื่อให้เนื้อหาการอภิปรายออกมาเป็นเอกภาพ และก็เป็น สิ่งที่ประชาชนสนใจอยู่แล้วเพราะเรื่องโควิดนี่มีเสียงวิจารณ์มาก

ขณะที่พรรคก้าวไกลต้องการอภิปรายในประเด็นอื่นเพิ่มเติม โดยต้องการ “เตะกล่องดวงใจ” พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ด้วย คือการเอา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. มาอภิปรายอีก 2 คน ก้าวไกลเขาก็แย้มๆ มาว่า “มีโจทย์ให้อภิปรายอยู่” แต่จะเป็นเรื่องอะไร เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในกลาโหม หรือการแต่งตั้งโยกย้าย หรือการใช้อำนาจอื่นๆ นี่เขาไม่เปิดโจทย์ออกมาให้ชัด ซึ่งก็เป็นปกติที่บางเรื่องเขาเก็บไว้ใช้ใน “ห้องเชือด” ทีเดียว

แต่สุดท้ายสองพรรคก็คุยกันได้…เรื่องโควิดนั้น เพื่อไทยมั่นใจมากว่า “หลักฐานเชิงประจักษ์” เกี่ยวกับผลกระทบที่ประชาชนได้รับจาก การดำเนินนโยบายของรัฐบาลชัดเจน ทั้งเรื่อง การชดเชยเยียวยาที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต แถมยังตกๆ หล่นๆ เช่นการปิดแคมป์คนงาน แต่ยังมีข่าวออกมาว่า ไม่มีการส่งคนเข้าไปดูแล ส่งข้าวส่งน้ำในแคมป์เพียงพอ…หรือระดับผู้ประกอบกิจการขนาดกลางถึงเล็กหรือเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจนต้อง ปิดกิจการ ตามกันไปหลายเจ้า 

ยังมีเรื่องการ ประกาศปิดเมืองช้า ตอนที่เริ่มมีการระบาดระลอกสามเมื่อตอนเดือนเมษายน ทำให้กลุ่มเสี่ยงเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัดและกลายเป็นการนำเชื้อไปกระจายทั่วประเทศ และที่สำคัญคือ ปัญหาเรื่องวัคซีน ที่เสียงประชาชนเรียกร้องต้องการให้สั่ง mRNA อย่าง ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา มาใช้ แต่รัฐบาลกลับใช้วัคซีนเชื้อตายที่มีการเปิดเผยผลวิจัยออกมาเรื่อยๆ ว่า การสร้างภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ โดยเฉพาะกับ เชื้อกลายพันธุ์อย่างเดลตา ที่ระบาดทั่วโลกอยู่ และนโยบายวัคซีนก็เป็นที่งุนงงว่าใครรับผิดชอบระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ที่ออกตัวเชิงไม่เกี่ยวกับนโยบายตรงนี้

ส่วนผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นอย่างไร ..เสียงลงมติในพรรค พปชร.เองก็ไม่ชัดเจน จากการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ประชุมสั้นๆ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคย้ำแค่ว่า “ส.ส.มีเอกสิทธิ์แต่ต้องดำรงไว้ซึ่งฐานะสมาชิกพรรค” ก็เลยรับประกันอะไรไม่ได้ว่า แม้แต่เสียงพรรคใหญ่ที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลจะไม่แตก ขนาดการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งที่แล้ว ยังมีเสียง ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ที่นำโดย นางวทันยา วงศ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ ลงมติสวน ในการโหวตนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม (และครั้งนี้นายศักดิ์สยามก็โดนอภิปรายอีก)

สำหรับ พรรคขนาดเล็ก ซึ่งถ้านับเฉพาะพวกพรรคเกิดใหม่ก็หลายพรรค อย่างพลังท้องถิ่นไท, รักษ์ผืนป่าประเทศไทย และพรรคอื่นๆ รวมเสียงกันน่าจะราวๆ 20 เสียงนั้น “เกิดความขวาง” กับพรรค พปชร. เป็นทุนเดิมจากเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยู่แล้ว การเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ เปลี่ยนจำนวน ส.ส.เป็นเขต 400 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ก็ทำให้พรรคเหล่านี้จะกลับมาในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ยากขึ้นไปอีก ซึ่งเขาก็พยายามสู้เรื่องจำนวนเปอร์เซ็นต์ของผู้ลงคะแนนให้เป็น 0.2% จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน แต่ก็ไม่รู้ว่ากระบวนการที่จะบรรจุไว้ในการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะเป็นอย่างไร กำหนดอัตราส่วนเท่าไร ก็ไม่รู้ว่า พรรคเล็กจะใช้เรื่องนี้เดินเกมต่อรองคะแนนไว้วางใจหรือไม่

ย้อนกลับมาที่พรรค พปชร. เริ่มมีสัญญาณแปลกๆ จากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร เรียกแกนนำพรรคและ ส.ส.บางส่วนไปคุย มีการระบายความอัดอั้นตันใจต่อตัวนายกฯ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ค่อยเหลียวแล ส.ส. จนพี่ใหญ่สาม ป. หรือพี่ใหญ่ คสช. ก็แล้วแต่จะเรียก..ต้องอธิบายว่า นายกฯ เหนื่อย ตั้งใจทำงานเพื่อส่วนรวม ที่ไม่ค่อยได้ดูแล ส.ส.ก็ อย่าเพิ่งน้อยอกน้อยใจกันไป แต่ก็ขอรับฟังและขอให้โหวตไปในทิศทางเดียวกัน

ก็ไม่รู้ว่าการเจรจานี้จะเป็นการส่งสัญญาณอะไรต่อคะแนนโหวตของนายกฯ อย่างไร แต่ที่สุดแล้ว ทางฝั่งรัฐบาลก็ ต้องพยายามดันตัวเองให้อยู่ครบเทอม ไม่ให้เกิดกระแสกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำตัวเป็นงูเห่าถ้าการต่อรองไม่ได้ดังใจ ..อย่างไรก็ตาม ข่าวที่มีมาก่อนหน้านั้นคือการเคลื่อนไหวของนักการเมืองในพรรคที่ส่งสัญญาณออกมาเรื่องการ “เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ” โดยกลุ่มที่ถูกมองว่า เป็นตัวเดิมเกมให้ปรับ ครม. คือ “กลุ่ม 3 ช.”

3 ช.ที่ว่าคือ กลุ่มรัฐมนตรีช่วยว่าการของ พปชร. ซึ่งประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลที่มีลูกชายคือ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ เป็น รมช.คมนาคม ..ข่าวว่า กลุ่ม 3 ช. พยายามให้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการหน้าใหม่ในโควตาพรรค คือ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งว่ากันว่า ได้รับเก้าอี้เพราะ คำมั่นสัญญา ระหว่าง พล.อ.ประวิตร และพล.อ.ประยุทธ์ ที่มีต่อ นายเสนาะ เทียนทอง แกนนำกลุ่มวังน้ำเย็น ให้หลานสาวขึ้น รมว.

และเป้าหมายที่จะต้องถูกเปลี่ยนตัวคือ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ซึ่งถูกมองว่าไปเข้ากับกลุ่มสามมิตร โดยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อโฟกัสไปที่เรื่องโควิด กระทรวงแรงงานน่าจะโดนหนักเกี่ยวกับ เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาแรงงาน และเรื่องการซีลแคมป์คนงานล่าช้า อีกคนหนึ่งคือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) “ข่าวว่า” ถ้ามีการเปลี่ยนตัวคือ ร.อ.ธรรมนัส จะมานั่งคุมเก้าอี้จับกัง 1 แทน “เฮียเฮ้ง” หรือนายสุชาติ นางนฤมล จะมาคุมเสมา 1 แทน “เหน่ง ตรีนุช” และ นายอธิรัฐ จะมาดีอีเอส แทน “โอ๋ ชัยวุฒิ”

ผลการโหวตไม่น่าจะถึงขั้นล้มรัฐบาลได้ คือไม่ว่าอย่างไร “เสียงข้างมากก็ต้องไว้ใจ พล.อ.ประยุทธ์ไว้ก่อน” เนื่องจาก ถ้านายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งแล้ว ครม. ต้องกระเด็นทั้งคณะ และภาพลักษณ์ของรัฐบาลขณะนี้ ถ้าเลือกตั้งใหม่ พปชร.มีโอกาสกลับมาได้ยาก ..หากเสียงไว้วางใจนายกฯ น้อยกว่าไม่ไว้วางใจ ทางเลือกคือ นายกฯ ลาออกก็ต้องมีการเลือกนายกฯ ใหม่ ใช้เสียงสองสภา แต่ขณะนี้เท่าที่ดู “ยังไม่มีแคนดิเดตใหม่ที่ถูกชูมาแทน พล.อ.ประยุทธ์ได้” แต่ที่รัฐมนตรีในโควตา พปชร. 2 คนที่ถูกอภิปราย คือ นายสุชาติ และนายชัยวุฒิ ต้องหนาวๆ ร้อนๆ คือ “จะมีการเดินเกมอะไรให้เสียงไว้วางใจทั้ง 2 คนต่ำกว่าคนอื่นหรือไม่” เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการปรับ ครม.  

ที่อยากพูดถึงคือ ดูจากญัตติที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายชัยวุฒิ ก็น่าคิดว่า “เป็นการใส่ชื่อมาเพื่อเล่นการเมืองหรือไม่” เพราะ เขียนญัตติแบบสั้น แต่ครอบจักรวาลมาก ใจความหลักคือ “ใช้ตำแหน่งและหน้าที่และสื่อของรัฐเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง” ซึ่งว่ากันว่าเป็นเรื่องที่ รมว.ดีอีเอสจะดำเนินคดีกับดารา, คนดังที่ออกมาคอลเอาต์ขับไล่รัฐบาล แต่จริงๆ แล้วเรื่องการดำเนินคดีกับผู้ที่คอลเอาต์ เป็นเรื่องที่คนอื่นเอาไปแจ้งความ ตัวอย่างคือกรณี นายสนธิญา สวัสดี ที่ไปแจ้งความกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลให้เรียกดาราที่คอลเอาต์มาตักเตือน จนโดนบางคนฟ้องกลับไปแล้ว หรือกรณีมีการพาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ก็มีทีมงานคอยแจ้งความเอง

ตัว รมว.ดีอีเอส นั้นเพิ่งเข้าทำงานไม่นาน ได้มอบนโยบายทำงานเรื่อง 1.ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล 2.ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล 3.การใช้ 5G อย่างเป็นรูปธรรม 4.การพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวกับดิจิทัล เช่น กฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คุ้มครองธุรกรรมออนไลน์ 5. การคุ้มครองประชาชนจากการใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียที่ผิดกฎหมาย ซึ่ง สิ่งที่เป็นเป้าโจมตีขณะนี้คือข้อ 5   

ในยุคที่มีการแตกแยกทางความคิดเช่นนี้ การทำงานเรื่องสื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีโอกาสที่จะเชื่อไปในสิ่งที่สอดคล้องกับแนวคิดหรืออุดมการณ์เดิมของตัวเอง และเชื่อว่า ข้อมูลจากฝ่ายตรงข้ามเป็น ข่าวปลอม บิดเบือน…ในโลกโซเชียลเองก็มี “ไอโอ ( information operation )” หรือปฏิบัติการทางด้านข่าวสารปั่นข่าวออกมาในรูปแบบต่างๆ มากมายจากแต่ละขั้วความคิดที่ต่างกัน มีการใช้บัญชีอวตารหรือบัญชีที่ไม่ระบุตัวตนชัดเจน แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นสิทธิการสื่อสารตามรัฐธรรมนูญได้ ศาลแพ่งก็ได้คุ้มครองไปแล้วให้ยกเลิกคำสั่ง ศบค.ที่แบนไอพีแอดเดรส

การหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ส่วนหนึ่ง เพราะการเมืองคือเรื่องการแย่งชิงอำนาจ ..แต่บางเรื่องก็จำเป็นต้องควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกและภาวะไร้ระเบียบในสังคมตามมา โดยเฉพาะในยุคโควิดที่รัฐบาลถูกมองว่า “ทำงานแบบวิ่งตามเชื้อ” ต้องยิ่งระวังข่าวปลอมที่สร้างความตระหนก เจ้ากระทรวงดีอีเอสและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ( บก.ปอท.) ต้องดูแล  โดยตัวนายชัยวุฒิ เคยให้สัมภาษณ์กับ BBC Thai วันที่ 21 ก.ค. ว่า “ไม่เคยคิดใช้กฎหมายฟ้องประชาชนในฐานะผู้รับสารที่ผันตัวมาส่งเสียง”

การทำงานข้อมูลข่าวสารในยุคแตกแยกทางความคิด ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ทำงานยาก ซึ่งก็ต้อง รอดูการชี้แจง ของนายชัยวุฒิในเรื่องนโยบายข้อมูลข่าวสารว่าสามารถยอมรับได้หรือไม่ ..ในขณะที่เจ้าตัวเอง รวมถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น (และ น.ส.ตรีนุชที่ไม่ถูกอภิปราย) ก็ต้องระวังศึกแย่งเก้าอี้ของนักการเมืองใน พปชร.ด้วย.

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”…