ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ผู้คนทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่ายากดีมีจน ต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้าแตกต่างกันไป แต่ยังมีอีกโครงการของภาครัฐที่น่าจับตามองไม่น้อย เดินหน้าลงไปช่วยชาวบ้านอย่างเงียบ ๆ พุ่งเป้าไปที่ เกษตรกรชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ให้มีที่ดินทำกินและประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงตัวเอง ในหลาย ๆพื้นที่เริ่มขยายไปทั่วประเทศ ตั้งแต่ ภาคเหนือ อีสาน กลาง และใต้ โดย สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ.“  แม้จะไม่ค่อยเห็นข่าวทางหน้าสื่อ  แต่ช่วยกลุ่มเกษตรกรได้มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองไปแล้ว 2,631 ราย ที่ดินกว่า 3,151 ไร่

ทีมข่าว 1/4 Special Report  มีโอกาสไปตามติดโครงการช่วยกลุ่มเกษตรกรรวมถึงชาวบ้าน ได้มีที่ดินเป็นของตัวเอง มาตั้งแต่ปี 2563 กระทั่งปี 2564 ประเทศไทยอยู่ในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 ทำให้โครงการฯ ของ บจธ. ค่อนข้างจะถูกถามถึงและได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศ ถึงแม้จะแตกต่างจากโครงการอื่น ๆ เพราะไม่ได้จัดหาที่ดินมาให้เปล่า ๆ แต่ต้องรวมตัวกันตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มสหกรณ์ แล้วจัดหาที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนด หรือที่ดินของภาคเอกชน ที่จะทำประโยชน์ด้านเกษตรกรรม มายื่นโครงการกับ บจธ. ตรวจสอบเจรจาและจัดซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ บจธ. จากนั้นจะนำมาให้เกษตรกรเช่าในระยะ 2 ปีแรก แล้วเช่าซื้อต่อระยะยาวไม่เกิน 30 ปี (ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ) ที่สำคัญยังสนับสนุนให้ทำอาชีพมีรายได้ต่อเนื่องแบบครบวงจร

บจธ.” ลงพื้นที่ตรวจสอบกลุ่มเดือดร้อน

ปัจจุบันมีหลายโครงการฯ ไม่ว่าจะเป็นของวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มสหกรณ์หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นจากทางภาคเหนือ อีสาน และใต้ที่พอจะใช้เป็นโมเดลให้ศึกษาและเป็นต้นแบบให้กับบรรดากลุ่มเกษตรกรหรือชาวบ้านที่สนใจข้อมูลนำไปศึกษาเพื่อมายื่นกับ บจธ.ให้ช่วยเหลือเพื่อจะได้มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งชาวบ้านและเกษตรกรทุกภาคส่วนต่างก็ประสบปัญหา ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ  ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พร้อมด้วย นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. และเจ้าหน้าที่ลงไปติดตามดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านที่ร่วม
โครงการฯแต่ละพื้นที่ 

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะกำกับดูแล บจธ. มีความห่วงใยความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร ในช่วงวิกฤติโควิดฯ  ซึ่งมีแนวโน้มว่าเกษตรกรและผู้ยากจนอาจจะสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกินสูงขึ้น จึงกำชับให้ บจธ. ดำเนินการติดตามโครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วจำนวนพื้นที่ 1,234-2-17.7 ไร่ ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรให้มีที่ดินทำกิน จำนวน 482 ครัวเรือน รวมถึง โครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน จากการจำนอง ขายฝาก และถูกบังคับคดี ได้มีที่ดินของตนเองกลับคืนมาจำนวน 334 ราย นอกจากนี้ในปี 2565 ที่แม้ บจธ. มีภารกิจสำคัญต้องผลักดันกฎหมาย แต่เบื้องต้นคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ บจธ. แก้ปัญหาเกษตรกรที่ยังเดือดร้อนหนักอีกจำนวนหนึ่งให้แล้วเสร็จ

ด้าน นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. กล่าวว่าได้เตรียมความพร้อมในกระบวนการเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด -19  โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องเกษตรกรและชุมชน ให้พึ่งพาตัวเองได้ และแบ่งปันผู้เดือดร้อน ในช่วงการระบาดโควิด โดยพบว่า วิสาหกิจชุมชน 11 พื้นที่ สหกรณ์การเกษตร 1 พื้นที่ ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ) มีความเข้มแข็ง มีผลผลิตและผลิตภัณฑ์การเกษตรปลอดสารพิษเพื่อบริโภคและจำหน่าย สร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ทำให้สามารถจ่ายค่าเช่าที่ดิน และค่าเช่าซื้อที่ดินกับ บจธ.

ยื่นช่วยเกษตรกรที่ดินหลุดมือช่วงโควิด

ผู้อำนวยการ บจธ.  กล่าวต่อว่า จากการระบาดโควิด ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ทำให้ที่ดินหลุดมือเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ ไม่สามารถชำระหนี้สินได้ ปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยมีปัญหาที่ดินจะหลุดมือ หรือหลุดมือไปแล้ว ได้ขอความช่วยเหลือจาก บจธ. จำนวน 900 กว่าราย เข้าหลักเกณฑ์จำนวน 630 ราย และมีเกษตรกรผู้ยากจนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน หน่วยงานของรัฐและเอกชนได้ ทำให้ไปใช้บริการเงินกู้นอกระบบ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยแพงมากเกินกฎหมายกำหนด จึงมีแนวโน้มจะถูกยึดที่ดินทำกิน ในปีงบประมาณ 2565 แม้ บจธ. จะได้รับการพิจารณางบประมาณแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน เพียง 25 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ บจธ. จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เพียง 25 ราย

ตั้งแต่ปี 2559-2562 บจธ. ได้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนไปแล้ว 334 ราย รวมเนื้อที่ 2,319 ไร่เศษ (ยังอยู่ในช่วงการชำระสินเชื่อ) ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้ยากจนที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินสอบถามข้อมูลได้ที่ กองบริหารจัดการที่ดิน โทรศัพท์ 0-2278-1648 (ต่อ 511)หรือ 06-3214-7844 อีเมล [email protected]

นางพรทิพย์ ปัจฉิมานนท์ อายุ 50 ปี เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯในภาคใต้ มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ทำสวนยาง สวนมะม่วง และสวนปาล์มน้ำมัน อยู่ที่ หมู่ 10 ต.นากระตาม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เปิดเผยว่า ได้ทำสัญญายืมเงินและทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน พร้อมบ้านพักอาศัยไว้กับผู้รับซื้อขายฝาก เพื่อนำเงินมาลงทุนและรับซื้อของเก่ามาขาย แต่รายได้จากการรับซื้อของเก่ามีไม่เพียงพอ ซ้ำโรงงานที่ไปรับจ้างผลิตผลไม้กระป๋องก็ปิดกิจการ สุดท้ายที่ดินจึงต้องตกเป็นของเจ้าหนี้ แต่ก็ได้ บจธ.ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ติดต่อประสานงานเจ้าของที่ดินในปัจจุบันเพื่อขอซื้อที่ดินดังกล่าวคืน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ความอนุเคราะห์ขายที่ดินคืนให้

ที่ดินตรงนี้เป็นที่ของพ่อแม่ เป็นที่ผืนสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่มีที่ตรงนี้แล้วเราก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน หลังจากที่ป้าได้รับหนังสือตอบกลับ ป้าก็ดีใจมาก ๆ ชีวิตนี้ไม่คิดว่าจะได้ที่ดินของตัวเองคืน  ทีแรกไม่คิดว่าจะมีหน่วยงานไหนช่วยเราได้ เพราะเราไม่มีหลักประกัน ไม่รู้ว่าจะพูดขอบคุณยังไงดี ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณ บจธ. จริง ๆ อยากให้คนที่ตกทุกข์ได้ยากแบบป้าได้รับความช่วยเหลือ โครงการดีมากอยากให้คนรู้จักเยอะ ๆ ขยายความช่วยเหลือไปทั่วประเทศ”

ขอบคุณไถ่ที่ดินคืนชาวบ้านมีพลังใจสู้ต่อ

นางอุทัย ประกอบการ อายุ 58 ปี เกษตรกรภาคอีสาน อาศัยอยู่ที่ หมู่ 8 ต.หนองบัว อ.คง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ไร่อ้อย มันสำปะหลัง เลี้ยงวัว ค้าขาย และรับจ้าง เมื่อปี 2558 ทำสัญญาขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าว จนกระทั่งปี 2560 ประสบปัญหาขาดทุนจากการทำไร่อ้อย ไม่มีเงินชำระดอกเบี้ยจึงทำให้ที่ดินหลุดไป จำนวนเนื้อที่ 6-1-47.1 ไร่ และ 7-0-00 ไร่ จึงเดินทางไปขอรับความช่วยเหลือจาก บจธ. ทำให้มีโอกาสเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเดิมโดยการเช่าซื้อ ถ้า บจธ. ไม่มาช่วยก็ไม่รู้จะไปพึ่งใครแล้ว ไปมาหลายหน่วยงานก็ช่วยไม่ได้ เพราะที่ดินอยู่กับเจ้าหนี้ ไม่มีหลักประกันที่ไหนมาค้ำประกันแล้ว  แต่ไม่คิดว่าจะมีหน่วยงานแบบ บจธ. ที่ช่วยเราได้  ไม่รู้จะขอบคุณอย่างไรดี ตอนนี้ก็ปลูกผักสวนครัว เก็บเงินส่ง บจธ. แม้โควิดมาเราก็ต้องรับสภาพ และก็ยังมีพลังสู้ต่อ

ด้าน นายสำรวย สุรินทร์  อายุ 53 ปี เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน พื้นที่ภาคเหนือ อาศัยอยู่ หมู่ 4 ต.ท่าขมิ้น อ.โพทะเล จ.พิจิตร เปิดเผยว่า ขอขอบคุณทุกหน่วยงานเลยครับ และ บจธ. ที่มาช่วยเหลือคนที่ที่ดินหลุดมือโดยไม่ได้ตั้งใจ เข้ามาช่วยได้ทันท่วงที ปัจจุบันลุงก็มีรายได้ไม่มากแต่ก็พออยู่ได้ พอส่งให้ บจธ.ไหวครับไม่แพง เหลือก็เก็บไว้ ชีวิตไม่เครียดไม่อะไรแล้ว ก่อนหน้านี้ทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง ปลูกพืชผสมผสาน และเผาถ่าน ได้ทำสัญญาค้ำประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ต่อมาถูกฟ้องบังคับชำระหนี้ และถูกบังคับยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด ไปขอความช่วยเหลือหลายหน่วยงาน สุดท้าย บจธ. ช่วยจนได้ที่ดินกลับคืนมา

นายวิสูติ เพ็ชรักษ์ อายุ 55 ปี หรือ ลุงผล เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯในภาคกลาง มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนา และรับจ้างทั่วไป อาศัยอยู่ที่ หมู่ 3 ต.นางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนปี 2556 มีเหตุจำเป็นต้องนำที่ดินตัวเองไปขายฝากเพื่อนำไปเช่าที่ทำนา 80 ไร่ ประสบปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในนาข้าว ทำให้ขาดทุน ประกอบกับส่งบุตรเรียนหนังสือ ไม่มีเงินชำระหนี้ทำให้ที่ดินหลุดขายฝาก จึงยื่นร้องขอความช่วยเหลือ กระทั่ง บจธ. ได้เข้ามาช่วยเจรจาไถ่ถอนที่ 650,000 บาทกลับคืนมา ก่อนหน้านี้ขอสินเชื่อไม่ได้เราไม่มีหลักประกัน วันที่หน่วยงานมีหนังสือตอบมาบอกว่าเราได้รับการช่วยเหลือแล้ว แทบพูดไม่ออกเลย ตื้นตันใจที่ยังมีหน่วยงานมองเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกร.