หลาย ๆ ท่านคงเคยเจอปัญหาที่ทำให้ปวดเศียรเวียนหัว เมื่อไฟรูปเครื่องยนต์โชว์บนแฝงหน้าปัดรถยนต์ ซึ่งอันที่จริงแล้วรูปเครื่องยนต์โชว์นั้นมาได้จากหลายสาเหตุ แต่ในตอนนี้ขอพูดถึงเจ้า “O2 Sensor” หรือ “ออกซิเจนเซ็นเซอร์” กันก่อน

“ออกซิเจนเซ็นเซอร์” คือ ตัวจับสัญญาณค่าออกซิเจนที่หลงเหลือจากการเผาไหม้ในไอเสีย ของเครื่องยนต์ระบบหัวฉีด โดยปกติเครื่องยนต์ที่เผาไหม้สมบูรณ์ จะเหลืออยู่ประมาณ 1-2% ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับอากาศบนพื้นโลกที่มีออกซิเจนอยู่ประมาณ 21% โดย ออกซิเจนเซ็นเซอร์ จะมีลักษณะเป็นกระเปาะ หรือหลอดซ้อนกันสองชั้น เปลือกเป็นรูพรุนทำด้วยทองคำขาว และระหว่างชั้นจะบรรจุเซรามิกตัวนำไฟฟ้าไว้

การทำงาน เมื่อเครื่องยนต์จุดระเบิด เจ้า “ออกซิเจนเซ็นเซอร์” ซึ่งถูกติดตั้งที่ท่อไอเสีย หน้า “แคตตาไลติกคอนเวอร์เตอร์” จะทำการตรวจจับค่าออกซิเจนที่หลงเหลือจากการเผาไหม้ ก่อนส่งสัญญาณในรูปแบบแรงดันไฟฟ้ากระแสตรง 0.2-0.9 โวลต์ ไปยังกล่องควบคุม (ECU) เพื่อประมวลผลร่วมกับเซ็นเซอร์จุดอื่น ๆ ในการสั่งหัวฉีดให้จ่ายน้ำมันมากขึ้นหรือน้อยลง ทั้งนี้ หากอ่านค่าแล้วมีออกซิเจนหลงเหลืออยู่มากจะได้โวลต์สูง หมายความว่าส่วนบาง กล่องควบคุมก็จะสั่งจ่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้ามหาก มีออกซิเจนหลงเหลือน้อยหรือไม่มีเลยจะได้โวลต์ต่ำ กล่องควบคุมก็จะสั่งจ่ายน้ำมันลดลง จุดประสงค์ก็เพื่อให้การเผาไหม้ที่สมบูรณ์ที่สุด ส่งผลให้ประหยัดน้ำมัน ช่วยลดมลพิษ และยังทำเครื่องยนต์จะได้อยู่กับเรานาน ๆ

เทคนิคควรรู้
วิธีสังเกต “ออกซิเจนเซ็นเซอร์” เสีย
-อัตราการบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้น
-กำลังเครื่องตก-วิ่งไม่ออก
-ไอเสียมีกลิ่นเหม็นน้ำมัน จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์
-ไฟรูปเครื่องยนต์โชว์ โดยจะเริ่มต้นมา ๆ หาย ๆ เมื่อใช้ความเร็วสูง ก่อนจะโชว์ค้างในที่สุด
-ผู้ผลิตส่วนใหญ่แนะนำให้ตรวจสอบทุก ๆ 30,000 กม.

ทางเลือกเมื่อต้องเปลี่ยน “ออกซิเจนเซ็นเซอร์”
-ออกซิเจนเซ็นเซอร์ใหม่แท้ ราคาสูงแต่ได้ความมั่นใจ
-ออกซิเจนเซ็นเซอร์ใหม่ เกรดทดแทน (เทียม) ราคาถูก คุณภาพต้องวัดดวง
-ออกซิเจนเซ็นเซอร์ มือสอง (เชียงกง) ค้มค่าราคาไม่แพงแต่ต้องอาศัยช่างที่ชำนาญช่วยเลือกซื้อนะครับ…

………………………..
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]