คาห์มิส อัล-ไซราฟี และน้องชายอตา ได้ช่วยกันดัดแปลงซากเครื่องบินเก่าโบอิ้ง 707 ให้กลายเป็นร้านกาแฟ และอาหารสำหรับลูกค้าขึ้นไปใช้บริการได้

คาห์มิสผู้พี่บอกว่า 99% ของชาวปาเลสไตน์ไม่เคยใช้เครื่องบิน มีเพียงเอกอัครราชทูต นักการทูต รัฐมนตรีและนายกเทศมนตรีเท่านั้นที่ได้ใช้เครื่องบิน ตอนนี้เรามีเครื่องบินให้พวกเขาได้สัมผัส

หลังความพยายามถึง 25 ปี ในที่สุดสองพี่น้องก็ได้เปิด ค็อฟฟี่ช็อปและร้านอาหารสายการบินปาเลสไตน์-จอร์แดน อัล-ไซราฟี (The Palestinian-Jordanian Airline Restaurant and Coffee Shop al-Sairafi เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา

คนในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย และคู่หนุ่มสาวต่างพากันมาที่ร้านเพื่อดื่มกิน นั่งรับประทานกันใต้ลำตัวเครื่องบิน แต่ถ้าอยากแค่มาถ่ายรูปอย่างเดียวก็คิดค่าบริการคนละ 5 เชเขล (1.50 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 45บาท)

Arab News

ลูกค้าที่มาใช้บริการหลายรายบอกว่า อยากมาลองใช้บริการบ้าง หลังเห็นภาพถ่ายเครื่องบินที่ได้รับการปรับปรุงและตกแต่งใหม่ เผยแพร่ไปในโลกออนไลน์

เพราะหลายปีมาแล้ว ที่ซากเครื่องบินนั้นจอดทิ้งเอาไว้ ริมทางหลวงของเขตเวสต์แบงก์ตอนเหนือ ทำให้หลายคนคิดอยากทำอะไรให้เกิดประโยชน์ได้บ้าง กับคนที่เดินทางผ่านไปมา แล้วพี่น้องฝาแฝดในวัย 60 ปี ก็เข้ามาสานฝัน ด้วยการดัดแปลงเครื่องบินให้เป็นร้านกาแฟและร้านอาหาร ตั้งแต่ปลายทศวรรษ1990 (พ.ศ.2533) เมื่อสองพี่น้องได้เห็นซากเครื่องบินโบอิ้ง ถูกทิ้งอยู่ที่เมืองซาเฟด ทางเหนือของอิสราเอล

ตอนนั้นเครื่องบินลำนี้ก็มีประวัติน่าสนใจเหมือนกัน เพราะมันเคยถูกใช้เป็นเครื่องบินของรัฐบาลอิสราเอลตั้งแต่ปี 2504-2536 เคยนำนายกรัฐมนตรีเมนาเคม เบกิน เดินทางไปสหรัฐอเมริกาในปี 2521 เพื่อลงนามในข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ ตามรายงานของโทรทัศน์ช่อง 12

ต่อมาถูกหุ้นส่วนนักธุรกิจอิสราเอล 3 คนที่ฝันอยากทำให้เป็นร้านอาหาร ซื้อซากเครื่องบินไป แต่โครงการก็ถูกยกเลิกไป เพราะตกลงกันไม่ได้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

แต่พี่น้องฝาแฝดปาเลสไตน์ก็สามารถตามหาเจ้าของได้ และขอซื้อมันมาด้วยราคา 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านบาท) ในปี 2542 และต้องเสียอีก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.5 ล้านบาท) สำหรับค่าใบอนุญาต และการขนย้ายมายังเขตเวสต์แบงก์ ตอนนั้นนายกเทศมนตรีเมืองนาบลัสอนุมัติให้ขนย้าย และปรับปรุงตกแต่งใหม่

ส่วนการขนย้ายมายังเมืองนาบลัส ต้องใช้เวลา 13 ชั่วโมง ต้องถอดส่วนปีกออกก่อน และปิดถนนชั่วคราวทั้งในอิสราเอลและเวสต์แบงก์ ตอนนั้นอิสราเอลกับปาเลสไตน์อยู่ระหว่างการเจรจาสันติภาพ

สองพี่น้องประสบผลสำเร็จ ในการตกลงซื้อขายกลไกชิ้นส่วนโลหะ จนสามารถสร้างสวนสนุก ซึ่งมีทั้งสระว่ายน้ำ และเวทีจัดคอนเสิร์ตอยู่บนเส้นทางเดียวกับที่จะมายังเครื่องบินร้านกาแฟ

แต่โครงการต้องหยุดพักไว้ ช่วงเหตุวุ่นวายครั้งที่สองของชาวปาเลสไตน์ ในปลายทศวรรษ 2000 (พ.ศ.2543) สาเหตุเพราะอิสราเอลตั้งด่านความมั่นคงอยู่ใกล้กัน ลูกค้าจากเมืองใกล้เคียงกับนาบลัสเข้ามาไม่ได้ ด่านนั้นตั้งอยู่สามปี และกองทัพอิสราเอลเข้ามาดูแลพื้นที่ โครงการจึงต้องพับไว้ก่อน

นานเกือบ 20 ปี ที่โครงการและพื้นที่ถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งเหตุวุ่นวายซาลงไปในช่วงกลางทศวรรษ 2000 (พ.ศ.2543) สองพี่น้องจึงเริ่มธุรกิจประกอบเศษชิ้นส่วนกลับขึ้นมาอีกครั้ง และสามารถเปิดเป็นสวนสนุกได้ในปี 2550

หลังเก็บเงินกว่า 20 ปี สองพี่น้องตัดสินใจเมื่อปีที่แล้ว สานฝันต่อและเริ่มปรับเปลี่ยนซากเครื่องบิน แต่ก็ต้องมาเผชิญกับการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 อีก ทำให้ต้องล็อกดาวน์หลายครั้ง เศรษฐกิจของปาเลสไตน์ทรุดตัว ทำให้โครงการต้องล่าช้าไปอีก

แต่ขณะนี้หลังใช้เวลาหลายเดือน เครื่องบินก็อยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ข้างในตกแต่งใหม่ ติดไฟฟ้ามีโต๊ะนั่ง 9 โต๊ะ ประตูทางขึ้นลงสองประตู ส่วนหัวเครื่องบินทาสีธงชาติปาเลสไตน์ ส่วนหางเป็นธงชาติจอร์แดน ร้านกาแฟเปิดให้บริการได้แล้ว และจะเปิดร้านอาหารในเร็ววันนี้ จะมีครัวอยู่ด้านล่าง เพื่อเสิร์ฟอาหารให้กับลูกค้าบนเครื่องบิน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP