เมื่อวันที่ 31ส.ค.ที่ผ่านมา ทางการปักกิ่งประกาศ “โครงการนำร่อง” ที่ถูกออกแบบ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชนผู้เจ็บป่วย ที่เป็นผู้บริโภค เพื่อรับประกันคุณภาพของการบริการ ให้เกิดความเป็นธรรม สมเหตุผลในการคิดค่ารักษา และเป็นผู้ให้บริการที่สร้างแรงจูงใจ

จากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ กองทุนประกันสุขภาพของรัฐบาลจีน ซึ่งครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บป่วย กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากหลายทางผสมกัน รวมถึงจำนวนประชากรวัยชราเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และอัตราการเกิดลดลง ทำให้รัฐบาลต้องหาแนวทางปรับระบบการให้บริการทางการแพทย์ มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

CGTN

นอกจากนั้น ความบกพร่องหลายอย่างในกลไกกำหนดราคาค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลที่ปรากฎมานานหลายปี เช่น ราคาที่แตกต่างกันมากระหว่างภาคตะวันตกของประเทศ กับภาคตะวันออกและภาคกลาง ที่ประชาชนมีฐานะร่ำรวยกว่า และการขาดความร่วมมือจากกลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์ ในการกำหนดราคา ก็เป็นอีกปัจจัยผลักดันให้รัฐบาลจีนปฏิรูป

อุตสาหกรรมสถานพยาบาลในแผ่นดินใหญ่เฟื่องฟูมาก ควบคู่กับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ ในระยะ 2-3ทศวรรษที่ผ่านมาข้อมูลนับถึงเดือนก.พ. 2562 จีนมีโรงพยาบาลทั้งหมดประมาณ 33,000 แห่ง เพิ่มขึ้น 1,866 แห่ง ในระยะเวลา 1 ปี โดยเป็นโรงพยาบาลเอกชน 21,165 แห่ง (63.9% ของโรงพยาบาลทั้งประเทศ) รวมถึงที่เปิดใหม่ 2,185 แห่ง ในระยะเวลา 1ปี

ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วจีนราว 550 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

CGTN

ตลอดปี 2561 โรงพยาบาลทั่วจีนมีรายได้รวมประมาณ 3,554,300 ล้านหยวน (18,008,000 ล้านบาท) สูงขึ้น 14.2% จากปี 2560

สองหน่วยงานหลักด้านสาธารณสุขของทางการปักกิ่ง คือ สำนักงานความมั่นคงด้านสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ เอ็นเอชเอสเอ (NationalHealthcare Security Administration : NHSA) และคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ เอ็นเอชซี (NationalHealth Commission : NHC) ออกคู่มือแนะนำในโครงการนำร่อง ซึ่งจะระบุการปรับราคาค่ารักษาพยาบาล ในโรงพยาบาลรัฐของแต่ละมณฑลและเขตปกครองตนเองทั่วประเทศ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ที่กำลังเติบโต

ในคู่มือแนะนำเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “การปรับราคาค่าบริการทางด้านสาธารณสุขจะมีทั้งปรับขึ้น และปรับลดลง”

ทางการจีนอนุญาตให้โรงพยาบาล หรือคลินิกเอกชน กำหนดราคาค่ารักษาพยาบาลได้ตามกลไกตลาด แต่ตามแผนการปฏิรูปจะเพิ่มความเข้มงวดกฎระเบียบหากจำเป็น โดยรัฐจะมีอำนาจดำเนินมาตรการ เช่น สอบสวนการกำหนดราคาเรียกผู้บริหารโรงพยาบาลเข้าชี้แจง หรือถึงขั้นประกาศประจานต่อสาธารณชน ผ่านสื่อทุกช่องทาง หากพบการคิดค่ารักษาพยาบาลไม่เป็นธรรม

จีนประหยัดเงินได้หลายหมื่นล้านหยวน หลังออกโครงการการประมูลแห่งชาติ โดยบรรดาบริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่แข่งขันกันลดราคา เพื่อเทขายผลิตภัณฑ์ให้โรงพยาบาลรัฐ หรือที่เรียกกันว่าโครงการซื้อเป็นจำนวนมาก (bulk buyscheme) โครงการนี้ยังเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถเพิ่มราคาค่าบริการด้านสาธารณสุขบางส่วนได้ด้วย

ทางการปักกิ่งตั้งเป้าหมาย เริ่มโครงการนำร่องตามแผนปฏิรูปสาธารณสุข ใน 5 เมืองก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็จะมีการศึกษาข้อมูลหาจุดบกพร่อง ข้อดี และข้อเสีย ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศภายในปี 2568

สำหรับบริการทางการแพทย์ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า ตัวแทนโรงพยาบาลรัฐจะต้องเข้าร่วมหารือ กับหน่วยงานของรัฐบาลที่ควบคุมดูแลโครงการ เพื่อกำหนดราคาที่เหมาะสม

ส่วนบริการพิเศษบางอย่าง ซึ่งต้องใช้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือเทคโนโลยีสูง สามารถกำหนดราคาตามกลไกตลาดได้ แต่ต้องสูงไม่เกิน 10% ของค่าบริการทั้งหมด ที่ผู้ป่วยแต่ละรายต้องจ่ายให้กับโรงพยาบาลนั้น ๆ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES