ไรหู (ear mite) ในสุนัขและแมว เป็นไรชนิดที่ไม่ขุดโพรง สามารถพบในรูหูส่วนนอกของสุนัขและแมว ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของไรหูคือ Otodectes cynotis ไรชนิดนี้สามารถพบได้ทั่วโลกและพบได้บ่อยมากในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแมว ลำตัวเป็นรูปไข่ ระยะตัวเต็มวัยมีขาทั้งหมด 4 คู่ และขาทั้ง 4 คู่ ยาวเกินขอบของลำตัว ลักษณะที่เด่นชัดที่ใช้ในการวินิจฉัยไรชนิดนี้คือ โครงสร้างที่เรียกว่า epimere ของขาคู่ที่ 1 และ 2 จะเชื่อมกันเป็นมุมแหลม และเห็นได้อย่างชัดเจน เพศผู้และเพศเมียมีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างกัน

การติดต่อเกิดจากการสัมผัสโดยตรง พบในช่องหูใกล้กับกลองหู (ear drum) ไรจะกินเศษเนื้อเยื่อในหู สัตว์จะคัน และอาจแพ้สารพิษจากไร เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบของหูส่วนนอก (otitis externa) ในสุนัขและแมว อาจพบหนอง การคั่งของเลือดที่ใบหู (aural hematoma) เนื่องจากสัตว์จะคันและสะบัดหูอย่างแรงและเกาที่ใบหูทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นเลือดฝอยภายในใบหู ก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนังบริเวณข้างเคียง อาจเกิดการฉีกขาดของเยื่อแก้วหู (tympanic membrane) และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราตามมา ในกรณีที่ไม่มีการติดเชื้อต่าง ๆ ร่วมด้วย สัตว์จะแสดงเพียงอาการคัน และจะพบว่าภายในหูของสัตว์จะมีขี้หูเป็นผงสีดำคล้ายดิน

การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจหาไรในขี้หูของสัตว์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ถ้าหากมีไรเป็นจำนวนมากอาจสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า การรักษาสามารถทำได้โดยการหยอดหูหรือหยดหลังด้วยยากำจัดไร รวมทั้งอาจจำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราร่วมด้วยในกรณีที่มีการติดเชื้ออย่างอื่นร่วมด้วย การควบคุมทำได้โดยการแยกสัตว์ที่ตรวจพบไรออกจากสัตว์ตัวอื่นเนื่องจากสามารถติดต่อกันได้ง่าย สำหรับความสำคัญทางด้านสาธารณสุขนั้น ไรชนิดนี้พบได้น้อยมากในคนและอาการที่พบอาจหายเองได้โดยไม่ต้องทำการรักษา.

รองศาสตราจารย์ นสพ.ดร.สนธยา เตียวศิริทรัพย์
หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัย โรคติดเชื้อในสัตว์ที่มีพาหะนำโรค
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย