หากพูดถึง “โรคมะเร็ง”แล้ว.. คงเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่ใกล้ตัวทุกคนจนคุ้นชิน.. แต่ทราบหรือไม่ว่า อันที่จริงแล้วยังมีอีกหนึ่งโรคร้ายอย่าง “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” ที่อันตรายไม่แพ้กัน ทั้งยังเสี่ยงเป็นซ้ำ แต่กลับมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่าที่คิด! จะเป็นอย่างไรนั้น.. มาติดตามกันค่ะ..

โดย ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย ประธานคณะทำงานการวิจัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย (Thai Lymphoma Study Group) อดีตประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เผยว่า ในปัจจุบัน มีการพบผู้ป่วย “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 600,000 รายต่อปี และในประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปีละกว่า 7,000 ราย หรือ เทียบเท่า 19 รายต่อวัน มากขึ้นกว่าเท่าตัว นับเป็นโรคร้ายใกล้ตัว เนื่องจาก “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอับดับ 1 ของมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยาและมีโอกาสกลับเป็นซ้ำในสองปีแรกหลัง” โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ Non-Hodgkin lymphoma หรือ NHL และ ชนิด Hodgkin lymphoma หรือ HL

ในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทุกรายได้อย่างชัดเจน แต่พบมีความสัมพันธ์กับหลายภาวะ ได้แก่
-อุบัติการณ์สูงสุดอยู่ที่ช่วง อายุ 60-70 ปี อย่างไรก็ตามมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด HD สามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่อายุน้อยตั้งๆแต่ 20-30 ปีอีกด้วย

เพศ : เพศชายพบเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากกว่าเพศหญิง
การติดเชื้อ : พบความสัมพันธ์ระหว่างโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดกับการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร (H. pylori) การติดเชื้อไวรัส EBV (Epstein-Barr Virus)
ภาวะพร่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย : ผู้ป่วยติดเชื้อ เอช ไอ วี (HIV) พบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น
โรคภูมิแพ้ตนเอง : ผู้ป่วยโรค เอส แอล SLE พบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น
-การสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง เป็นระยะเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ทางด้าน ดร.นพ.อาจรบ คูหาภินันทน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และแนวทางการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในปัจจุบัน เปิดเผยเอาไว้ว่า “ถึงแม้โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะพบมาก แต่ก็เป็นโรคมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้” แต่ปัญหาของผู้ป่วยในระยะแรกจะไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากอาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะเหมือนอาการอื่นๆ ที่พบได้ในภาวะต่างๆ เช่น การติดเชื้อ ภูมิแพ้ เหงื่อออกตอนกลางคืน เป็นไข้ และน้ำหนักลด

สำหรับ “วิธีการรักษาด้วยนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ” ได้แก่ การใช้เคมีบำบัด ยาแอนติบอดีการฉายแสงสำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดหรือก้อนมะเร็งที่โตเฉพาะที่ และการปลุกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดสำหรับผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำ มีผู้ป่วย 60% ตอบสนองกับการรักษามาตรฐาน และอีกกว่า 40% ที่ไม่ตอบสนองกับการรักษา ซึ่งแบ่งเป็น 15% ที่ดื้อต่อการรักษา และ 25% ที่กลับมาเป็นซ้ำภายในระยะเวลา 2 ปี

ปัจจุบันในคนไข้กลุ่มที่ไม่ตอบสนองกับการรักษา มีแนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ 1. การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด สำหรับที่ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการปลูกถ่ายเซล์ต้นกำเนิดได้ 2.นวัตกรรมการรักษารวมไปถึงยาที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ เป็นทางเลือกให้คนไข้กลุ่มที่ไม่สามารถการปลุกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดได้ ซึ่งผลการรักษาได้ผลดีในระดับที่น่าพอใจ

ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจ การดูแลสุขภาพตนเองอย่างดี รวมถึงการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้วินิจฉัยและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีโอกาสในการหายจากโรคได้มากขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วนั้น ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนสำคัญในการผลักดัน และให้กำลังใจผู้ป่วยระหว่างการรักษา ร่วมกับแพทย์ที่จะให้การรักษาที่ดีที่สุด และมีโอกาสหายมากที่สุดอีกด้วย..

…………………………………………………………………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”