The Sliding Door เป็นภาพยนตร์ดังจากปี 1998 ที่แฟนหนังส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันดี เนื้อหาย่อของหนังเป็นการเล่นกับความสงสัยเกี่ยวกับชีวิตของนางเอกเฮเลน (ที่รับโดย กวินเนธ พัลโทรว์) ว่าอนาคตเธอจะเป็นอย่างไรกับช่วงเวลาเสี้ยววินาทีของการ ขึ้นรถไฟขบวนหนึ่งได้ทัน และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าขึ้นขบวนนั้นไม่ทัน?

“บาร์เซโลนา” และ “เป๊ป กวาร์ดิโอลา” อาจนับเป็น The Sliding Door เวอร์ชั่นเกมลูกหนัง ต่างกันแค่ในหนังเรารู้ตอนจบ แต่ในชีวิตจริงเราไม่รู้ว่าอีกปลายด้านของการตัดสินใจมันจะเกิดอะไรขึ้น

ในปี 2008 บาร์เซโลนา ภายใต้การนำของ แฟรงค์ ไรจ์การ์ด อยู่ในช่วงหยุดชะงัก ไม่มีถ้วยมา 2 ปีติด แถมต้องมาตั้งแถวปรบมือยินดีกับคู่แค้น รีล มาดริด ที่คว้าแชมป์ตามมารยาท แม้ในใจสุดขมขื่น มิหนำซ้ำยังจบเกมด้วยการโดนถลุง 4-1 แฟนๆ รีล มาดริด ร้องเพลงเยาะเย้ย “ลาปอร์ตา (ประธาน) ได้โปรดอยู่ต่อ”

วันต่อมา ไรจ์การ์ด โดนไล่ออกทันที พร้อมกับคำถามว่าใครจะมาแทน?

เวลานั้น โฮเซ มูรินโญ กำลังพีคสุดๆ พาปอร์โตคว้าถ้วยยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก, ยูฟ่า คัพ มาเชลซีก็คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก แล้วไหนจะมีสายสัมพันธ์อันดีกับเซอร์บ็อบบี ร็อบสัน และ หลุยส์ ฟาน กัล อดีตผู้จัดการทีม

ชื่อของมูรินโญติดอยู่ในลิสต์เบอร์หนึ่ง แต่แล้วบาร์เซโลนาตัดสินใจเลือก เปป กวาร์ดิโอลา ที่เวลานั้นเป็นกุนซือทีมบาร์เซโลนา ชุด B ซึ่งเวลานั้นเป็นแค่ทีมดิวิชั่น ท่ามกลางความสงสัยของแฟนๆ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คือ “อิหยังวะ?”

แต่ที่จริงเปปก็มีอะไรดี เขาได้รับอิทธิพลจากโยฮัน ครัฟฟ์ ที่เป็นคนดึงเปปในวัย 19 ปี ขึ้นมาจากทีมสำรองในปี 1990 จุดเด่นของเปปคือความฉลาด เขาเข้าใจทุกอย่างที่ครัฟฟ์ต้องการ นักข่าวคาตาลันเปรียบเปรยถึงขนาดว่า “ครัฟฟ์ มีลูกชาย 2 คน จอร์ดี ลูกชายทางสายเลือด และ เปป ลูกชายในเกมฟุตบอล”

เปป ทำงานละเอียดมากตั้งแต่คุมทีม B ตั้งแต่ไอเดียที่นำสมัย เข้มมากเรื่องโภชนาการ, การเดินทาง, ข้อมูล, สถิติ กระทั่งทำทีมเลื่อนชั้น และเมื่อถึงวันที่ไรจ์การ์ดโดนไล่ออก สมาชิกบอร์ดส่วนใหญ่เลือกมูรินโญ แต่ลาปอร์ตาและครัฟฟ์ ตัดสินใจไม่เลือกโค้ชจากโปรไฟล์ แต่เลือกจากคนที่มี “บาร์ซา DNA”

14 แชมป์กับบาร์ซา เป็นคำเฉลยว่า บาร์ซา ตัดสินใจไม่ผิดสักนิดเดียว แต่มันจะเป็นยังไงถ้าตอนนั้นลาปอร์ตาเลือกมูรินโญ?

คำตอบคงมีแต่พระเจ้าที่รู้.

เฮียเอง