ในช่วงแรกเกิดถึงอายุ 5 ปี ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการสร้างรากฐาน และเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตของสมองสูงสุด การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการของเด็ก จะส่งผลให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ

ฉะนั้นวันนี้ Healthy Clean จึงขอพาไปพูดคุยกับ นพ.ปรเมศวร์ วงศ์ประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายเกี่ยวกับการสังเกตพัฒนาการของลูกน้อยของคุณในแต่ละช่วงวัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อจะได้สังเกตเห็นความผิดปกติที่บ่งบอกว่าลูกรักเป็น “เด็กพัฒนาการล้าช้า” หรือไม่อย่างไร

การสังเกตและกระตุ้นพัฒนาการในเด็กอาจแบ่งออกเป็น 4 ด้านหลัก ประกอบไปด้วย
1.กล้ามเนื้อมัดใหญ่
2.กล้ามเนื้อมัดเล็ก
3.ภาษา
4.สังคมการช่วยเหลือตัวเอง

รายละเอียดแบ่งออกตามแต่ละช่วงวัยดังนี้
-อายุ 2 เดือน ชันคอได้ 45 องศา มองตามผ่านกึ่งกลางลำตัว ทำเสียงในลำคอ ยิ้มสบตา
-อายุ 4 เดือน พลิกคว่ำ มองตามสิ่งของ 180 องศา คว้าของ ทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ หัวเราะหันหาเสียง
-อายุ 6 เดือน พลิกคว่ำพลิกหงาย จับของเปลี่ยนมือ ส่งเสียงจากริมฝีปาก หันหาเวลาเรียกชื่อ
-อายุ 9 เดือน คลาน ลุกนั่ง หยิบของด้วยนิ้ว เลียนเสียงคำพูด ทำตามสั่งง่าย ๆ เมื่อใช้ท่าทาง เล่นจ๊ะเอ๋
-อายุ 1 ปี ก้าวเดิน หยิบของด้วยปลายนิ้ว พูดคำแรก ทำตามสั่งได้ 1 คำสั่ง ชี้บอกสิ่งที่ต้องการ
-อายุ 1 ปี 6 เดือน วิ่งคล่องปีนป่าย เปิดหนังสือที่เป็นกระดาษแข็งได้ พูดเป็นคำได้ 4-5 คำ ชี้อวัยวะได้ 1 ส่วน
-อายุ 2 ปี เตะบอล กระโดด 2 ขา เปิดหนังสือทีละหน้า พูด 2 คำติดกัน ทำตามสั่ง 2 ขั้นตอน ใช้ช้อนตักข้าวเอง
-อายุ 2 ปี 6 เดือน ขว้างบอลเหนือศีรษะ รู้จักข้างบนข้างล่าง ฟังนิทานได้ 5 นาที เริ่มรู้จักการรอ
-อายุ 3 ปี เดินขึ้นบันไดสลับเท้า ยืนขาเดียวได้ 3 วินาที วาดรูปวงกลม พูดเป็นประโยค เล่นเป็นกลุ่ม
-อายุ 3 ปี 6 เดือน ใช้แขนรับบอล รู้จักข้างหน้าข้างหลัง เล่าเหตุการณ์ที่พึ่งผ่านมา รู้จักเพศตัวเอง
-อายุ 4 ปี กระโดดขาเดียว วาดรูปสี่เหลี่ยม เล่าเรื่องให้ผู้อื่นฟังอย่างมีความหมาย ติดกระดุมเอง เล่นบทบาทสมมุติ
-อายุ 5 ปี เดินต่อปลายเท้า จับดินสอถูกต้อง พูดโต้ตอบกับเพื่อน รู้จักสี อย่างน้อย 8 สี

นพ.ปรเมศวร์ ยังทิ้งท้ายด้วยว่า “การเฝ้าดูพัฒนาการของลูกเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ หากพ่อแม่สังเกตว่าลูกมีพัฒนาการล่าช้ากว่าที่ควร แนะนำให้พาเด็กไปพบแพทย์ตรวจและรับคำปรึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขแต่เนิ่น ๆ ต่อไป”..

………………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”