อย่างที่เห็นกันว่าในอดีตกระท่อมเป็นพืชเสพติดที่นิยมใช้ตามวิถีพื้นบ้าน ท่ามกลางกฎหมายที่ยังมีความผิด ก่อนที่ต่อมาจะถูกปลดล็อก เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ภายใต้ข้อห้ามที่ยังมีการควบคุม ไม่ใช่ปล่อย “ฟรี” ทุกเงื่อนไข แต่ท่ามกลางภาวะปลดล็อกทำให้หลายคนเข้าใจว่า “ปลอดภัย” โดยสิ้นเชิง

“ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถาม รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด เพื่อสะท้อนมุมมองหลังปลดล็อกกระท่อมมาพักใหญ่ โดย รศ.พญ.รัศมน เริ่มต้นระบุว่า กระท่อมเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้กันมานาน มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ในกรณี “เคี้ยว” ใบสด ข้อแนะนำคือ ไม่ควรใช้เกิน 5 ใบต่อวัน เพราะหากใช้ในปริมาณไม่มาก จะมีฤทธิ์ “กระตุ้นประสาท” ทำให้บางคนกินแล้วมีพลัง สู้แดด ทนต่อความร้อนได้ แต่หากใช้ปริมาณสูงเกิน 5 ใบต่อวัน จะมีฤทธิ์ “กดประสาท”

ทั้งนี้ กระท่อมจะออกฤทธิ์แก้ปวด ลักษณะคล้ายแต่เบากว่า “เฮโรอีน” และ “มอร์ฟีน” อย่างไรก็ตาม การใช้เป็นเวลาต่อเนื่องนานๆ ก็ทำให้ติดได้ และมีกลไกที่นำไปสู่การเพิ่มจำนวนที่มากขึ้น เพื่อให้ได้ฤทธิ์เท่าเดิม และเมื่อหยุดใช้จะมีอาการ “ลงแดง” แบบอ่อนๆ คือ ท้องเสีย ปวดเมื่อย กระสับกระส่าย วิตกกังวล ครั่นเนื้อครั่นตัว จนทำให้ผู้ใช้ยังคงต้องใช้กระท่อมต่อไป

“การใช้กระท่อมในแบบฉบับพื้นบ้านมีมานานแล้ว และการใช้ในเชิงสิ่งเสพติดก็มีมานานแล้วเช่นกัน โดยพื้นที่ภาคใต้จะพบการใช้มากที่สุด ลักษณะใช้น้ำกระท่อมผสมกับยาแก้ไอ ซึ่งนิยมกันมากในกลุ่มวัยรุ่น แม้ภายหลังกระท่อมจะถูกปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดแล้วก็ตาม แต่การใช้น้ำกระท่อมผสมกับยาแก้ไอ หรือยาชนิดต่างๆ ก็ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่ดี”

รศ.พญ.รัศมน เผยด้วยว่า หลังปลดล็อกจากยาเสพติด มีผู้คนเข้าถึงกระท่อมเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่าง อัตราการใช้ใบกระท่อมสดของกลุ่มประชากรอายุระหว่าง 18-65 ปี มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากเดิมมีผู้ใช้แค่ร้อยละ 1-2 เท่านั้น ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด พร้อมตั้งข้อสังเกตเหตุที่มีการใช้มากขึ้นอาจมาจากความเข้าใจว่าการปลดล็อกคือสามารถใช้ได้ ไม่เป็นไร จึงมีการใช้มากขึ้นทั้งที่ตัวเองไม่ได้จำเป็นต้องใช้ก็ตาม

“จากสถานการณ์ในอดีต กระท่อมมีสถานะเป็นยาเสพติดและผิดกฎหมาย ผู้ที่ใช้กระท่อมอยู่ หากโดนจับก็จะได้รับโทษ แต่เมื่อปลดล็อกแล้ว การรับโทษจะลดลง แล้วปัญหาก็ตามมาคือ ผู้คนอาจมองเห็นว่าใช้ได้ ไม่เป็นไร เลยอาจส่งผลให้มีการใช้กระท่อมกันมากขึ้น ทั้งที่ตนเองไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เลย”

ส่วนภาพการขายน้ำต้มใบกระท่อมบรรจุขวดที่เห็นเกลื่อนกลาดทั่วเมือง รศ.พญ.รัศมน ระบุ เรื่องนี้มองได้หลายส่วน เพราะเมื่อมีการอนุญาตให้ใช้ได้ คนก็จะมองว่าสามารถนำมาใช้กับตัวเองได้ ไม่น่าจะเป็นอะไร ยกเว้นเอาน้ำกระท่อมไปผสมอย่างอื่น ตรงนี้ก็ยังผิดกฎหมายอยู่ เวลามองในมุมสารเสพติดต่างๆ จะมีเรื่องอุปสงค์-อุปทาน ในแง่อุปสงค์มีคนที่อยากทดลองใช้ เพราะปลดล็อกแล้ว ก็แปลว่าปลอดภัยใช้ได้ จึงไปหาซื้อเลยก็น่าดีกว่า อุปทานก็จะตามมา

ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายหากสามารถทำได้ดี ก็จะทำให้คนค้าขายแบบผิดกฎหมายลดลง ขณะเดียวกัน ก็จะไม่ทำให้เกิดโทษสำหรับคนที่นำไปใช้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทำให้ยากขึ้นในการหามาใช้ จนต้องไปต้มน้ำเอง ก็อาจทำให้อุปสงค์ลดลง และทำให้คนทั่วไปสุขภาพดี เพราะไม่ต้องมาเสพติด

หากหวังเพียงความเข้าใจของคนในสังคม ต้องยอมรับว่าแต่ละกลุ่ม แต่ละวัยมีการรับรู้ที่แตกต่าง นอกเหนือการบังคับใช้กฎหมาย จึงต้อง “เติม” ความเท่าทันในโทษจากการใช้ที่ยังมีอยู่ ไม่ได้ถูกปลดล็อกไปพร้อมกฎหมายด้วย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]