วันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) ตรงกับวันที่ 1 ต.ค.ของทุกปี โดยองค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ต.ค.2534 องค์การสหประชาชาติได้ให้ความหมายคำว่า ผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยวันที่ 1 ตุลาคม 2559 องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดแนวทางวันผู้สูงอายุสากล ปี 2016 คือ Take a Stand Against Ageism “ให้โอกาส และบทบาทที่สำคัญแก่ผู้สูงอายุ”

ในประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2547 และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2567 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยจากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า หลังจากปี 2552 ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิงได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ จะมีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน และในปี 2560 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการลดภาวะเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปี 2557 มีผู้สูงอายุมีจำนวน 10,014,705 คน (ร้อยละ 14.9) มีผู้สูงอายุที่ยังคงทำงาน ร้อยละ 38.4 และจากข้อมูลการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี 2558 มีผู้สูงอายุ ร้อยละ 15.6 ของจำนวนประชาการทั้งประเทศ โดยผู้สูงอายุ ร้อยละ 37.3 ยังคงทำงาน และมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่คิดว่าตัวเองเป็นภาระให้กับผู้อื่นอาจจะรู้สึกว่าชีวิตของตนเองนั้นด้อยค่าตามไปด้วย ส่งผลให้พวกเขาเผชิญความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและแยกตัวจากสังคม โดยผลวิจัยชี้ว่า ผู้สูงอายุที่มีทัศนคติต่อความชราภาพไปในเชิงลบจะมีอายุยืนยาวน้อยกว่าผู้สูงอายุที่มีทัศนคติต่อความชราภาพไปในเชิงบวกถึง7.5 ปี การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสทำงาน ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีค่า สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข

Four joyful childhood friends gathered together in outdoor cafe and taking picture of themselves

ปัจจุบันประชากร “วัยสูงอายุ” เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยองค์การสหประชาชาติได้คาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) จะมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี ถึง 1,200 ล้านคน ทั่วโลก และในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) จะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ทั่วโลกถึงเกือบ 2,000 ล้านคนเลยทีเดียว ดังนั้น “วันผู้สูงอายุสากล” ถือเป็นวันสำคัญของผู้สูงอายุทั่วโลก เพราะแต่ละแห่งทั่วโลกจะได้จัดงานเฉลิมฉลองให้กับผู้สูงอายุ เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ให้คนทั่วไปตระหนักว่า ชั่วชีวิตที่ผ่านมาผู้สูงอายุได้สร้างคุณประโยชน์ คุณงามความดีไว้มากมาย รวมทั้งสรรค์สร้างทุกๆ สิ่งมาให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

ในแต่ละประเทศทั่วโลก ล้วนให้ความสำคัญกับวัยสูงอายุเป็นอย่างมาก และมีการกำหนดวันเพื่อเฉลิมฉลอง และตระหนักถึงคุณงามความดีของผู้สูงอายุ อย่างเช่น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” (National Grandparents Day) ของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีวันให้ความเคารพต่อผู้สูงอายุเช่นกัน (Respect for the Aged Day) ซึ่งตรงกับวันจันทร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน ของทุกปี สำหรับในประเทศไทย ได้ตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุเช่นกัน โดยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้กำหนดให้วันที่ 13 เม.ย. ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสงกรานต์ และวันปีใหม่ของไทย เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 

อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกกำหนดขึ้น คือ “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์แทนของผู้สูงอายุ โดยมีที่มาที่ไปเนื่องจากต้นลำดวนหรือหอมหวล (Melodorum fruticosum Lour) ตามชื่อไทยพื้นเมือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sphaerocoryne clavipes จัดอยู่ในวงศ์ Annonaceae เป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คอยให้ความร่มเย็น ลำต้นของลำดวนมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรมคุณงามความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป

เมื่อทราบความสำคัญของ “วันผู้สูงอายุ” แล้ว.. ขอให้ทบทวนว่า เราได้เอาใจใส่ต่อผู้สูงอายุแล้วหรือยัง อย่ารอช้า! รีบไปแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านทันที แต่เดี๋ยวก่อนไม่ใช่ทำแค่วันนี้นะ ขอให้ทำทุกวันตลอดไป

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต