ในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คนั้นเป็นโลกแห่งการโอ้อวด ใครมีของอะไรอยากโชว์ก็เอามาโชว์ ใครที่คิดว่าความคิดตัวเองเก๋ๆ ดีๆ ก็เอามาพิมพ์เล่าสู่กันฟังกะว่าจะได้กระแสชื่นชม แต่ก็อย่างว่า คือคนในอินเทอร์เนตร้อยพ่อพันแม่ ดราม่าง่ายเหลือเกิน บางเรื่องคนโพสต์ไม่ได้คิดอะไรก็ยังมีดราม่าได้ หลายคนที่ใช้เวลาอยู่กับโลกโซเชี่ยลฯ นานๆ เจอดราม่าทีก็อินลึกไปหน่อย จนบางคนแทบไม่อยากโพสต์อะไรกลัวคนแปลกหน้าเข้ามาด่าให้ประสาทเสีย หรือไม่ก็โพสต์รูปหมาแมวน่ารักๆ ไป โอกาสดราม่าน้อย

เรื่องที่ดราม่ากันบ่อยมากๆ คือเรื่องการเมือง เพราะความขัดแย้งทางความคิด พอตอบโต้กันด้วยเหตุผลไม่ได้ก็ใช้วิธีด้อยค่าอีกฝ่าย หรือใช้วิธี“ขุด”แบบว่าเคยทำอะไรพลาดก็เอามาประจาน จริงๆ มันก็มี ฯลฯ เรื่องให้ดราม่า ( ซึ่งน่าจะนิยามได้ว่า คือการเถียงกันแบบไม่รู้ให้ได้อะไรขึ้นมา ) เยอะแยะ ..แต่หลังๆ นี้เวลาจะดราม่าอะไรกันก็ต้องระวังตัวมากขึ้น เพราะ“คู่กรณี”เริ่มจะหัวหมอ แบบว่าปล่อยให้ด่าไปเลย รอฟ้องรับคำขอโทษเป็นเงินสด คราวนี้พวกไม่มีเงินแต่ไปดราม่าด่าเขาปาวๆ ก็ไหว้สวย รวยกระเช้า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปตามระเบียบ

ล่าสุด มีกระแสหนึ่งที่น่าสนใจและถูกหยิบยกมาพูดถึงในโลกอินเทอร์เนต คือมี“คุณพ่อ”รายหนึ่งที่เอาเรื่องตัวเองสอนลูกมาเล่าสู่กันฟังแล้วก็ถูกแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก  พร้อมกับเสียงวิจารณ์รึ่ม ..เรื่องมันมีอยู่ว่า ลูกชายของคุณพ่อรายนี้ไม่ยอมไปโรงเรียน ทางฝั่งแม่ก็ไม่รู้จะทำไงก็เลยโทรบอกพ่อ พ่อก็บึ่งมาจากที่ทำงานมาสอนลูกชายโดยให้ไปเก็บขยะ ..แล้วก็บอกทำนองว่า “ถ้าสมมุติว่า ไม่ขยันเรียน ความรู้น้อย ก็ทำได้แค่งานง่ายๆ แต่เหนื่อยและลำบากแบบเก็บขยะ” ก็มีคนที่เข้าไปทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งแชร์ไปมากมาย

ฝ่ายที่เห็นด้วยก็ไม่ได้ผิดหรอก เพราะชุดความคิด ความเชื่อมันไม่มีความถูกต้องแท้จริง แต่มันขึ้นอยู่กับคุณคิดจะยึดถือชุดความเชื่อไหน ปัจจัยต่อการยึดชุดความเชื่อก็อาทิเช่น ทัศนคติเดิม การได้รับการสั่งสอน สิ่งแวดล้อมที่สังเกต ประสบการณ์ที่ผ่านมา ..คนที่เชื่อว่า “ความรู้น้อยแล้วต้องไปเก็บขยะ เป็นงานลำบาก” เขาก็อาจเชื่อในระบบที่ประเทศนี้บูชาปริญญา ว่าคือ “ใบเบิกทางที่สำคัญสำหรับชีวิต จะใหญ่โตเป็นเจ้าคนนายคนได้ต้องเรียนจบสูงๆ เป็นที่ต้องการของระบบ และต้องแบ่งงานกันว่า คนมีปริญญาคือสายมันสมอง และคนไม่มีปริญญาคือสายที่ต้องใช้แรงงาน

และในประเทศไทยก็หมิ่นงานประเภทเก็บขยะอยู่แล้วว่า เป็นงานที่ได้เงินน้อย งานสกปรก..เอาเป็นว่าถ้าพูดกันแบบยึดความเชื่อว่าสังคมมีชนชั้น ก็เป็นชนชั้นแรงงานในระดับล่าง ซึ่ง “ความฝัน”ของชนชั้นกลางล่างถึงล่าง คือ หลุดพ้นจากงานประเภทนี้ไปทำงานอะไรที่ได้นั่งโต๊ะ ได้สั่งคนดูเป็นเจ้าคนนายคน ทำให้เกิดชุดความเชื่อสำหรับชนชั้นกลางล่างถึงล่างที่ไม่อยากจำนนกับโชคชะตาประเภท “จนยันลูกหลาน” ว่าจะต้องเรียนสูงๆ  …คุณพ่อท่านนี้ก็คงยึดแนวคิดเดียวกันว่า ถ้าไม่อยากทำงานในโครงสร้างส่วนล่าง ก็ต้องใช้ใบปริญญาเป็นตัวเบิกทาง ต้องเรียนให้สูง

แต่ในยุคที่ประเทศไทยมีการปฏิรูปทางความคิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเริ่มตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ต่างๆ มากขึ้นว่า มันควรจะมีการปฏิวัติ ( revolution ) วิธีคิด สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อเป้าหมายที่สำคัญคือความเท่าเทียม ไม่ควรมีอัตลักษณ์ไหนที่ด้อยกว่าอัตลักษณ์ไหน ทั้งอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไม่ได้ เช่น เพศ เชื้อชาติ ความพิการ หรืออัตลักษณ์ที่เปลี่ยนได้อย่างศาสนา อาชีพ ระดับการศึกษา แต่ละอัตลักษณ์มีคุณค่าที่เราต้องตระหนัก และส่งเสริมเพื่อให้เขาสามารถดึงเอาศักยภาพออกมาใช้ได้มากที่สุดโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงื่อนไขทางสังคมกดทับ

อย่างเป็นพนักงานเก็บขยะ มุมมองในสายสมัยใหม่เขาก็จะมองว่า มันเป็นอาชีพที่เสียสละ เพราะต้องอยู่กับความเสี่ยงภัยทางสุขอนามัยเพื่อแลกกับเงินเดือนและสวัสดิการที่ไม่คุ้มค่า ดังนั้น เมื่อเทียบกับ “สิ่งที่เขาต้องแลก” มันก็ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนสวัสดิการหรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนทำงานเหล่านี้หรือไม่ หรือกระทั่งว่า สร้างวิธีคิดใหม่ที่ไม่ดูถูกว่าเป็นงานต่ำต้อย แต่เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะความสามารถด้วยซ้ำไป

นั่นคือต้องมีความรู้ในการจัดการขยะ .. เอาง่ายๆ   เราต้องยอมรับกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีวินัยเรื่องการแยกขยะและการทิ้งขยะ มีการทิ้งขยะชิ้นเล็กข้างทางบ่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีตามท้องถนน เราเห็นคนทิ้งก้นบุหรี่ ซึ่งมันดูอันเล็กๆ แต่เอาจริงคือเวลาฝนตก น้ำขังระบายไม่หมด พนักงานจัดการขยะไปล้วงท่อดูก้นบุหรี่กับถุงพลาสติกนี่ทำให้อุดตันเสียเยอะ  ปัจจุบันนี้หลายหาดห้ามสูบบุหรี่บนหาด เพราะก้นบุหรี่ปลิวลงทะเลไปรวมกับขยะในทะเล ทำให้พวกสัตว์น้ำเข้าใจผิดเผลอกินแล้วลำไส้อุดตันตาย

ความมักง่ายที่เกิดขึ้นในการทิ้งขยะทำให้การระบายน้ำอุดตัน เคยเห็นภาพข่าว กทม.ขุดลอกคูคลอง ถึงกับต้องอุทานแม่เจ้ากันเลยทีเดียว เพราะมีพวกทิ้งเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลังลงแม่น้ำหน้าตาเฉยโดยไม่แยกชิ้นส่วน แล้วในยุคโควิดนี่ นโยบายลดละเลิกการใช้พลาสติกนี่เห็นทีว่า “ต้องเอาไว้ก่อน” เอาแค่การสั่งอาหารดิลิเวอรี่ก็มีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจนขนหัวลุกแล้ว แม้จะออกนโยบายลดการใช้ถุงกันแค่ไหนก็ตาม ..โดยภาพรวม ขยะมันมีหลายประเภท ทักษะเบื้องต้นคือการแยกขยะ ในส่วนทีรีไซเคิลได้ก็ต้องแยกทำความสะอาดเพื่อรีไซเคิล รู้สถานที่จะรีไซเคิลได้

แล้วก็ยังมีพวกขยะอันตรายอีก อย่างในยุคโควิด หน้ากากอนามัยหรือขยะติดเชื้ออื่นคือขยะอันตราย ที่คนเก็บขยะต้องรู้วิธีเก็บกำจัด หรือไม่ใช่ยุคโควิด ประเทศเราก็ทิ้งขยะอันตรายแบบไม่ค่อยระวัง อย่างหลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ , ถ่านไฟ ,กระทั่งขยะอันตรายจากโรงพยาบาลก็เคยมีข่าวว่ามีคนมักง่ายเอาเข็มฉีดยาเก่าไปทิ้งป่าละเมาะข้างทาง …เมื่อก่อนมีข่าวน่ากลัวเกี่ยวกับเรื่องขยะอันตรายขนาดว่าซาเล้งไปเก็บเอากากนิวเคลียร์แล้วมือเน่าเละมาแล้ว

ดังนั้น การเก็บขยะเอาเข้าจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายแค่ประเภทเดินเก็บเอาข้างทาง อะไรขายได้อย่างกระป๋อง, ขวดเหล้าขวดเบียร์, ขวดพลาสติก ก็เอามาชั่งกิโลขาย การเก็บขยะมีหลักการในการเก็บและการทำลายมันด้วย เพื่อให้การเก็บขยะนำไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหามลพิษ และจัดการได้ทันต่ออัตราการผลิตขยะใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน  

เผลอๆ มันเป็นวิชาที่ควรจะเรียนกันตั้งแต่เด็กๆ เพื่อเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมก่อน ให้เข้าใจเรื่องการทิ้งขยะเรี่ยราด ไม่แยกขยะ มีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร พอโตขึ้นก็เรียนเรื่องวิธีกำจัดขยะ ไปจนถึงวิธีบำบัดน้ำเสีย ซึ่งประเทศเราก็มีผู้ประกอบการหลายเจ้ามักง่าย ทิ้งน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ

มันมีตั้งหลายวิธีที่จะสอนเด็กให้เป็น “พลเมืองสังคม” หรือ “พลเมืองโลก” ที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างในเชิงยกตนข่มท่าน เชิงเปรียบเทียบว่าอาชีพไหนต่ำต้อยกว่ากัน ..ถ้าจะยกตัวอย่างอาชีพต่ำๆ ให้เด็กเข้าใจ ก็ยกตัวอย่างพวกมิจฉาชีพอย่าง น.ส.พิยดาโกงเงินเด็ก ว่านั่นแหละคืองานต่ำ และเราต้องรู้ให้เท่าทันมิจฉาชีพ แต่งานประเภทไหนเป็นงานสุจริตนี่ควรสอนว่าไม่ควรดูถูก และสอนด้วยว่า “เกียรติ-องค์ความรู้”ที่ต้องใช้ในแต่ละงานมันเป็นอย่างไร ทักษะเฉพาะที่ต้องเรียนรู้ในแต่ละงานเป็นอย่างไร เพื่อเป็นกุศโลบายให้เด็กๆ มีแรงบันดาลใจดีกว่าว่า “ถ้าเราจะสร้างสังคมที่ดี เราจะพัฒนางานอะไรที่ถูกหลงลืมและต้องให้ความสำคัญมากขึ้น”

สำหรับกรณีพ่อแม่ที่มีปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน ก็เห็นหลายเพจแนะนำแล้วว่า ควรต้องพูดคุยและสังเกตดีๆว่า เกิดจากอะไร ลูกมีอาการผวาแต่ไม่กล้าพูดหรือไม่ เพราะบางทีลูกอาจถูกทำร้าย ..อย่างที่มีข่าวปีก่อนโรงเรียนเครือใหญ่ชื่อดังถูกเอากล้องวงจรปิดมาประจานว่า มีครูผู้ช่วยทำร้ายเด็ก ซึ่งความกลัวก็ทำให้เด็กไม่กล้าพูดแต่งอแง ..หรือเด็กโตขึ้นมาหน่อยอาจไม่ได้มีปัญหากับครู แต่ถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง  การแก้ปัญหามันต้องหาสาเหตุของปัญหาไม่ใช่ไปประชดอย่างไม่เรียนหนังสือก็ต้องไปเก็บขยะ เพราะมันจะกลายเป็นใช้ความรุนแรงผลักไสลูกหลานที่ถูกกระทำรุนแรง..ซ้ำรอยไปอีก

ก็เป็นเรื่องชวนฝากไว้ให้คิดในอาทิตย์นี้.

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”
ขอบคุณภาพจาก : Unsplash