กรมทางหลวง (ทล.) เผยโฉมการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง 2 โปรเจคท์ มัดรวมวงเงิน 2,470 ล้านบาท ถูกใจนักขับสายถนน พิกัดแรก โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ ทางเลี่ยงเมือง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ระยะทาง 7.86 กม. งบประมาณ 950 ล้านบาท สถานะโครงการอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อขอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีงบฯ 66 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จปี 69  

สำนักสำรวจและออกแบบ ได้จ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบโครงการมีจุดเริ่มต้นบนทางหลวงหมายเลข 212 (หนองคาย–อุบลราชธานี หรือ ถนนชยางกูร ) เลยสะพานข้ามลำน้ำก่ำ ไปจนถึงบริเวณก่อนทางโค้งบ้านดงคราม จากนั้นแนวเส้นทางเกาะไปตามขอบพื้นที่ของกรมชลประทานบริเวณลำน้ำก่ำ เมื่อออกจากพื้นที่บ้านดงครามแล้วจะเบี่ยงแนวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตัดแนวรถไฟสายใหม่สายบ้านไผ่-นครพนม และทางหลวงชนบท นพ.3048 ข้ามห้วยแคน แล้วไปบรรจบจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางหลวงหมายเลข 212 ประมาณหลัก กม.ที่ 364 ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ต.ธาตุพนม ต.ธาตุพนมเหนือ ต.ฝั่งแดง ต.น้ำก่ำ และต.พระกลางทุ่ง  

รูปแบบโครงการเป็นถนนคอนกรีตขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบร่องกว้าง 9.10 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50  เมตรและด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร เขตทางกว้าง 60 เมตร มีรายละเอียดงานออกแบบ 4 จุดตัดสำคัญดังนี้ 

1.ทางแยกบริเวณลำน้ำก่ำ กม.1+006 จุดตัดทางหลวงหมายเลข 212 ที่จะเลี้ยวขวาเข้าสู่ อ.ธาตุพนม เส้นทางไปวัดพระธาตุพนม ออกแบบเป็นสามแยกระดับพื้น ควบคุมด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร 2.ทางแยกจุดสิ้นสุดโครงการ กม.8+606 จุดตัดทางหลวงหมายเลข 212 เลี้ยวซ้ายไปนครพนม เลี้ยวขวาไป อ.ธาตุพนม ออกแบบเป็นสามแยกระดับพื้น ควบคุมด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร  

3.จุดกลับรถ กม.4+795 ออกแบบเป็นลักษณะวงเวียนขนาด 1 ช่องจราจร ทั้ง 2 ทิศทางอยู่ใต้โครงสร้างสะพานที่ยกระดับข้ามทางหลวงชนบท นพ.3048 โดยจุดกลับรถนี้เชื่อมทางหลวงชนบทสาย นพ.3049 และ 4.สะพานข้ามลำน้ำ และสะพานข้ามถนนท้องถิ่น ออกแบบเป็นสะพานคู่แยกซ้ายทางและขวาทางด้านละ 2 ช่องจราจร สะพานกว้าง 12.00 เมตรต่อทิศทาง (รวมราวสะพาน) มีไหล่ทางทั้งด้านในและด้านนอก 

ใจความสำคัญของทางเลี่ยงเมืองธาตุพนม  อยู่ในแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงจังหวัดนครพนม ซึ่งรัฐบาลประกาศให้จ.นครพนม เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากเป็นประตูเศรษฐกิจการค้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ชายแดนติด สปป.ลาว เชื่อมโยงเส้นทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)  

ทางเลี่ยงเมืองธาตุพนม จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ช่วยให้รถบรรทุกขนาดใหญ่มาใช้เส้นทางเลี่ยงเมืองเพื่อลดผลกระทบด้านการสั่นสะเทือนต่อพระธาตุพนม ศาสนสถานสำคัญศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ

อีกโครงการคือทางเลี่ยงเมือง อ.สว่างแดนดิน (ด้านเหนือ) จ.สกลนคร ขนาด 4 ช่องจราจรระยะทาง 14 กม. งบประมาณ 1,520 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานนโยบายแผนและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบภายในปี 65 จากนั้นจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินได้ในปี 66 และก่อสร้างประมาณปี 67 แล้วเสร็จปี 70 

โครงการมีจุดเริ่มต้นที่ กม.74+183 บนทางหลวงหมายเลข 22 สายอุดรธานี–สกลนคร–นครพนม พื้นที่ ต.สว่างแดนดิน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร  ทิศทางมุ่งทิศเหนือและทิศตะวันออก ตัดทางหลวงหมายเลข 2091 และทางหลวงหมายเลข 2280 จากนั้นทิศทางมุ่งทิศใต้มาบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 22 ที่ กม.82+905 พื้นที่ ต.ทรายมูล อ.สว่างแดนดิน  ครอบคลุมพื้นที่ ต.สว่างแดนดิน ต.โพนสูง  ต.บ้านถ่อน และ ต.ทรายมูล อ.สว่างแดนดิน มีรูปแบบเป็นถนนคอนกรีตตัดใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านใน 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอก 2.50 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางชนิดกดร่อง (Depressed Median) กว้าง 9.10 เมตร  

เนื่องจากเส้นทางในพื้นที่ อ.สว่างแดนดิน มีเขตทางแคบเป็นข้อจำกัดในการขยายช่องจราจร ประกอบกับแนวเส้นทางบางช่วงยังวิ่งผ่านเข้าตัวเมือง ทำให้เกิดปัญหาการจราจรและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง  

จึงออกแบบแก้ปัญหาและรองรับปริมาณการจราจรในอนาคตเพื่อลดจุดพีคให้ระบายรถได้ลื่นไหลใน 8 จุดตัด ด้วยการก่อสร้างทางต่างระดับ สะพานต่างระดับและสะพานบกเพื่อให้กลับรถใต้สะพานรวมทั้งใช้ระบบวงเวียนเพื่อลดสัญญาณไฟจราจร เมื่อก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแล้วเสร็จ จะยังประโยชน์ในการบรรเทาความแออัดของการจราจรจากรถบรรทุกที่ผ่านเข้า อ.สว่างแดนดิน เชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงหมายเลข 22-ทางหลวงหมายเลข 2091-ทางหลวงหมายเลข 2280 อ.สว่างแดนดิน ไปยัง จ.อุดรธานี จ.บึงกาฬ จ.สกลนคร และ สปป.ลาว ได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น  

ตามนโยบาย อัพสปีด วิ่งฉิว ของเจ้ากระทรวงคมนาคม ศักด์สยาม ชิดชอบ  และวิชั่น “ระบบทางหลวงที่สะดวกปลอดภัยเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ” 

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง…