โดยได้เค้าโครงเรื่องมาจากมหากาพย์รามายณะของอินเดีย เนื้อเรื่องเป็นการทำสงครามระหว่างกองทัพพระรามและทศกัณฐ์ ซึ่งเนื้อเรื่องมีความสนุกสนานและตัวละครมากมาย ทั้งยังให้คติเตือนใจในการปกครองและการประพฤติตนในเรื่องความสามัคคี ความเสียสละ ความอดทน ความซื่อสัตย์ และความกล้าหาญ
พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงทำนุบำรุงศิลปะการแสดงโขน และพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สำหรับจัดการแสดงตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาล ที่ 1 ทรงรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ให้สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์เพื่อทรงให้ละครหลวงเล่น หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงดัดแปลงเพื่อใช้ในการเล่นโขน นอกจากนี้ การแสดงโขนยังเป็นการแสดงสำคัญในการต้อนรับพระราชอาคันตุกะทุกครั้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน ยุคสมัยเปลี่ยนไปตามสังคมโลก การชมการแสดงมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น การแสดงโขนเริ่มได้รับความนิยมลดลง ดังเห็นได้จากในปี พ.ศ. 2546 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ความสำคัญว่า “การแสดงโขนกำลังซบเซา ขาดคนดู” ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ศิลปวัฒนธรรมทุกแขนง ทั้งงานด้านศิลปาชีพ และศิลปะการแสดง ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยต่อศิลปะการแสดงโขน ที่นับวันประชาชนและเยาวชนจะไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร จึงมีพระราชเสาวนีย์ว่า “ไม่มีใครดู แม่จะดูเอง”
ดังนั้น การอนุรักษ์และการพัฒนาการแสดงโขนจึงกลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาการแต่งหน้าโขนให้มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ และจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนให้ประณีตงดงามตามแบบโบราณ เพื่อเป็นการรักษาฝีมือเชิงช่าง ทั้งงานพัสตราภรณ์ การปักสะดึงกรึงไหม งานถนิมพิมพาภรณ์เครื่องประดับโดยช่างเงินช่างทอง งานศิราภรณ์ การสร้างเครื่องประดับศีรษะ หัวโขน ให้ประณีตงดงาม และให้พัฒนาการแสดงโขนให้ทันสมัยเหมาะสมกับสังคมยุคใหม่ จึงทำให้เกิดมีการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตามพระราชเสาวนีย์ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550
การแสดงโขนโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้จัดแสดงในตอน “พรหมาศ” เป็นปฐมทัศน์ เนื่องในโอกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเนื่องในโอกาสมหามงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา เป็นการแสดงตามบทคอนเสิร์ตของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประกอบด้วย วงโยธวาทิต ระหว่างวันที่ 24-25 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
การจัดแสดงโขนโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมาก สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย คนหนุ่มสาวและเยาวชนจำนวนมากให้ความสนใจเข้าชมโขน และยังพาผู้สูงวัยของครอบครัวเข้าชมโขนอย่างเนืองแน่น นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ยังความปลาบปลื้มสู่คณะผู้จัด และเป็นที่ทรงพอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนพระราชทาน ให้คณะกรรมการศึกษาพัฒนาการแสดงโขนให้งดงามยิ่งขึ้น และปรับปรุงการแสดงให้เหมาะสมกับยุคสมัย จึงได้มีการแสดงโขนเต็มรูปแบบขึ้นใหม่ ต่อมาจึงใช้ชื่อว่า “โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ”
ในปี พ.ศ. 2552 มีการแสดงโขนในชุด “พรหมาศ” อีกครั้ง เมื่อวันที่ 15-21 มิถุนายน ซึ่งปรับให้เป็นการแสดงโขนโดยใช้วงปี่พาทย์แบบการแสดงโขนตามประเพณี และสร้างฉากเครื่องแต่งกายเพิ่มเติมใหม่, ในปี พ.ศ. 2553 จัดการแสดงตอน “นางลอย”, ในปี พ.ศ. 2554 จัดการแสดงตอน “ศึกไมยราพ”, ในปี พ.ศ. 2555 จัดการแสดงตอน “จองถนน”, ในปี พ.ศ. 2556 จัดการแสดงชุด “ศึกกุมภกรรณ” ตอน “โมกขศักดิ์”, ในปี พ.ศ. 2557 จัดการแสดงชุด “ศึกอินทรชิต” ตอน “นาคบาศ”, ในปี พ.ศ. 2558 จัดการแสดงชุด “มังกรกัณฐ์” และ “พรหมาศ” ปี พ.ศ. 2559 งดการจัดแสดง ด้วยเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต คนไทยทั้งประเทศอยู่ในช่วงการน้อมอาลัย ต่อมา ในปี พ.ศ. 2560 โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ร่วมแสดงมหรสพเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ ท้องสนามหลวง ในวันที่ 26 ตุลาคม ในตอน “รามาวตาร” และ “ขับพิเภก”, ในปี พ.ศ. 2561 จัดการแสดงตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” เป็นปีเดียวกันกับที่ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” ขึ้นทะเบียน “โขน” เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” ซึ่งนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยรายการแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
ไม่เพียงรวบรวมศาสตร์หลายแขนงไว้ในการแสดง ทั้งดนตรี วิจิตรศิลป์ พัสตราภรณ์ และวรรณกรรม หากคุณค่าของ “โขน” ยังอยู่ที่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พบทั้งการแสดงในราชสำนัก ไปจนถึงการฝึกสอนในสถานศึกษา และระดับชาวบ้าน เป็นการแสดงที่มีการปฏิบัติสืบทอดอยู่ทั่วประเทศ นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ครั้งที่ 13 ที่เมืองพอร์ตหลุยส์ ประเทศมอริเชียส พิจารณาขึ้นทะเบียน “โขน” เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดการแสดงตอน “สืบมรรคา” และด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปี พ.ศ. 2563-2564 จึงงดการแสดง ทว่าศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยก็กลับมาจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่สมกับการตั้งตารอคอยอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2565 จัดการแสดงตอน “สะกดทัพ” ทั้งนี้ ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงโขนรอบปฐมทัศน์ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2566 มีการจัดแสดงโขนตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” กำหนดจัดการแสดงในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม
การแสดง โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีความงดงามถูกต้องตามจารีตโขนละครหลวง แบ่งองค์ประกอบที่สำคัญของการจัดทำบทประพันธ์เป็น 3 ส่วน ดังนี้คือ การคัดเลือกตอน การดำเนินเรื่องโขน และการแสดงเบิกโรง จุดเด่นที่สำคัญของการดำเนินเรื่องคือการเรียบเรียง จัดทำบทโขน มีการตัดบางฉากที่เป็นพลความของเรื่องที่ทำให้การดำเนินเรื่องช้าออกไป ทำให้โขนมีการดำเนินเรื่องที่กระชับ และมีการแต่งบทพากย์เจรจาขึ้นใหม่บางส่วน
นอกจากนี้ ยังมีการคัดเลือกนักแสดงโขนรุ่นใหม่ของมูลนิธิศิลปาชีพฯ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 ในชุด “นางลอย” โดย เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจจากทั่วประเทศเข้ามาฝึกประสบการณ์การแสดงโขนในเวทีระดับประเทศ ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการและศิลปินผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกตัวพระ ตัวยักษ์ ตัวนาง ส่วนการจัดสร้างฉาก แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ฉากแบบลอยตัวที่จะมีขนาดสอดคล้องกับพื้นที่ของเวที และเน้นการใช้สอยของฉากการแสดงได้จริง ฉากที่เป็นภาพวาดมีการใช้เทคนิคแสงเงาทำให้ภาพดูมีมิติลึกกว้าง และเทคนิคต่าง ๆ บนเวทีการแสดง มีการเปลี่ยนแปลงฉากอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องปิดไฟหรือไม่ต้องปิดม่านลง
มีการใช้ควันและระบบแสง โดยการปรับแสงให้มืดและสว่างในช่วงการแสดงช่วยเสริมให้ตัวละครดูสวยงามหรือช่วยสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างเนื้อเรื่อง ฉาก ตัวละคร และผู้ชม เช่น ในการแสดงชุดนางลอย ในฉากที่นางเบญจกายแปลงกายเป็นนางสีดาแล้วลอยน้ำมา มีคลื่นน้ำและหมอกควันซึ่งให้อารมณ์เหมือนตอนรุ่งสาง รวมทั้งมีการใช้สลิงประกอบการแสดง เนื่องจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์มีเนื้อหาแบบจินตนาการ ดังนั้นเพื่อช่วยให้การแสดงมีความสมจริงและสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชม ก่อนการแสดงนักแสดงจึงต้องมีการฝึกซ้อมกับสลิงก่อนการแสดงเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความพร้อมเพรียงของนักแสดง เช่น ฉากหนุมานตีลังกากลางอากาศ เป็นต้น
เครื่องแต่งกายโขน ถือได้ว่าเป็นงานประณีตศิลป์ของไทยที่ต้องอาศัยความชำนาญของศิลปิน และใช้เทคนิคที่ละเอียด เช่น การปักชุดโขน การประดับติดกระจกเครื่องประดับ เป็นต้น แต่ยุคหลัง ๆ วัสดุอุปกรณ์บางชนิดที่ใช้ในการจัดทำเครื่องแต่งกายโขนเป็นวัสดุที่หายาก มีราคาแพง ส่งผลให้รายละเอียดของเครื่องแต่งกายโขนถูกลดทอนลง ขาดความงามทางสุนทรียะ ทั้งนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระราชปณิธานสืบสานจรรโลงโขนซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของชาติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการศึกษารูปแบบเครื่องแต่งกายโขน ละครแบบโบราณ รวมไปถึงการรื้อฟื้นงานประณีตศิลป์ของไทยที่กำลังขาดผู้สืบทอดให้กลับมาได้รับการฝึกหัด ถ่ายทอดให้กับนักเรียนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเครื่องแต่งกายโขน ประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ พัสตราภรณ์ ศิราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์โขน หัวโขน และการแต่งหน้าโขน
สำหรับ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในปีนี้ มีกำหนดเปิดการแสดงในระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน–วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งในปีนี้นับเป็นปีมหามงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย เป็นปีที่มีการเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคล ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 และ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ร่วมเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคลนี้ ด้วยการ จัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร” โดยยึดแนวบทละครเรื่องรามเกียรติ์ บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
การจัดแสดงโขนครั้งนี้ จับตอนตั้งแต่ทศกัณฐ์สั่งให้มารีศแปลงกายเป็นกวางทองเข้าไปล่อลวงพระรามให้ตามกวาง แล้วลักพาตัวนางสีดาขึ้นราชรถเหาะไปยังกรุงลงกา เป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างกองทัพพระรามและทศกัณฐ์ ซึ่งนอกจากการแสดงที่วิจิตรงดงามที่แสดงโดยนักแสดงเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์จนมีฝีมือการร่ายรำอันงดงามถูกต้องตามจารีตแล้ว ผู้ชมจะได้รับฟังการบรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงไทยอันไพเราะ รับชมความวิจิตรของเครื่องแต่งกายอันประณีต พบกับความพิเศษของสุดยอดฉากการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตระการตาของพระ จักราวตาร ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อการแสดงโขนที่ยิ่งใหญ่
นับเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว ที่ โขนมูลนิธิ ส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้จัดการแสดงเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ชื่นชมความงดงามของศิลปะดั้งเดิมของไทยหลากหลายแขนง ในการแสดงโขน ซึ่งนับเป็นความโชคดีของคนไทยและประเทศไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงส่งเสริมและสนับสนุนการแสดงโขนอย่างเอาพระทัยใส่ทุกมิติ นาฏศิลป์อันทรงคุณค่าของชาติไทยแขนงนี้จะธำรงสืบทอดไปอีก ตราบนานเท่านาน
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็น “ขวัญกำลังใจสูงสุด” ในการดำเนินงานจัดแสดง “โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ” คือพระราชดำรัสแห่ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้ ความสำคัญว่า “ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน”
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ที่ทรงเห็นคุณค่างานศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ที่บรรพชนไทยได้สั่งสมและสืบทอดภูมิปัญญากันมาแต่โบราณ ด้วยพระอัจฉริยภาพทางศิลปะ และน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาต่อชาวไทย ทรงส่งเสริมทั้งอาชีพด้านศิลปหัตถกรรม ศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ทรงอุทิศพระองค์เพื่ออนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมของชาติประดับไว้เป็นศิลป์แห่งแผ่นดิน พระองค์ทรงเป็นศิลปินยิ่งใหญ่ผู้ทรงปกปักรักษางานศิลปะ จึงทรงได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัคราภิรักษศิลปิน” อันหมายถึง “ศิลปินยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ”
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรม ราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 92 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2567 ขอน้อมอาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์พิสิฐศรี ถวายพระพรพระพันปี ทรงพระเจริญ…
……………………………………………
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า ทีมข่าวสตรีเดลินิวส์