“ผมคิดอยู่ตลอดว่า ที่ไหนก็อาจยุบลงไปได้ และผมน่าจะเสียชีวิตอยู่ที่ก้นหลุมแน่นอน แต่ถึงอย่างนั้น ผมต้องทำงานเพื่อไม่ให้ครอบครัวอดตาย” ซิก กล่าว
ผู้สันทัดกรณีหลายคนกล่าวว่า แม้พื้นที่ดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคอานาโตเลียตอนกลาง มีหลุมยุบหลายหลุมมานานหลายร้อยปี แต่จำนวนของหลุมยุบก็มีมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภัยแล้งที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการใช้บ่อน้ำเพื่อการชลประทานมากเกินไป
หลุมยุบหลายแห่งมีความลึกมากถึง 50 เมตร และไม่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล แต่พบได้ทั่วไปในไร่ข้าวโพด, สวนบีตรูต, ทุ่งข้าวสาลี และทุ่งโคลเวอร์ที่กระจายอยู่ตามที่ราบคอนยา
“หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดหลุมยุบเหล่านี้ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ” นายอารีฟ เดลีคาน รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคนิคคอนยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดคอนยามีหลุมยุบประมาณ 640 หลุม และในจำนวนนี้อยู่ในเขตคาราปินาร์มากกว่า 600 หลุม
เดลีคาน และสำนักงานบริหารจัดการภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินของตุรกี (เอเอฟเอดี) ระบุถึงการเปลี่ยนรูปร่างของพื้นผิว และรอยแยกที่ไม่เกิดจากแผ่นดินไหว มากกว่า 2,700 กรณี ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของการเกิดหลุมยุบ และจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ
อนึ่ง หลุมยุบเกิดขึ้นเมื่อน้ำกัดเซาะชั้นหินแข็ง จนกลายเป็นโพรงหรือช่องว่างใต้ผิวดิน และเกิดการยุบตัวในเวลาต่อมา ซึ่งมันอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจาก “การกระทำของมนุษย์” ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งหลุมยุบอาจปรากฏขึ้นอย่างช้า ๆ หรือทรุดตัวอย่างกะทันหันโดยแทบไม่สัญญาณเตือนล่วงหน้าได้เช่นกัน
ในช่วงฤดูหนาว ปริมาณน้ำฝนในจังหวัดคอนยา ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 40% ส่งผลให้เกษตรกรในภูมิภาคที่ผลิตข้าวสาลีและบีตรูตของตุรกี ในสัดส่วน 36% และ 35% ตามลำดับ เผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางคนพยายามแก้ปัญหาน้ำไม่พอใช้ ด้วยการขุดบ่อน้ำอย่างผิดกฎหมาย แต่นั่นกลับทำให้ชั้นหินแข็ง อ่อนตัวยิ่งกว่าเดิม
“ภูมิภาคแห่งนี้สูญเสียน้ำผิวดิน เนื่องจากภัยแล้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรจำนวนมากจึงหันไปใช้น้ำบาดาลที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน เพื่อการชลประทาน” เดลีคาน กล่าวเสริม
ขณะเดียวกัน บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แม้น้ำฝนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อภูมิภาคที่ขึ้นชื่อว่า “อู่ข้าวอู่น้ำ” แต่ฝนที่ตกลงมาก็อาจเป็นอันตราย รวมถึงเพิ่มแรงกดดันให้กับชั้นหินแข็ง และเร่งกระบวนการทรุดตัวได้
กระนั้น ผู้ประกอบการหัวใสบางคนก็หาวิธีเปลี่ยนวิกฤติหลุมยุบ ให้กลายเป็นโอกาสสร้างรายได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การเปิดโรงแรมหรูในโรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง ที่มีอายุ 800 ปี ซึ่งตั้งอยู่ริมขอบหลุมยุบที่เก่าแก่ที่สุด และมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของตุรกี.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP