ประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส ผู้นำเฮติ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังกลุ่มชายฉกรรจ์ซึ่งเป็น “ทหารรับจ้าง” เข้าไปภายในบ้านพักของโมอิส ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ แล้ว “กระทำการอันเหี้ยมโหดและป่าเถื่อน” กับผู้นำเฮติ ซึ่งสิ้นใจในที่เกิดเหตุจากบาดแผลฉกรรจ์ ที่เป็นผลจากกระสุนปืน ส่วนนางมาร์ทีน โมอิส สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของเฮติ ได้รับบาดเจ็บสาหัส และมีการส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐ

การถึงแก่อสัญกรรมของประมุขแห่งรัฐ ที่หากอยู่ในตำแหน่งผู้นำรัฐบาลด้วยแล้ว ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนผ่านอำนาจบริหาร แต่การจากไปของโมอิสซึ่งเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และเหนือความคาดหมายของหลายฝ่าย นั่นหมายถึงเสถียรภาพของเฮติที่สั่นคลอนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากปัจจัยหลายด้าน จะยิ่งเผชิญกับความไร้ระเบียบมากขึ้นไปอีก

CNN

นายโคลด โจเซฟ รักษาการนายกรัฐมนตรีของเฮติ ซึ่งตอนนี้ถือว่าอยู่ในสถานะรักษาการผู้นำประเทศโดยปริยาย กล่าวว่า การลอบสังหารโมอิส “ผ่านการวางแผนมาเป็นอย่างดี” และกลุ่มผู้ก่อเหตุ “มีความเป็นมืออาชีพในระดับสูง” มีการเปิดเผยด้วยว่า กลุ่มคนร้ายแต่งกายด้วยเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่สำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐ ( ดีอีเอ ) ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่อารักขาหน้าประตูเข้าไปได้

ขณะเดียวกัน การที่กลุ่มผู้ก่อเหตุพูดภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ บ่งชี้ว่า “ไม่น่าเป็นคนในพื้นที่” เนื่องจากภาษาราชการของเฮติ คือภาษาเฮติและภาษาฝรั่งเศส ต่อมามีการจับกุมผู้ต้องสงสัยได้เกือบ 20 คน มีทั้งอดีตทหารโคลอมเบีย และชาวเฮติ-อเมริกัน

หลังเกิดเหตุยังไม่มีใครออกมาแสดงตัว หรือรับสมอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการถึงแก่อสัญกรรมของผู้นำเฮติ และเรื่องนี้อาจเป็นปริศนาไปอีกนาน แต่ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์อุกอาจและสะเทือนขวัญครั้งนี้ คือบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและหวาดระแวงกำลังปกคลุมไปทั่วทั้งเฮติ ท่ามกลางความซับซ้อนของโครงสร้างการบริการอำนาจรัฐ และสิทธิพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของพลเมืองที่เผชิญกับแรงกดดันมานาน

ทหารเฮติจับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัย ลอบสังหารประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส

อนึ่ง โมอิสเคยอ้างว่ามีกลุ่มคนหวังลอบสังหารเขามาแล้วหลายครั้ง และย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลเฮติจับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัย “พยายามล้มล้างอำนาจ” โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐรวมอยู่ด้วยหลายคน

โมอิส ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมในวัยเพียง 53 ปี เป็นอดีตนักธุรกิจด้านการส่งออกกล้วย หนึ่งในสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของเฮติ ขึ้นสู่อำนาจสูงสุดทางการเมือง หลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปี 2560

นับจากนั้น โมอิสกลายเป็น “บุคคลน่ากังขา” ทางการเมือง ด้วยการก่อให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนในเฮติ  ตลอดปีที่แล้ว ความขัดแย้งระหว่างโมอิสกับฝ่ายค้าน และ “กลุ่มสีเทา” ทวีความรุนแรงอย่างชัดเจน จนบานปลายเป็นการประท้วงขับไล่รัฐบาลยาวนานหลายเดือน

CNN

ทั้งนี้ การที่โมอิสไม่เคยจัดการเลือกตั้งทุกระดับในเฮติ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการปกครองและการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น แม้กำหนดการล่าสุดที่รัฐบาลเคยเปิดเผยไว้ คือการเลือกตั้งเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดขึ้นพร้อมกันในเดือนก.ย.นี้ ส่วนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมีกำหนดในเดือนม.ค.ปีหน้าก็ตาม แต่หากโมอิสยังอยู่ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นไหม

ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของโมอิสเป็นที่ถกเถียงมาตลลอด ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมองว่า โมอิสต้องลงจากตำแหน่งตั้งแต่ปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เพราะชนะการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2558

อย่างไรก็ตาม สหรัฐและองค์การนานารัฐอเมริกัน ( โอเอเอส ) ให้ความเห็นว่า การครบวาระ 5 ปีของโมอิสควรสิ้นสุดในปีหน้ามากกว่า เนื่องจากไม่มีการ “สาบานตนเพื่อรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ” เมื่อเดือนก.พ. 2560 เพราะสถานการณ์ภายในของเฮติในเวลานั้นเกิดวิกฤติหลายเรื่อง จนทำให้การรับตำแหน่งต้องล่าช้า แต่ฝ่ายต่อต้านยังคงโต้แย้งว่า วาระการดำรงตำแหน่งของโมอิสเริ่มตั้งแต่วันที่ชนะการเลือกตั้ง

ชาวเฮติประท้วงในกรุงปอร์โตแปรงซ์

ไม่ว่าเส้นทางของเฮตินับจากนี้จะเป็นอย่างไร คนที่น่าสงสารและน่าเห็นใจที่สุดคือประชาชน เฮติเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดของภูมิภาค ยังแทบไม่ฟื้นตัวจากเหตุแผ่นดินไหวและอหิวาตกโรค เมื่อปี 2553 หนำซ้ำยังไม่สามารถควบคุมวิกฤติโรคโควิด-19 ได้ และยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่โดสเดียว

หากรักษาการผู้นำประเทศสามารถรักษาเสถียรภาพให้กับบ้านเมืองไปตลอดรอดฝั่ง อาจนำไปสูการเลือกตั้งที่ราบรื่นและการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อความสมานฉันท์ได้ ทว่าหากสถานการณ์ยังคงไร้ระเบียบต่อไป อาจกลายเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาแทรกแซง “ได้อีกครั้ง”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AP