มาเป็นจิตแพทย์ด้วยสิ่งเดียวเลยก็คือ… อยากช่วยคน…อยากช่วยให้เขาหายป่วย…อยากทำให้เขาคลายทุกข์” คุณหมอหนุ่มอารมณ์ดี “หมอท๊อป-นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ” สรุปจุดเริ่มต้นการก้าวสู่ “เส้นทางจิตแพทย์” แบบกระชับแต่ได้ใจความไว้กับเรา เพื่อตอบถึงที่มาการก้าวสู่โลกใบนี้ ทั้งนี้ ชื่อเสียงของคุณหมอ นอกจากหลายคนจะคุ้นหน้าคุ้นตาตามสื่อต่าง ๆ ยามที่สังคมมีคำถามเกี่ยวกับแง่มุมของโรคและอาการจิตเวชแล้ว บนโซเชียล ที่รวมถึง TikTok คุณหมอก็มีแฟนคลับมากมาย ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปพูดคุยกับคุณหมอคนนี้ในหลาย ๆ แง่มุม รวมถึงในมุมอาร์ติสท์ด้วย…

สำหรับประวัติส่วนตัวโดยสังเขป ทาง “หมอท๊อป-นพ.อภิชาติ” วัย 44 ปี บอกเล่าว่า ปัจจุบันคุณหมอรับราชการเป็นจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลศรีธัญา และรับบทบาทเป็น โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ควบคู่ไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้คุณหมอยังมีคลินิกเล็ก ๆ ที่เปิดให้บริการให้คำปรึกษากับคนที่ต้องการรับคำแนะนำทางด้านจิตวิทยา ทั้งนี้ หมอท๊อปบอกว่า เขาเป็นคนกรุงเทพฯ พื้นเพครอบครัวนั้นเป็นนักธุรกิจ โดยคุณพ่อทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ส่วนคุณแม่นั้นทำงานด้านธุรกิจแฟชั่น ขณะที่พี่น้องร่วมครอบครัวนั้นคุณหมอมีพี่ชาย 1 คน

ส่วนที่มาเป็น “จิตแพทย์” หมอท๊อปเล่าว่า จริง ๆ ตอนแรกสนใจเป็นหมอสูตินรีเวช เพราะคุณตาเป็นหมอด้านนี้ แถมเรียนไปเรียนมาความคิดก็เปลี่ยนอยากเป็นหมอเด็กจากการที่มีโอกาสได้เข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กติดเชื้อ HIVจากแม่ เพื่อทำพ็อกเก็ตบุ๊กร่วมกับองค์การสหประชาชาติ โดยหนังสือเล่มนี้ถูกนำไปแปลมากถึง 9 ภาษาเพื่อส่งไปทั่วโลก ซึ่งช่วงที่ได้คลุกคลีกับเด็กที่ติดเชื้อ HIV นี้เอง ช่วงแรก ๆ ทำให้คุณหมออยากเป็นหมอเด็ก แต่พอมองเห็นว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะแค่ร่างกาย แต่รวมถึงด้านจิตใจด้วย ทีนี้ในตอนนั้นเรื่องสุขภาพจิตยังไม่แพร่หลาย คุณหมอจึงไปขอความรู้จากอาจารย์ที่สอนว่า เด็กที่ติดเชื้อกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นเขาจะเป็นยังไง ซึ่งอาจารย์ก็บอกว่าการช่วยเด็ก ๆ เหล่านี้แค่ร่างกายอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องรักษาใจด้วย ซึ่งถ้าช่วยได้จะดีไม่แค่เด็ก แต่รวมถึงครอบครัวเด็กด้วย คุณหมอจึงมองว่า สุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญมาก

ขึ้นเวทีเปิดบ้านศรีธัญญา กับน้าเน็ก และดี้-นิติพงษ์

ที่บอกสำคัญ เพราะครอบครัว คนที่เลี้ยงเด็ก ถ้าสุขภาพจิตดีก็จะดีไปโดยรวม เพราะสุขภาพจิตมันเป็นตัวนำที่ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ ไม่ใช่แค่สุขภาพกายอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้เองทำให้หมอมุ่งเรียนจิตเวช ทั้งที่ตอนนั้นเป็นศาสตร์ที่สมัยนั้นคนเรียนไม่เยอะ ทำให้มีจิตแพทย์น้อยมาก อีกอย่างมองว่า ถ้าเราดูแลคน 1 คนให้เขามีสุขภาพจิตที่ดี เราสามารถช่วยคนรอบข้างและคนที่รักได้ด้วย หมอก็เลยตัดสินใจเรียนจิตแพทย์” หมอท๊อปกล่าว

ก่อนจะเล่าให้ฟังต่อว่า สมัยนั้นเรื่องจิตเวชไม่แพร่หลายเหมือนในตอนนี้ และคนไม่ค่อยรู้ว่าศาสตร์จิตเวชคืออะไร ซึ่งแม้แต่ทางบ้านคุณหมอเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ทำให้ตอนแรก ๆ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่สนับสนุนให้เรียนสาขานี้ เพราะสมัยก่อนเรื่องสุขภาพจิตไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ แต่คุณหมอก็ใช้วิธีค่อย ๆ อธิบายให้ฟังว่า จิตเวชก็เป็นโรค ๆ หนึ่ง ที่เกี่ยวพันกับการทำงานของสมอง และไม่ไช่เรื่องลี้ลับ จากนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงเปิดใจยอมรับ สนับสนุนให้เป็นจิตแพทย์ อย่างไรก็ตาม แต่ด้วยความที่ศาสตร์นี้ในอดีตยังไม่ค่อยแพร่หลาย ไม่เหมือนมะเร็งที่ทุกคนเข้าใจ ทำให้เวลาที่จะต้องรักษาคนไข้ทางจิตแพทย์จึงต้องอธิบายและยกตัวอย่างให้คนไข้กับครอบครัวคนไข้ฟัง โดยเคล็ดลับของคุณหมอก็คือ ค่อย ๆ คุย ค่อย ๆ อธิบายให้เข้าใจทีละนิด

ภาพตอนที่เรียนจบ

เรียนจิตแพทย์ยากมั้ย ยากครับ เพราะเป็นหนึ่งในวิชาที่ยากที่สุด และยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในบ้านเราตอนนั้น ซึ่งวิชาการจริง ๆ จะเกี่ยวกับการทำงานของสมองเยอะมาก แถมไม่ใช่มีแค่ข้อมูลทางการแพทย์อย่างเดียว แต่การสื่อสารกับคนไข้และญาติ คนที่จะเป็นจิตแพทย์ก็ต้องเรียนรู้ด้วย” คุณหมอระบุเรื่องนี้

พร้อมกับบอกว่า ในอดีตเมื่อพูดถึง “โรคซึมเศร้า” คนแทบไม่รู้ว่าคืออะไร? ทำให้สังคมรู้สึกกลัว เพราะข้อมูลโรคมีไม่เยอะ ทำให้ตอนนั้นก็ต้องฝ่าฟันกันเยอะมาก กว่าที่จะทำให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจว่าโรคนี้ไม่ได้เป็นเรื่องไสยศาสตร์ลี้ลับ

กับคุณแม่ของคุณหมอ

โชคดีที่ตอนที่หมอได้มาอยู่กรมสุขภาพจิต ทำให้หมอมีโอกาสได้พูดคุยกับสื่อเยอะ ทำให้มีช่องทางที่จะสร้างความเข้าใจในโรคนี้ในวงที่กว้างมากขึ้น ทำให้ตอนนั้นสนุกมาก ทั้งให้สัมภาษณ์สื่อ ทั้งได้เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับจิตวิทยา จนสังคมค่อย ๆ เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชมากขึ้นเรื่อย ๆ”

หมอท๊อปกล่าวต่อไปว่า รู้สึกดีใจที่วันนี้ผู้คนมองเรื่องของจิตเวชเป็นเรื่องปกติ เป็นโรคหรือภาวะที่ไม่ว่าใครก็มีโอกาสเป็นได้ ซึ่งถ้าเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้วจะคนละเรื่องเลย แถมคนยุคนี้เวลาพูดเรื่องจิตเวชเขาจะมองไม่ใช่เรื่องล้อเล่นหรือเรื่องตลก แต่เป็นเรื่องที่คนให้ความสำคัญที่ตัวผู้ป่วย ยิ่งปัจจุบันคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตค่อนข้างเยอะ สังคมก็เลยตื่นตัวมากขึ้น

กับน้องกุน-กิตติคุณ และเสื้อลายที่คุณหมอวาด

จำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในไทยตอนนี้ น่าจะมีเยอะมาก เพราะแค่โรคซึมเศร้าโรคเดียวองค์การอนามัยโลกก็บอกว่าตอนนี้มีถึงร้อยละ 5.4 แล้ว ลองคิดว่าสมมุติใน 100 คน ก็มีคนที่ป่วยซึมเศร้าไปแล้ว 5 คน นี่ยังไม่รวมโรคอื่นอีก ทำให้โรคทางจิตเวชจึงมีโอกาสเจอได้เยอะมาก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ป่วยนั้น อันดับ 1 คือพันธุกรรม อันดับ 2 คือความผิดปกติร่างกายหรือจากการใช้สารเสพติด จนทำให้สมองอ่อนแอลง อันดับ3 ปัญหาทางกาย จากโรคทางกายบางอย่าง หรือจากการเจ็บป่วย ความเจ็บปวด ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน” หมอท๊อปอธิบาย

และยังกล่าวอีกว่า สมัยก่อนคนจะเชื่อว่า โรคจิตเวชเป็นเพราะความอ่อนแอ เป็นเพราะคนนั้นไม่เข้มแข็ง แต่ปัจจุบันเรารู้แล้วว่าแนวคิดนั้นไม่ถูกต้อง เพราะพบคนที่จิตใจเข้มแข็งก็เป็นโรคซึมเศร้าได้เยอะแยะเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นผู้นำครอบครัว ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเข้มแข็ง หรืออ่อนแอ ก็ไม่เกี่ยว เพราะโรคนี้เป็นเรื่องของบุคคล

ผลงานภาพวาดบางส่วนของคุณหมอ

ทั้งนี้ นอกจากงานในฐานะ “จิตแพทย์” และการเป็น “อินฟลูเอนเซอร์สายจิต” ที่คอยให้ความรู้ความเข้าใจกับชาวโซเชียลแล้ว คุณหมอยังได้ชื่อเป็น “จิตแพทย์สายอาร์ติสท์” จากการที่ชอบวาดภาพ ชอบสะสมผลงานศิลปะ โดยหมอท๊อปเล่าเรื่องนี้ว่า จริง ๆ ทุกคนในครอบครัวของคุณหมอนั้นเป็นคนรักและชอบงานศิลปะอยู่แล้ว เพราะคุณลุงของหมอท๊อปนั้นถึงขั้นสะสมงานศิลปะเก็บไว้เป็นระดับพิพิธภัณฑ์เลย ในชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ปราสาท” ที่จะเน้นด้านการอนุรักษ์ชิ้นงานศิลปะเป็นสำคัญ เพราะบางอย่างก็ตกทอดมาตั้งแต่สมัยคุณยาย จึงเรียกได้ว่าคุณหมอโตมากับศิลปะ จนมองว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ผลงานภาพวาดบางส่วนของคุณหมอ

ตอนเด็กเวลาใครถามอยากไปไหน คำตอบหมอไม่ใช่สวนสนุก แต่เป็นพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์มากกว่า จริง ๆ การที่หมอโตมาท่ามกลางศิลปะมันช่วยงานเราได้เยอะมาก ทำให้หมออ่านจิตใจคนได้ดี และนอกจากวาดภาพ สะสมงานศิลปะ หมอยังชอบเล่นไวโอลิน ถามว่าศาสตร์ดนตรี กับศิลปะ และศาสตร์ของแพทย์ มันไม่ต่างกันมากเหรอ เอาจริง ๆ อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องใช้ศิลปะเยอะมากนะ ขนาดใบรับรองอาชีพยังเขียนว่าใบประกอบโรคศิลป์เลย ซึ่งเวลาตรวจคนไข้ก็ต้องใช้ศิลปะเยอะนะ เพราะไม่ใช่คนไข้มาถึงแล้วเราจะรู้ว่าเป็นอย่างไรเลย เพราะแต่ละคนก็ต่างกันไป ทำให้หมอต้องใช้ศิลปะในการรักษา ต้องดีไซน์การรักษาคนไข้แต่ละคน เหมือนเป็นช่างตัดเสื้อสั่งทำ ที่ต้องพยายามตัดให้เข้ากับคนที่ใส่ ไม่ใช่ช่างตัดเสื้อผ้าสำเร็จรูป” คุณหมอบอกเล่าพร้อมอุปมาอุปไมย

ผลงานศิลปะ

ส่วนการที่งานศิลปะที่ชอบมาผูกโยงงานจิตแพทย์นั้น หมอท๊อปบอกว่า ช่วงโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยตอนนั้นคนไทยจิตใจห่อเหี่ยวมาก ๆ ต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำให้หลายคนจึงแก้เครียดด้วยการไปเข้ากลุ่มงานศิลปะ ก็ไปเจอกลุ่มคนทำงานศิลปะที่ขายงานไม่ได้ จัดงานแสดงก็ไม่ได้ ก็มีโอกาสได้คุยกับศิลปินหลายคน ทำให้อยากจะช่วยมาก ๆ คุณหมอก็เลยร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งคุณหมอเป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดหาทุนของมูลนิธินี้ด้วย นำงานศิลปะเหล่านั้นมาเผยแพร่เพื่อให้ศิลปินได้แสดงผลงาน ได้ขายผลงาน ได้มีรายได้จากงานศิลปะ และต่อมาคุณหมอเห็นว่า คนไข้ซึมเศร้าหลายคน ที่กำลังอยู่ในช่วงบำบัดรักษาอาการ พอได้ไปเดินดูงานศิลปะที่แกเลอรี ปรากฏอาการค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคนไข้บอกว่าเหมือนงานศิลปะสามารถฮีลใจของเขาได้ ทำให้เขารู้สึกดี ทำให้เกิดพลังชีวิตบวก ก็เลยถือเป็นอานิสงส์จากเรื่องนี้

ชอบสะสมงานศิลป์

เวลาว่าง ๆ หมอก็จะนั่งวาดภาพเล่น ถือเป็นวิธีผ่อนคลายอย่างหนึ่ง ทำให้เราใจเย็นขึ้น มีสมาธิมากขึ้น ซึ่งการวาดภาพช่วยล้างตะกอนอารมณ์ของเราออกไปได้เยอะ แต่ต้องทำเพราะอยากทำนะ ถ้าทำเพราะถูกบังคับอันนี้ไม่ดีแน่ ส่วนสไตล์ภาพของหมอนะเหรอ…หมอจะเน้นแนวคิวต์ ๆ แนวน่ารัก ๆ เป็นหลัก” หมอท๊อปบอกเล่าไว้

ก่อนจบการสนทนากัน “หมอท๊อป-นพ.อภิชาติ” ยังบอกกับ “ทีมวิชีวิต” ว่า สิ่งสำคัญที่สุดของคนที่มีอาชีพจิตแพทย์ ก็คือ ต้องอยากที่จะช่วยเหลือคน เพราะถ้าอยากจะร่ำรวยเร็ว ๆ จากอาชีพ ให้ไปทำอาชีพอื่นดีกว่า ส่วนถ้าถามว่า มาเป็นจิตแพทย์แบบนี้ รวยก็ไม่รวย แล้วทำไปทำไม? ก็ตอบได้เลยว่า… “จริง ๆ อาชีพจิตแพทย์จะว่าไปก็รวยแบบหนึ่ง เมื่อได้เห็นคนไข้มีชีวิตที่ดีขึ้น…นั่นคือ…รวยความสุข”.

เคล็ดลับแก้เครียด’ ฉบับคุณหมอ

ด้วยอาชีพที่ทำ ในแต่ละวัน “หมอท๊อป-นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ” น่าจะมีคนไข้มาเล่าความทุกข์ ความเศร้า เรื่องเครียด ๆ ให้ฟังเสมอ ทำให้ “ทีมวิถีชีวิต” เกิดปุจฉาว่า แล้ว “จิตแพทย์มีวิธีจัดการกับการต้องรับฟังเรื่องเครียด ๆ มาก ๆ เช่นไร?” ซึ่งหมอท๊อปอธิบายว่า การฟังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา เพราะทุกครั้งที่คนไข้เล่าอะไรให้หมอฟัง อาการมักจะดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่แย่ลง ซึ่งส่วนตัวไม่ได้มองว่าทุกครั้งคือการเอาความรู้สึกแย่มาใส่หมอ แต่กลับคิดว่าทุกครั้งที่คนไข้มาหา…หมอกำลังเอาความทุกข์ออกจากตัวคนไข้ ซึ่งส่วนตัวคุณหมอจะใช้วิธีคิดอย่างนี้ จึงไม่รู้สึกเครียดที่ต้องรับฟังปัญหาเครียด ๆ ของคนไข้ เพราะ “ความสุขใจที่เห็นคนไข้ดีขึ้น เป็นวิธีกำจัดความเครียด”แล้ว.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน