ตอนนั้นคิดได้แค่ว่า…เรายังมีลมหายใจอยู่…ก็เลยฮึดสู้อีกครั้ง”เป็นคำบอกเล่าและเป็น “ข้อฉุกคิด” ที่ช่วยให้ผู้ชายคนนี้ “ลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง” หลังในอดีต “ชีวิตเจอมรสุมเศรษฐกิจครั้งใหญ่” ชีวิตของเขาและครอบครัวเจอวิกฤติลูกโต ถึงขั้น “แทบสิ้นเนื้อประดาตัว” จนต้องยอมขาย-ยอมทิ้งทุกสิ่งที่เคยมี แล้วผันตัวเป็น “พ่อค้าไก่ปิ้ง” ก่อนที่พายุร้ายจะค่อย ๆ พัดผ่านไป แล้วชีวิตของเขาก็ตั้งต้นใหม่ได้อีกครั้งเพราะ “ขนมหวาน” ซึ่งนอกจากแง่คิดทางธุรกิจแล้ว เรื่องราวล้มลุกคลุกคลานของเขา ก่อนจะกลับมายืนได้อีกครั้งนั้น ก็นับเป็นอีก “กรณีศึกษา” น่าสนใจ ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวนำมาฝากกัน…

ผู้ชายคนนี้คือ “วีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์” อดีตเขาเคยเป็นเถ้าแก่โรงพิมพ์ แต่ถูกพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 จนถึงขั้นธุรกิจล้มละลาย แทบสิ้นเนื้อประดาตัว ซึ่งก็คล้าย ๆ กับยุคโควิด-19 ระบาดรุนแรง ที่ทำให้ผู้คนมากมายประสบปัญหาในชีวิต อย่างไรก็ดี สำหรับชีวิตกรณีศึกษาที่ “ทีมวิถีชีวิต” นำเรื่องราวมานำเสนอในวันนี้ สำหรับเขาคนนี้…เมื่อคิดได้ว่า “ชีวิตยังมีลมหายใจอยู่…ก็ต้องสู้!!”เขาก็พยายามหาอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัว โดยตัดสินใจผันตัวไปทำอาชีพขายไก่ปิ้ง ที่ จ.สุพรรณบุรี แล้วก็ค่อย ๆ เก็บเล็กผสมน้อยมาเรื่อย ๆ ด้วยความหวังที่จะได้กลับมาทำธุรกิจอีกครั้ง จนวันนี้เขาก็ทำได้สำเร็จ โดย พลิกชีวิตตัวเองกลับมาเป็นเถ้าแก่ได้อีกครั้ง กับโรงงานขนมหวานวุ้นน้ำมะพร้าวที่ขายดิบขายดี ซึ่งเบื้องหลังเส้นทางชีวิตของเขาคนนี้ เขาเล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า เดิมทีนั้นครอบครัวของเขาอยู่ที่ จ.ตาก โดยที่บ้านมีอาชีพทำผลไม้ดองน้ำผึ้งขาย ซึ่งเท่าที่จำความได้ ตอนเด็ก ๆ ลูกทุก ๆ คนในบ้านจะต้องฝึกหัดทำผลไม้ดอง ทำให้ตัวเขาเองก็ทำอาชีพนี้เป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ

พ่อทำผลไม้ดองมาตลอด จนพอมาถึงรุ่นผม ปรากฏพี่น้องทุกคน รวมถึงผม ไม่มีใครอยากรับช่วงต่ออาชีพนี้เลย เพราะทุกคนรู้สึกเบื่อกับอาชีพนี้ ทำให้ไม่อยากทำต่อ ดังนั้นพอเรียนจบ ม.6 ผมก็เลยไปเรียนปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เพราะไม่อยากอยู่บ้าน ซึ่งตอนเรียนเชียงใหม่ ผมเกเรมาก สุดท้ายก็เรียนไม่จบ จนตอนนั้นถึงกับทะเลาะกับแม่ และด้วยความที่เป็นวัยรุ่นใจร้อนก็เลยขาดสติ จึงบอกพ่อแม่ไปว่าไม่เรียนต่อแล้ว แต่จะไปหางานทำ เพื่อพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งพ่อแม่ก็ห้ามแล้ว แต่ด้วยความมุทะลุ ผมจึงไม่ฟัง ก็ตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าออกจากบ้าน มุ่งหน้าไปเชียงใหม่อีกครั้งเพื่อหางานทำ” วีระเล่าจุดเปลี่ยนชีวิตในช่วงวัยรุ่นให้ฟัง

กับ “นก-ประนอม” นักสู้คู่ชีวิต

เขายังเล่าอีกว่า ตอนตัดสินใจออกจากบ้านมา เขาบอกกับพ่อแม่ว่าอยากพิสูจน์ตัวเอง เพราะเรื่องเรียนไม่ประสบความสำเร็จ จึงอยากพิสูจน์ด้วยเรื่องการทำงาน แต่ก็ยอมรับว่าช่วงที่ตัดสินใจออกจากบ้านมา เป็นช่วงที่ลำบากมาก เพราะเงินติดตัวแทบไม่มีเลย “ถึงขั้นบางวันซื้อน้ำพริกแค่ 1 ถุง สำหรับเก็บเอาไว้กินทั้งวัน” …วีระเล่าเรื่องนี้ พร้อมเล่าต่อไปว่า หลังทำงานที่เชียงใหม่ได้ 2-3 ปี เขาก็ตัดสินใจเดินทางเข้าหางานทำที่กรุงเทพฯ จนมีโอกาสได้ทำงานที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่ง ในตำแหน่งพนักงานขับรถส่งของ ซึ่งตอนที่ทำงานโรงพิมพ์นี้เองที่ทำให้เขารู้สึกสนใจธุรกิจนี้มาก จึงตั้งเป้ากับตัวเองไว้ว่า…สักวันเขาจะต้องเป็นเจ้าของโรงพิมพ์เล็ก ๆ

และจากฝันจากการตั้งเป้าในวันนั้นนั่นเองที่เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งให้กับชีวิตของวีระ โดยเขาบอกว่า ด้วยมีความฝัน ทำให้เขาเริ่มสนใจศึกษางานด้านการพิมพ์ ซึ่งหลังจากขับรถส่งของเสร็จ เขาก็จะมาเรียนรู้งานต่าง ๆ ในโรงพิมพ์ไปด้วย จนมีโอกาสได้ทำงานด้านการออกแบบกราฟิกดีไซน์ และถ่ายภาพ พอทำไประยะหนึ่งเขาก็มีโอกาสได้ฝึกพิมพ์งานด้วยเครื่องพิมพ์ ซึ่งหลังจากทำงานที่โรงพิมพ์นี้ได้ 5 ปี เขาก็เกิดความมั่นใจว่าสามารถทำธุรกิจนี้ด้วยตัวเองได้ จึงตัดสินใจออกมาเปิดโรงพิมพ์เล็ก ๆ ของตัวเอง ตามฝันที่วาดไว้

วีระบอกว่า เขาเปิดโรงพิมพ์ราวปี 2537 ซึ่งช่วงแรก ๆ กิจการก็ไปได้ด้วยดี จนมาปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ส่งผลทำให้บริษัทใหญ่ ๆ ตัดงบประชาสัมพันธ์ ทำให้เอเจนซี่ที่คอยส่งงานให้โรงพิมพ์เขาเริ่มป้อนงานลดลง และส่งผลกระทบต่อกิจการโรงพิมพ์ของเขา จนสุดท้ายเขาก็ไม่สามารถประคองตัวให้อยู่ต่อไปได้ เพราะรายได้ที่เคยมีหลักล้านต่อเดือนเหลือแค่ศูนย์

ช่วงนั้นต้องใช้คำว่าสิ้นเนื้อประดาตัวเลยช่วงแรก ๆ ยอมรับว่าเครียดมาก ตอนนั้นขับรถไปที่ซอยเปลี่ยว ๆ ปิดกระจก แล้วก็ตะโกนด่าเทวดาฟ้าดินว่าทำไมไม่เข้าข้างผมเลย ทำไมต้องกลั่นแกล้งทำให้ชีวิตผมพังแบบนี้ด้วย เพราะเราก็ทำงานเต็มที่ แต่ทำไม่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ ซึ่งพอได้ระบายไปจนหมดแล้ว ผมก็หันมาตั้งสติใหม่ว่าจะทำยังไงต่อไป ตอนนั้นผมต้องยอมขายทรัพย์สินทุกอย่างที่มีทั้งหมดเพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ให้หมด เพื่อให้ตัวเบาที่สุด เพราะมองว่าการที่จะเริ่มต้นใหม่ แล้วต้องแบกหนี้สินด้วย จะยิ่งเหนื่อย ก็เลยยอมทิ้งทุกอย่างดีกว่า เพื่อที่จะเดินทางใหม่” วีระบอก พร้อมย้ำด้วยเสียงสั่นเครือว่า ตอนที่โรงพิมพ์ล้ม เป็นช่วงเวลาชีวิตที่ไม่อยากเก็บไว้ในความทรงจำเลย

หนึ่งในเหยื่อพิษเศรษฐกิจเมื่อครั้งอดีตคนนี้ยังเล่าให้เราฟังต่อไปว่า พอได้หลักคิดชีวิตใหม่แล้ว เขากับภรรยา คือ นกประนอม ก็เลือกกลับมาตั้งหลักใหม่ที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยา โดยมีเงินติดตัวแค่ 2,000-3,000 บาท ก่อนจะมาช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรเพื่อหารายได้มาประคองตัวเองให้รอด ซึ่งด้วยความที่เขาเป็นคนชอบทำอาหาร ก็เลยเลือกทำอาชีพ “ปิ้งไก่ขายข้างทาง” โดยสูตรหมักไก่เป็นสูตรที่เขาคิดขึ้นมาเอง ปรากฏว่าขายได้ แถมมีลูกค้าประจำแวะเวียนกลับมาซื้อบ่อย ๆ โดยลูกค้าชมว่าอร่อย มีการซื้อไปฝากคนอื่น ๆ ด้วย ทำให้ตอนนั้นมีความสุขมาก และขณะเดียวกัน เขาก็มองว่าคนที่ได้กินอาหารของเขาทุกคนจะมีความสุขในการได้กินของอร่อย ๆ จึงคิดว่า…เราสามารถมอบความสุขส่งต่อกันได้ด้วยอาหาร

ผมเคยคุยกับภรรยาว่าพวกเราทั้งคู่น่าจะมาถูกทางแล้ว เพราะการทำของกินขาย นอกจากสร้างรายได้แล้ว ยังส่งต่อความสุขให้คนอื่นได้ด้วย” วีระบอกเรื่องนี้พร้อมรอยยิ้ม

ยุคก่อตั้งใหม่ ๆ / ยุคปัจจุบัน

จากพ่อค้าไก่ปิ้งขายดี แล้วจู่ ๆ ก้าวสู่ “ธุรกิจขนมหวาน” ได้อย่างไร? กับเรื่องนี้ทาง วีระ เล่าว่า เมื่อมีเป้าหมายแล้วว่าจะต้องทำของกินขาย เขาก็มาคิดต่อยอดว่าจะทำอะไรขายต่อดี จนมาคิดว่าจะเปิดเป็นร้านขายส้มตำไก่ย่างไปเลยดีมั้ย แต่แม่ของเขาก็มาขอไว้ว่าถ้าจะขายของกิน แม่ไม่อยากให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เขาก็เลยมาคิดใหม่ว่าจะทำอะไรขาย และด้วยความที่มีสูตรทำ มะม่วงดองน้ำผึ้ง อยู่แล้ว เขาก็เลยลองทำขาย โดยไปขอรีสอร์ตใกล้ ๆ บ้านวางขาย ปรากฏนักท่องเที่ยวซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝาก จึงเริ่มคิดที่จะขยายกิจการ แต่การจะขยายเป็นธุรกิจนั้นก็ควรจะต้องมีแบรนด์สินค้า เขาก็ปรึกษากับภรรยาอยู่หลายวัน จนที่สุดก็ได้ชื่อแบรนด์สินค้าของตัวเองว่า “แม่ละมาย” ซึ่งเป็นชื่อแม่ของเขาเอง เพราะมองว่าเป็นชื่อมงคล และฟังดูไทย ๆ ดี …นี่ก็เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งในชีวิตของเขาคนนี้ ที่นำสู่การเริ่มต้นสร้างธุรกิจใหม่อีกครั้ง

ธุรกิจใหม่ครั้งนี้ วีระเล่าว่า เริ่มจากระดมทุนจากญาติพี่น้องและแม่ ได้ทุนมา 40,000 บาท ก็เริ่มลงมือทำสินค้ามะม่วงแช่อิ่ม ที่เป็นสูตรโบราณ ไม่ใส่สารเคมี โดยเป็นผลิตภัณฑ์แรกของเขาที่ได้ขายใน เซเว่น-อีเลฟเว่น และหลังจากสินค้าตัวแรกไปได้สวย เขาก็เลยคิดจะขยายไลน์ผลิตเพิ่ม จนเกิดเป็นสินค้าวุ้นน้ำมะพร้าวบรรจุถ้วย โดยเขาผลิตขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า ต้องไม่ใช้สารฟอกขาว และสร้างความแตกต่างในรสชาติ โดยใส่ธัญพืชหรือส่วนผสมอื่นเพิ่มเข้าไป เช่น เม็ดแมงลัก ใบเตย ลำไย

เขายังได้เล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังการทำสินค้าที่มีวัตถุดิบการเกษตรมาเกี่ยวข้องว่า ไม่ง่าย เพราะมีข้อจำกัดหลากหลายอย่าง จนทำให้เขาเริ่มมองเห็น ปัญหาในเรื่องคุณภาพวัตถุดิบ เขาจึงใช้แนวคิด ควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยการออกไปเดินสายให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรเกิดความรู้ความเข้าใจในการผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ โดยจูงใจด้วยราคารับซื้อ ซึ่งหากเกษตรกรรายใดทำตามมาตรฐานที่กำหนดได้ ก็จะเพิ่มราคาและประกันราคารับซื้อให้

ใบเตยที่ใช้ก็ต้อง QC

“วิธีนี้ไม่ใช่ดีแค่แต่กับเรากับผมเท่านั้น ดีกับเกษตรกรเองด้วย ซึ่งถ้าเขาทำได้ตามนี้ ถึงไม่ขายให้เรา ถ้าจะส่งให้คนอื่น เขาก็ส่งขายได้เลย เพราะได้มาตรฐานดีแล้ว ซึ่งถ้าตลาดมีวัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพ มันย่อมดีกับธุรกิจโดยภาพรวมด้วย ไม่เฉพาะแค่ธุรกิจของเรา” เป็นแนวคิดดี ๆ ของอดีตเถ้าแก่โรงพิมพ์ ที่ใช้แนวคิด “ยิ่งให้-ยิ่งได้” ในการทำธุรกิจ

อย่างไรก็ดี กับภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ ที่ยังอยู่ในช่วงซบเซา ทาง “ทีมวิถีชีวิต” ขอไอเดียจากเขาเพื่อเป็น “ข้อคิด” กับผู้ประกอบการอื่น ๆ โดยวีระบอกว่า อยากฝากถึงเพื่อน ๆ ว่า ถ้าคิดจะทำธุรกิจใดก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการควรต้องมีนั้นก็คือ “ต้องรู้วิธีบริหารจัดการต้นทุน” เช่น การทำบัญชี การรวบรวมค่าใช้จ่ายที่ถูกต้อง ซึ่งสำคัญ เพราะสิ่งที่จะมาลดต้นทุนได้ก็คือการบริหารจัดการที่ดี และต้องรู้จักประยุกต์ใช้ ต้องรู้วิธีนำไปใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองด้วย เพราะแต่ละเคสปัญหาไม่เหมือนกัน

ก่อนจบบทสนทนาวีระ” คนเคยย่ำแย่เพราะพิษเศรษฐกิจ ที่วันนี้ยืนหยัดได้อีกครั้งเพราะพลังใจ บอกทิ้งท้ายกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า… “ถ้าถามว่าตัวผมทุกวันนี้ประสบความสำเร็จแค่ไหน ผมตอบได้ว่าก็ระดับหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่าทุกคนที่ทำธุรกิจนั้น ทุกคนต้องการความสำเร็จอยู่แล้ว แต่ความสำเร็จของแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น บางคนทำได้เป็นพันล้านเป็นหมื่นล้านก็บอกว่าไม่พอ แต่สำหรับผม ไม่ต้องเป็นพันล้านเป็นหมื่นล้านก็ได้ครับ…ผมขอแค่ได้ทำงานที่มีความสุขก็พอ”.

รางวัลความสำเร็จ

แผนดี-ทีมดี’ ทำอะไรก็ ‘สำเร็จได้’

ด้วยความที่เป็น “คนเคยล้ม” และกลับมา “ยืนได้อีกครั้งอย่างน่าสนใจ” โดยเป็นเจ้าของแบรนด์ขนม “แม่ละมาย” ที่ทาง เซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นพันธมิตรที่ให้โอกาสนำสินค้าเข้าวางขายมาตั้งแต่ต้น… ทาง “ทีมวิถีชีวิต” ได้ขอให้ “วีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์” ช่วยถอดรหัสจากบทเรียนที่เขาผ่านมา เพื่อเป็น “กรณีศึกษา” ให้กับคนอื่น ๆ ซึ่งเขาก็พยักหน้าตอบรับ พร้อมบอกว่า เขามีวิธีคิดเรื่องหนึ่งที่ก็สำคัญมาก ๆ ทั้งกับตัวเขาและกับธุรกิจด้วย นั่นก็คือ เขามองว่า ต้องเริ่มจากการวางแผน โดยจะต้องมีทั้งแผนรุกและแผนรับ กับต้องรู้จังหวะว่าควรจะใช้แผนไหน ในการแข่งขัน และนอกจากนั้น ต้องให้ความสำคัญกับทีมงานและทีมเวิร์ก เพราะถ้าทีมดี ต่อให้เรื่องยากแค่ไหนก็สามารถทำได้ ก็สามารถผ่านไปได้อย่างแน่นอน

“จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องมีทีมที่ดี ต้องมีทีมที่แข็งแกร่ง ซึ่งทีมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงทีมในบริษัทอย่างเดียว แต่รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกมิติ หรือส่วนที่อยู่แวดล้อมกับชีวิตและธุรกิจของเราด้วยครับ”วีระทิ้งท้ายไว้.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน