ท้ายที่สุด!! ชื่อของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ก็ฝ่ากระแสแรงต้าน เข้าวินนั่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ แทนที่ “ปรเมธี วิมลศิริ” ที่ครบวาระไปแล้ว แต่กว่ากระบวนการคัดเลือกจะเสร็จสิ้น การประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกได้ถูกเลื่อนออกมาอยู่หลายรอบ!! หลายหน!!

เหตุผลใหญ่ใจความ!! ก็เป็นเพราะ…คณะกรรมการคัดเลือกฯ ยังมีีข้อมูลของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ทำให้คณะกรรมการ ทั้ง 7 คนต้องใช้เวลานานอยู่พอสมควร เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความรอบคอบและเรียบร้อย 

ไม่ง่ายนักที่ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” จะผ่านการคัดเลือก ด้วยเหตุที่ว่ามีผู้คัดค้านเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอดีตผู้ว่าการ ธปท., คณะศิษย์หลวงตาพระมหาบัวฯ, องค์กรกองทัพธรรม, อดีตพนักงาน ธปท. หรือแม้แต่กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม เป็นต้น เพราะเป็นห่วงว่าประเทศชาติจะได้รับผลกระทบ หากนำบุคคลซึ่งใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองเข้ามานั่งประธานคุมแบงก์ชาติ อาจทำให้แบงก์ชาติถูกครอบงำโดยการเมือง และประเทศชาติเกิดหายนะได้

เชื่อการเมืองแทรกแซง 

ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ครั้งแรก หากย้อนไปในอดีตสมัยยุค “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 55 ก็ได้คัดเลือก “ดร.โกร่ง วีรพงษ์ รามางกูร” ซึ่งมาจากการเมืองเช่นเดียวกัน เป็นอดีตรัฐมนตรีหลายสมัย แต่เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์และการเมือง ทำให้ได้รับการคัดเลือกและถูกผลักดันจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้นั่งประธานบอร์ด ธปท. สมัยนั้น โดยมี “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ

ขณะเดียวกันในสมัยนั้น “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ได้เข้ามานั่ง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีความเห็นต่างกับ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ดร.ประสาร ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยที่ “กิตติรัตน์” ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องการให้แบงก์ชาติประกาศลดดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินไหลเข้าจนทำเงินบาทแข็งและกระทบกับการส่งออกไป แต่ในเวลานั้น ดร.ประสาร ถือว่าไม่ยอมต่อการเมือง และแข็งกร้าวต่อความประสงค์ของกิตติรัตน์ จนช่วงเวลานั้นมีกระแสถึงกับจะปลด ดร.ประสาร ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ

หวังล้วงทุนสำรองฯ

หนึ่งในเป้าหมายของ ดร.โกร่ง และกิตติรัตน์ ในยุคนั้น คือมีแนวคิดที่จะตั้งกองทุนมั่งคั่งขึ้นมา โดยใช้เงินทุนสำรองเงินตรา ซึ่งเป็นปราการหนุนหลังให้แบงก์ชาติเข้ามาใช้ทำนโยบายนี้ เนื่องจากช่วงเวลานั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ทำนโยบายประชานิยมมากมาย และงบประมาณจำกัด จึงจำเป็นต้องหาเงินจากแหล่งอื่นเข้ามาทำการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ท้ายที่สุด กองทุนมั่งคั่งก็ไม่เกิดขึ้น เพราะถูกต่อต้านไม่น้อย 

พอกลับเข้ามาสู่ยุครัฐบาลเศรษฐาและรัฐบาลแพทองธารในปัจจุบัน ความบาดหมางระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ ก็ยังไม่คลาย ได้ออกมาเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยอยู่บ่อยครั้ง และยังเป็น “กิตติรัตน์” ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของแบงก์ชาติมาโดยตลอด จนกระทั่ง “กิตติรัตน์” ได้ถูกคัดเลือกให้เข้ามาสู่รั้ว “วังบางขุนพรหม” แล้ว เป้าหมายของประธานกรรมการแบงก์ชาติคนใหม่ จะเป็นอย่างไร รวมไปถึงนโยบายและเป้าหมายของรัฐบาลที่ได้ฝากเอาไว้นั้น จะมีภารกิจอะไรบ้าง?

ภารกิจที่น่าจับตา

ภารกิจที่ “กิตติรัตน์” เข้ามารั้ววังบางขุนพรหม คุมแบงก์ชาติแล้วนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องแก้กฎหมายความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ เพื่อให้การทำนโยบายต่าง ๆ ของแบงก์ชาติ สอดคล้องไปกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย ดูแลค่าเงินบาท และยังมีเรื่องแก้กฎหมายเพื่อให้หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือเอฟไอดีเอฟ ถูกโอนย้ายมาอยู่ในบัญชีภายใต้การบริหารของแบงก์ชาติ แทนที่กระทรวงการคลัง เพื่อหวังลดหนี้สาธารณะ และให้เกิดพื้นที่ทางการคลัง เพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายการคลังได้อีกระยะหนึ่ง

แต่สิ่งที่สำคัญและน่าจับตามองก็คือ ความต้องการของกิตติรัตน์ในอดีตที่ต้องการล้วงทุนสำรองฯ มาใช้ประโยชน์ และอาจปัดฝุ่นแนวคิดดึงทุนสำรองมาตั้งกองทุนความมั่งคั่งอีกครั้ง เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปหารายได้เข้าประเทศมากกว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ซึ่งปัจจุบันเงินทุนสำรองฯ ส่วนนี้มีอยู่มากถึงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

เรื่องที่คนส่วนใหญ่กังวลคือ หากนำเงินทุนสำรองฯ ไปใช้ และเมื่อประเทศเกิดวิกฤติ เจอปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนต้องใช้เงินทุนสำรองฯ ก้อนนี้ จะทำอย่างไร เพราะหน้าที่หลักของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำหน้าที่ดูแลรักษาเสถียรภาพการเงินในประเทศ เป็นเหมือนหนุนหลังหากประเทศเกิดวิกฤติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถดูแลและเพียงพอ กอบกู้สถานการณ์นั้นได้ ที่สำคัญ!! ยังถือว่าเป็นความเชื่อมั่นให้นานาประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย นอกจากนี้ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับดูแลเศรษฐกิจของแบงก์ชาติที่เป็นกลไกในการควบคุมเงินเฟ้อของประเทศ

เผยโฉมหน้าบอร์ด ธปท. 

แต่ภารกิจทั้งหลายทั้งปวงของกิตติรัตน์ อาจทำไม่ได้แค่ในตำแหน่งประธานกรรมการเท่านั้น เพราะในคณะกรรมการแบงก์ชาติยังมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และมีอีกหลายเสียงที่คานอำนาจ มีความเห็นต่างก็ไม่น้อย เนื่องจากคณะกรรมการมาจากหลายด้านทั้งคนในแบงก์ชาติและคนนอกแบงก์ชาติ รวม 12 คน ซึ่งงานนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย!!! 

คณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วย ประธานกรรมการ
1 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง มีผู้ว่าการ ธปท. เป็นรองประธาน และรองผู้ว่าการ 3 คน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 5 คน เป็นกรรมการ และผู้ว่าการ ธปท.เป็นผู้แต่งตั้งพนักงาน 1 คนเป็นเลขานุการ

โฉมหน้าคณะกรรมการ ธปท.ภายใต้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ โดยมี เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ​เป็นรองประธานกรรมการ และมีกรรมการจาก 3 รองผู้ว่าการ คือ รุ่ง มัลลิกะมาส, อลิศรา มหาสันทนะ, ปิติ ดิษยทัต ส่วนกรรมการอื่น ๆ คือ ดนุชา พิชยนันท์, พรชัย ฐีระเวช ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คือ รพี สุจริตกุล, ปกรณ์ นิลประพันธ์, สุภัค ศิวะรักษ์, พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ กรรมการ และ ชุณหจิต สังข์ใหม่ เป็นกรรมการ มี จิรานุวัฒน์ ธัญญะเจริญ เป็นเลขานุการ

แจงอำนาจหน้าที่

อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการแบงก์ชาติ นอกเหนือจากการบริหารจัดการงานภาพรวมของ ธปท.แล้ว ยังกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนของเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยกำหนดได้ว่าจะไปลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง และแต่งตั้งคณะกรรมการด้านนโยบาย ทั้ง 3 ด้าน ทั้งนโยบายการเงิน สถาบันการเงิน และการชำระเงินของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีอิสระจากการเมืองเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงให้คำแนะนำต่อ รมว.คลัง เพื่อปลดผู้ว่าการ ธปท. ในกรณีบกพร่องในหน้าที่ร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ

สุดท้ายต้องจับตาดูว่าการเข้ามาของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ในวาระตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ 3 ปีเต็มนี้ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงความเป็นอิสระ หรือการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติได้มากน้อยแค่ไหน?

เพราะทุกวันนี้มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่คาดหวังให้แบงก์ชาติ กำกับธนาคารให้ดูแลเงินของประชาชนเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการเข้ามาในครั้งนี้ของกิตติรัตน์จะเข้ามาล้วงทุนสำรองฯ ที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพประเทศนี้หรือไม่ หรือจะเข้ามาแก้กฎหมายความเป็นอิสระของแบงก์ชาตินี้ได้อย่างไรหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด.