เรียน คุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ
ผมอายุ 54 ปี ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงมานานประมาณ 3 ปี เมื่อกลางปีที่แล้วมีอาการที่อวัยวะเพศแข็งตัวไม่สามารถสอดใส่ได้ และเป็นบ่อยมากจึงไปปรึกษาหมอที่ดูแล และได้ทำการเจาะเลือดตรวจพบว่ามีน้ำตาลในเลือดสูงร่วมด้วย หมอจึงให้ยามากินเพื่อควบคุมทั้งความดัน และน้ำตาลในเลือด พร้อมกับให้ยาเฉพาะกิจมากินในวันที่จะมีเพศสัมพันธ์ พบว่าวันไหนที่กินยาเฉพาะกิจตามที่หมอสั่ง อวัยวะเพศจะแข็งตัวดีเยี่ยม แต่พอวันไหนที่ไม่ได้กินยาดังกล่าวก็พบว่าอวัยวะเพศก็จะแข็งตัวไม่เต็มที่ จึงต้องพึ่งยาเฉพาะกิจทุกครั้งที่ร่วมเพศ
จึงอยากเรียนถามคุณหมอว่าใช้ยาเฉพาะกิจเพียงอย่างเดียวสามารถรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศให้หายได้ไหม และต้องกินอีกนานเท่าไหร่ถึงจะหาย
ด้วยความนับถือ
ไพศาล
ตอบ ไพศาล
ในปัจจุบันยากินที่นิยมใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายก็คือยาเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยับยั้งพีดีอี5 โดยจะมีหน้าที่ไปออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อเรียบของคอร์ปัส คาเวอร์โนซัม (corpus cavernosum) ซึ่งจะไปยับยั้งการสลายตัวของไซคลิก
จีเอ็มพี (cGMP) จากเอนไซม์พีดีอี5 และเสริมกับการทำงานของสารไนติกออกไซด์ จากเซลล์บุผนังหลอดเลือด แต่ยาในกลุ่มยับยั้งพีดีอี5 นั้นจะไม่ได้ทำการรักษาฟื้นฟูพยาธิสภาพของหลอดเลือดที่เกี่ยวกับการเกิดอาการอีดี เช่น อีดีที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น
ซึ่งในคนไข้ที่เซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดผิดปกติอย่างมาก ยาในกลุ่มยับยั้งพีดีอี5 จะไม่สามารถทำให้ระดับไซคลิกจีเอ็มพี (cGMP) อยู่ในระดับที่เพียงพอได้ เนื่องจากมีระดับของสารไนตริกออกไซด์จากผนังหลอดเลือดไม่เพียงพอในการกระตุ้นให้เกิดการสร้างไซคลิกจีเอ็มพี (cGMP) และเมื่อมีการบาดเจ็บเรื้อรังและมีการสูญเสียของกล้ามเนื้อเรียบ จะทำให้เซลล์ที่ยาในกลุ่มยับยั้งพีดีอี5 จะไปออกฤทธิ์ลดน้อยลง ด้วยเหตุผลนี้การรักษาอาการอีดีด้วยยาเฉพาะกิจเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ จะได้ผลในคนไข้บางคนเท่านั้น ซึ่งมีประมาณ 50% ยังต้องอาศัยการรักษาด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อเพศ การใช้ยาฉีดในกลุ่มเบาหวานเรื้อรัง กลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมาก
นอกจากนี้การใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดขึ้นมาใหม่ในองคชาต สามารถเพิ่มสารไนตริกออกไซด์ เพิ่มสารไซคลิกจีเอ็มพี (cGMP) ที่เพียงพอ วิธีนี้เป็นการรักษาอาการอีดีระยะยาว ช่วยลดการไม่ตอบสนองต่อยาเฉพาะกิจ ในกลุ่มเบาหวานเรื้อรัง ช่วยรักษาอาการอีดีในกลุ่มคนไข้โรคหัวใจที่ได้รับยารักษากลุ่มไนเตรตซึ่งไม่สามารถใช้ยาเฉพาะกิจได้ การเพิ่มสารไนตริกออกไซด์ด้วยคลื่นความถี่ต่ำนี้ได้ศึกษาแล้วว่าคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ไม่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นทั้งระหว่างที่ทำการรักษาและหลังทำการรักษาครบโปรแกรม นอกจากนี้แล้วเมื่อรักษาครบโปรแกรมยังสามารถลดการใช้ยาเฉพาะกิจลงไปได้ การรักษาอาการอีดีที่ตรงจุดเกิดเหตุจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา และส่งผลดีต่อคนไข้ สามารถสร้างความสุขให้แก่ครอบครัว ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.
………………………………………………
ดร.โอ สุขุมวิท51