ณ วันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำกล่าวที่ว่า “ทักษิณ คิด รัฐบาลทำ” ไม่ใช่เรื่องจริง!! เพราะที่ผ่านมาทุกครั้งที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ไปขึ้นเวทีเอ่ยปากที่ใด นโยบายที่โยนออกไปก็มักจะกลับมาเป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต่อให้นโยบายนั้น ๆ จะเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้ตระเตรียมไว้อยู่แล้วก็ตาม!!
แต่ในเชิงการเมืองแล้ว!! ต่างเป็นที่รู้กันอยู่ว่า ผู้บริหารตัวจริงเสียงจริงนั้นคือใคร? แม้ในเวทีหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี เมื่อหลายวันก่อน “ทักษิณ” ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ได้ออกตัวชัดเจนว่าตัวเองไม่สามารถ “ครอบงำ” นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ผู้เป็นบุตรสาวได้ แต่ตรงกันข้ามตัวเองกลับถูกสั่งการจาก “นายกฯอ๊ิงค์” ให้ช่วยคิดด้วยซ้ำไป
แจกเงินรอบสองให้สูงวัย
ทั้งนี้บนเวทีปราศรัย “ทักษิณ” ได้ระบุถึงนโยบายและทิศทางนโยบายที่เชื่อว่าได้นำมาสู่การขับเคลื่อนของรัฐบาล ทั้งเรื่องของการแจกเงินหมื่นบาท เฟส 2 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ การแก้หนี้ให้กับประชาชนคนไทย หรือแม้แต่เรื่องของการรีแบรนด์โอทอป เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท รวมไปถึงนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 400 บาทเป็น 700 บาท
การเปิดฉากบนเวทีปราศรัยของ “ทักษิณ” จึงนำมาสู่การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกระลอก แม้ในหลายเรื่องยังไม่ชัดเจน ยังไม่สามารถประกาศพร้อมกันในทีเดียวได้ก็ตาม แต่ที่ชัดเจนแล้ว ก็เป็นเรื่องของการแจกเงินสด 10,000 บาท เฟสที่ 2 ให้กับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีอยู่ประมาณ 4 ล้านคน ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยเตรียมดำเนินการให้เร็วที่สุดหรือก่อนช่วงตรุษจีนในเดือนม.ค.ปีหน้า
ขณะเดียวกันยังมีเงื่อนไขสำคัญ คือต้องเป็นผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนกับแอปทางรัฐ ในช่วงที่เปิดให้ลงทะเบียนพร้อมผ่านการตรวจสอบสิทธิตามเงื่อนไขและผ่านการพิสูจน์ตัวตนมาแล้ว ไม่เพียงเท่านี้!! เหนือสิ่งอื่นใดต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับเงินสด 10,000 บาท ในเฟสแรก ที่รัฐบาลได้แจกเงินไปก่อนหน้านี้แล้ว
ปลดหนี้ให้คนไทย
นอกจากการแจกเงินในรอบสอง รัฐบาลของนายกฯแพทองธาร ยังจัดเต็มให้อีก กับการ “ปลดเปลื้องหนี้สิน” แม้ว่าเวลานี้ความชัดเจนจากแบงก์ชาติ ที่เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลแบงก์พาณิชย์ ที่เป็นเจ้าหนี้หลักของประชาชนคนไทยที่หาเช้ากินค่ำ รวมไปถึงเอสเอ็มอีที่กำลังเผชิญศึกหนัก จนล่าสุด…มีตัวเลขจากเครดิตบูโรที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าล่าสุดในไตรมาสที่ 3 ของปี 67 นี้พบว่า ในจำนวนหนี้เสียของระบบที่ผ่านเครดิตบูโร จำนวน 1.2 ล้านล้านบาท กลายเป็นว่าหนี้เสียของเอสเอ็มอี กลับเพิ่มมากขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในเรื่องของการแก้หนี้!! เบื้องต้น…มีความชัดเจนแล้วว่า จะพักชำระดอกเบี้ยให้กับผู้ที่เข้าโครงการเป็นเวลา 3 ปี โดยใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยขยายระยะเวลาผ่อนชำระให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลจะลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และ กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ได้
หวังแก้หนี้ให้2.3ล้านคน
ขณะที่เป้าหมายของลูกหนี้จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายหลักใน 3 กลุ่ม คือ ลูกหนี้สินเชื่อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไม่เกิน 8 แสนบาท และลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่เกิน 3 ล้านบาท เช่นกัน โดยทั้ง 3 กลุ่มต้องเป็นหนี้เสีย อายุไม่เกิน 1 ปี กำหนดปิดวันนับยอดหนี้ 1 ปี ไม่เกินวันที่ 31 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา คาดการณ์กันว่ามาตรการนี้จะช่วยลูกหนี้ที่เข้าข่ายราว ๆ 2.3 ล้านบัญชี รวมมูลหนี้ทั้งหมดแล้วก็ตกประมาณ ที่ 1.31 ล้านล้านบาท
เพราะอย่าลืมว่าปัญหาหนี้สินกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ โดยข้อมูลจาก “เครดิตบูโร” หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนภายใต้ระบบเครดิต
บูโร มีมากถึง 13.6 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมดมีอยู่ 16.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.5%
หนี้เน่าพุ่ง1.2ล้านล.
ส่วนหนี้เน่าหรือเอ็นพีแอล ก็เป็นไปตามคาดที่ 1.2 ล้านล้านบาท หรือ 8.8% ของจำนวนหนี้ในระบบเครดิตบูโร เพิ่มขึ้น 14.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และหนี้เน่าจำนวน 1.2 ล้านล้านบาท นี้ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ของปีที่แล้ว แม้เว้นวรรคไปบ้างในช่วงของไตรมาสสุดท้ายของปี 66 แต่ปรากฏว่าพอถึงไตรมาสแรกของปีนี้ ก็พลิกกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ขณะที่ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ต.ค. 67 ที่สำรวจจากความคิดเห็นภาคธุรกิจสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ พบว่า ภาคธุรกิจกำลังมีปัญหารุมเร้ารอบด้าน โดยได้นำทัพภาคเอกชนส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี การแก้ปัญหาหนี้ การเข้าถึงสินเชื่อให้มากขึ้น รวมไปถึงการออกมาตรการควบคุมสินค้าจีนที่อาจทะลักเข้าไทยจนกระทบต่อเอสเอ็มอี ทำให้แข่งขันได้ยาก เพราะเวลานี้สินค้าจีนที่นำเข้ามากำลังสร้างความเสียหายให้เอสเอ็มอีเข้าใกล้ 1 แสนล้านบาทอีกต่างหาก
ยืนโครงการไร่ละพันบาท
นอกจากนี้ยังมีมาตรการ “ไร่ละ 1,000 บาท” หรือ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งรัฐบาลยอมรับว่า มีความจำเป็น เพราะกลุ่มเกษตรกรยังคงเป็น
กลุ่มที่มีความเปราะบาง หลายครอบครัวยังมีภาระหนี้อีกมาก โดยคร่าว ๆ เบื้องต้นเป็นโครงการที่เข้ามาดูแลเกษตรกรในระยะสั้น ส่วนในรายละเอียดคงต้อรอความชัดเจนอีกครั้ง
ในเรื่องนี้ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ย้ำว่า โครงการไร่ละ 1,000 บาท คาดว่าจะจ่ายเงินได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วช่วงปลายปีนี้ หรือถึงต้นปี 2568 แต่ตอนนี้กำลังดูรายละเอียดของโครงการว่าจะจ่ายอย่างไร เพราะมีทั้งข้อเสนอการจ่ายเงินโครงการไร่ละ 1,000 บาท และทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีข้อเสนอหลายแบบ เช่น การให้ไร่ละ 500 บาท จำนวน 20 ไร่ และการให้ไร่ละ 1,000 บาท จำนวน 10 ไร่ ทั้งหมดจะต้องไปหารือกันอีกครั้ง
ขณะที่มาของแหล่งเงินในโครงการนี้ ยืนยันว่าเป็นคนละโครงการกับการแจกเงิน 10,000 บาท หากเป็นชาวนาที่ขึ้นทะเบียนไว้ถูกต้อง จะมีสิทธิรับเงินไร่ละ 1,000 บาท คาดว่าจะใช้งบประมาณจากมาตรา 28 โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกให้ก่อน ซึ่งเบื้องต้นจะใช้เงินน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยอาจอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท
ลุ้นอีกสารพัดมาตรการ
อย่างไรก็ตามการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งใหญ่ ผ่าน 3 มาตรการหลักในระยะสั้น ทั้งแจกเงิน 10,000 บาท กลุ่มผู้สูงอายุ จ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท และเตรียมออกมาตรการแก้หนี้สินด้วยการ “พักจ่ายดอกเบี้ย” นาน 3 ปี นี้ เป็นเพียงมาตรการในเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีมาตรการในเรื่องของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเที่ยวคนละครึ่ง รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ที่รัฐบาลเตรียมออกตามมา ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ครอบคลุมด้านการค้าและโลจิสติกส์ การเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่นเดียวกับมาตรการด้านการส่งเสริมเทคโนโลยีในภาคเศรษฐกิจ และมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหลายทั้งปวง แม้ว่าต้องใช้เงินงบประมาณอีกจำนวนมหาศาลก็ตาม แต่เพื่อให้การผลักดันนโยบายเดินหน้าได้ตามที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ที่สำคัญที่สุด…คือ การรักษาไว้เพื่อฐานเสียง เพื่อคะแนนเสียง รวมไปถึง “เก้าอี้ของรัฐบาล” ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่ามาตรการเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยทะยานเข้าใกล้เป้าหมายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ตั้งโจทย์ให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวให้ได้ 5% ตามที่หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ได้เพียงใด?