เนื้อความข้างต้นเป็นผลสำรวจ “พฤติกรรมมูเตลูคนไทย” ที่ สถาบันวิจัยฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้เผยไว้ในเวทีเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ล้วงลับมูเก็ตติ้ง–พลังซอฟต์พาวเวอร์ไทย” จัดโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เมื่อเร็วๆ นี้…
ฉายภาพ “คนไทย” กับเรื่อง “มูเตลู”
บ่งชี้ “ความเชื่อในสังคมไทยยุคใหม่”
ที่กับคนไทย “ยังคงมีอยู่เหนียวแน่น”
ทั้งนี้ “ความเชื่อแบบมูเตลู” ยังคงมีบทบาทและมีความยึดโยงกับชีวิตของคนไทยในยุคปัจจุบัน…แม้จะเป็นยุคดิจิทัลแล้ว ความเชื่อในเรื่องนี้ดูจะยังคงเหนียวแน่น…จนยากที่จะตัดให้ขาดออกจากการใช้ชีวิต และด้วยการที่ “กระแสมูตลู” ก็ได้การยอมรับจากคนรุ่นใหม่ ๆ กรณีนี้ก็จึงกลายเป็น “ช่องทางของนักการตลาด” ที่หยิบจับนำกระแสนี้มาใช้เป็น “เครื่องมือกระตุ้นการขาย” เพื่อทำยอดขายสร้างรายได้จากกระแสดังกล่าว จนเกิด “ศัพท์การตลาดใหม่” อย่างคำว่า… “มูเก็ตติ้ง (Mu-keting)”ขึ้นมา เป็นอีกรูปแบบการดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล
กับเรื่องนี้…ในเวทีเสวนาออนไลน์ที่จัดโดย ETDA ภายใต้หัวข้อ “ล้วงลับมูเก็ตติ้ง–พลังซอฟต์พาวเวอร์ไทย”ได้มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนมาร่วมวิเคราะห์และสะท้อนถึงกระแสดังกล่าวนี้ไว้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมในเวทีนี้ประกอบด้วย… หมอวั้ง–วรางคณา อัชชะกิจ เจ้าของเพจหมอวั้ง, อันธิกา ลิมปิอนันต์ชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง U Destiny แพลตฟอร์ม AI astrology เพื่อให้บริการดูดวง รวมถึง ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าภาควิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
สรุปในภาพรวม จากแง่มุมที่มีการสะท้อนไว้ในเวทีนี้ หลักใหญ่ใจความบางส่วนโดยสังเขปมีว่า…กระแส “มูเตลู” ในคนไทยตอนนี้ยังเป็นอีก “เทรนด์ที่มาแรงมาก”และถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของ “กลยุทธ์การตลาดยุคดิจิทัล” เกิดศัพท์การตลาดใหม่อย่างคำว่า “มูเก็ตติ้ง (Mu-keting)” ที่มุ่งหวังจะใช้กระแสมูเตลูกระตุ้นการซื้อ หรือ “ดึงดูดความสนใจผู้บริโภค” ให้…
“ถูกตกง่าย ๆ” ด้วย “กลยุทธ์อิงมูเตลู”
สำหรับความหมายศัพท์คำว่า “มูเก็ตติ้ง (Mu-keting)” นั้น ในเวทีเสวนาดังกล่าวทางผู้เชี่ยวชาญได้สะท้อนไว้ว่า… เป็น กลยุทธ์การตลาดที่ใช้ความเชื่อสร้างความสนใจ รวมถึง ใช้เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ ที่สำคัญกลยุทธ์นี้เป็น “เทรนด์มาแรง” และ ได้รับความนิยมในหลากหลายธุรกิจ โดยมีการนำมาใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่ง ทางตรง ได้แก่ ดูดวง ดูฮวงจุ้ย บูชาวัตถุมงคล หรือขายสินค้าและบริการที่เน้นเรื่องการเสริมดวงรูปแบบต่าง ๆ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งแบบออฟไลน์-ออนไลน์ ขณะที่ ทางอ้อม มักใช้ผ่านวิธีต่าง ๆ อาทิ นำสัญลักษณ์หรือสีมงคลผสมผสานลงในสินค้า เช่น บรรจุภัณฑ์ หรือให้ของแถมเชิงมงคลหรือเสริมดวง …นี่เป็นตัวอย่างการนำมูเตลูมาใช้เป็นกลยุทธ์
“มูเก็ตติ้ง” นั้น “มิใช่กลยุทธ์ฉาบฉวย”
กับประเด็นนี้ ในเวทีเสวนาออนไลน์ดังกล่าวชี้ไว้ว่า… เพราะในเชิงการตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว การตลาดแบบมูเก็ตติ้งเป็นการสร้างคุณค่าทางอารมณ์ (Emotional Benefit) ให้กับผู้บริโภค เช่น การสร้างความหวัง เพิ่มความมั่นใจ ช่วยให้เกิดความสบายใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่คนยุคนี้ต่างต้องการด้วยเหตุนี้การตลาดรูปแบบนี้จึงไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ที่มาเร็วไปเร็ว แต่เป็นเทรนด์ตลาดมาแรง ที่ทุก ๆ ธุรกิจสามารถใช้เพื่อสร้างโอกาส เพิ่มโอกาส ให้กับสินค้าและบริการของตนเองได้ และที่สำคัญ “การตลาดมูเก็ตติ้ง” ยังมี “จุดเด่น” คือ… ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะดีหรือแย่??…
เรื่อง “มูเตลู” นี้ก็ “ไม่เคยตกเทรนด์!!”
นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังได้ระบุผ่านเวทีเสวนาออนไลน์ดังกล่าวถึงวิธีพิจารณาที่จะนำ “มูเก็ตติ้ง” มาใช้ในการทำตลาดให้ประสบความสำเร็จ ว่า… ประการแรก กลยุทธ์ที่ใช้ต้องตอบโจทย์ได้จริง ทั้งกับกลุ่มสายมูตัวจริงและสายมูที่ไม่แสดงออก ประการที่สอง ปรับกลยุทธ์ให้ไม่ขัดกับภาพลักษณ์ ทั้งกับสินค้า บริการ แบรนด์ หรือภาพลักษณ์ของธุรกิจ เช่น หากเป็นกลุ่มลูกค้าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ก็ควรนำเรื่องการมูเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงมาใช้เพื่อช่วยส่งเสริมการขาย ประการที่สาม ต้องไม่ใช้กลยุทธ์แบบตะโกน แต่ใช้โดยเสริมเข้าไปกับสินค้าหรือบริการ โดยไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหมือนถูกยัดเยียด
ประการที่สี่ เน้นใช้เพื่อฮีลใจ–สร้างพลังบวก มากกว่าเน้นใช้ในลักษณะงมงายแม้ทุกคนจะรู้อยู่แก่ใจว่า การมูเป็นเรื่องของศรัทธาและความเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติแต่แบรนด์ก็ไม่ควรส่งเสริมให้เกิดความงมงาย หรือมุ่งสร้างยอดขายด้วยการโฆษณาจนเกินจริง แต่ควรนำเสนอในเชิงบวก หรือเพื่อสร้างกำลังใจชีวิต และประการที่ห้า ใช้พลังโซเชียลให้ตรงเป้า ด้วยการเข้าใจในพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนเจนต่าง ๆ เพื่อให้สื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย …ทั้งนี้ เหล่านี้เป็นการระบุไว้ถึงการนำ “กลยุทธ์มูเก็ตติ้ง” มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ โดยที่มี“คีย์เวิร์ดน่าคิด”คือ“ไม่งมงาย”…
คีย์เวิร์ดนี้ “ก็น่าคิดสำหรับคนไทยใฝ่มู”
“ถึงขั้นงมงาย” นั้น “อาจมีปัญหาได้”…
“มูเตลูฮีลใจสร้างพลังบวก…ดีกว่า”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์