ข่าวล่ามาแรงแซงทางโค้ง หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานา ธิบดีสหรัฐคนใหม่ ประกาศเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาเป็นอัตรา 25% ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง และจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นอัตรา 10% เช่นกัน โดยอ้างเหตุผลจากปัญหาการอพยพหนีเข้าเมืองและปัญหายาเสพติดที่ถูกส่งเข้ามาในสหรัฐ ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย แต่ก็เป็นการสุมไฟสงครามการค้าให้ร้อนระอุเร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้
เสยปลายคางไทย
แม้ทางการจีน โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะตอบโต้แบบประนีประนอมว่า ไม่มีใครชนะในสงครามการค้าหรือสงครามภาษี โดยจีนเชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งท่าทีของจีนแม้จะเอาน้ำเย็นเข้าลูบ แต่ก็เชื่อว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงจุดยืนอันแข็งกร้าวของทรัมป์ให้อ่อนลงได้
ส่งผลให้ทั่วทั้งโลกต่างแสดงความกังวลว่า ต่อจากนี้จะเกิดปัญหาใหญ่คอยบั่นทอนการค้า และเศรษฐกิจโลกที่ทำท่าจะฟื้นตัว ให้หักหัวดิ่งลงเหวอีกครั้ง เช่นเดียวกับไทย ที่เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกกว่า 60% ของจีดีพี อาจถูกลูกหลงกระทบเข้าเต็มปลายคาง ไม่ว่าผลกระทบทางอ้อมจากการค้าโลกที่ซบเซา หรือผลกระทบทางตรง ที่ไทยอาจโดนสหรัฐปรับขึ้นภาษีนำเข้าด้วย เพราะไทยถือเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐระดับต้น ๆ โดยปี 66 มากถึง 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากเกิน 1 ล้านล้านบาท แถมยังเป็นประเทศที่ถูกจับตาว่าเป็นฐานการผลิตของทุนจีน เพื่อส่งสินค้าออกไปตีตลาดสหรัฐอีกต่างหาก ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องจับตา
เทียบฟอร์มสมัยแรก
ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มของการค้าโลกที่หดตัวลงจากนโยบายกีดกันการค้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ประเทศ พึ่งพาการส่งออกอย่างไทยจะต้องเตรียมการรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ด้านภาคเอกชนที่ทำธุรกิจส่งออกต้องเตรียมรับมือผลกระทบด้วยการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนด้วย และคาดว่ากระบวนการขึ้นภาษีสินค้า
นำเข้าจากจีน และประเทศอื่น ๆ ของสหรัฐ น่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไปอีกประมาณ 6 เดือน
หากเทียบเคียงผลกระทบจากช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 1 ช่วงปี 60 นโยบายสงครามการค้าสมัยนั้นก็ออกฤทธิ์ส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกและไทยช่วงปี 62-63 อย่างชัดเจน เพราะภายหลังจากสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าจีนถึง 60% ทางการจีนก็มีมาตรการการตอบโต้กลับ ทำให้ภายในปี 62 จีดีพีของไทยก็จะลดดิ่งลงมาอยู่ที่ 2.1% จากปี 61 ที่ขยายตัวประมาณ 4.2% ส่วนการส่งออกปี 62 ก็หดตัวรุนแรงถึง 5.9% เป็นผลกระทบจากสงครามการค้าที่ชัดเจน
ปีหน้าส่งออกลดแน่
ส่วนสงครามการค้ารอบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทางสภาพัฒน์ก็ประเมินว่า จะกระทบเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม และจะทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกชะลอตัวด้วย โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปี 68 ขยายตัว 3% ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.3-3.3% (ค่ากลาง 2.8%) โดยการส่งออกไทยจะชะลอตัวจาก 3.8% ในปีนี้ เหลือเพียง 2.6% ในปี 68 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มุมของหน่วยงานที่ต้องทำงานหนักสุด คือกระทรวงพาณิชย์ โดย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ มีการเรียกประชุมติดตามสถานการณ์การค้าและการส่งออกสินค้าไทยในภูมิภาคอเมริกาและลาตินอเมริกาโดยทันที ซึ่งมีการมองโลกในแง่ดีว่า อนาคตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเป็นบวก และเชื่อมั่นว่าจะได้ประโยชน์จากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง โดยเฉพาะโอกาสดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ไทย พร้อมกับให้ทูตพาณิชย์เร่งสปีดเปิดตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพิ่มเติม
จับตาเกษตร-อาหาร
สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่หวาดเสียว จะได้รับผลกระทบก่อนใครอย่างภาคเกษตรและอาหารนั้น ทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ศึกษาว่านโยบายของทรัมป์จะสร้างความซับซ้อนให้กับการค้าสินค้าเกษตรและอาหารไปทั้งโลก และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้า ความต้องการสินค้า ภาคธุรกิจและผู้บริโภคทั้งระบบ เพราะทรัมป์จะเพิ่มภาษีนำเข้า พร้อมกับการยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
จีดีพีสหรัฐขยายตัวช้าลง รวมถึงการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นสูง
ที่สำคัญผู้บริโภคและบริษัทผลิตอาหารในสหรัฐ จะต้องเผชิญเงินเฟ้อเป็นแรงกดดันให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าอย่างประหยัด โดยเฉพาะสินค้าหรูหราในราคาไม่แพง และออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นครั้งคราว โดยเน้นเลือกซื้อสินค้าที่คุณค่า
ลิสต์สินค้าโดนกระทบ
โดยกลุ่มสินค้าเกษตรของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะถูกกระทบ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่สหรัฐนำเข้า เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กาแฟ ยางพารา ข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกได้มาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าผล
กระทบจะมีไม่มาก เนื่องจากสหรัฐไม่มีการผลิตสินค้าเกษตรเหล่านี้ในประเทศและมีทางเลือกที่จำกัด จึงจำเป็นต้องนำเข้าต่อไป
ถึงวันนี้ แม้สงครามการค้าจะยังมีความไม่แน่นอน แต่เชื่อจะเริ่มปะทุขึ้นแน่นอนในปีหน้า ที่สำคัญนโยบาย ทรัมป์ ที่จะออกมาเขย่าโลกระลอกใหม่นี้ ไม่ได้มีเพียงแค่สงครามการค้าอย่างเดียว ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องจับตาใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น นโยบายด้านแรงงานผู้อพยพ การเพิ่มความเข้มงวดจ้างงานชาวต่างชาติ แรงงานผิดกฎหมาย และการงดการให้สิทธิการเป็นสัญชาติอเมริกันสำหรับเด็กที่เกิดในประเทศ นโยบายภาษีการบังคับใช้มาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลเป็นการถาวร รวมทั้งปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 20-21% เป็น 15% เพื่อส่งเสริมภาคการผลิตในประเทศ และลดพึ่งพาการนำเข้า
มาตรการสะเทือนโลก
ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด สนับสนุนใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การยกเลิกเครดิต ภาษีคาร์บอนและเงินสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การผ่อนคลายมาตรการควบคุมด้านมลพิษ และการถอนตัวการเป็นสมาชิกของความตกลงปารีส ตลอดจนนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ เช่น ยกเลิกความช่วยเหลือทำสงครามยูเครน แต่ยังสนับสนุนอิสราเอล รวมถึงการเพิ่มความเข้มข้นมาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน ซึ่งจะกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลกอย่างแน่นอน
ปัจจัยเหล่านี้ นำมาซึ่งความน่าหวาดเสียวแทนประเทศไทยไม่น้อยทีเดียว และในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และมีจีนกับสหรัฐ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 และ 2 จะหลีกเลี่ยงอย่างไรให้พ้นจากการถูกผลกระทบ ซึ่งเป็นเรื่อง
ที่รัฐบาลและภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ จะต้องเร่งปรับตัวรับมือกันตั้งแต่วันนี้ จะมัวมานั่งมองโลกสวยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว.