ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการเกิดภาวะ “โลกร้อน” ก็ก่อเกิด “ภัยน้ำรุนแรง” ในไทยอยู่แล้ว พอโลกร้อนถึงขั้น “โลกรวน” ก็ยิ่งไปกันใหญ่!! และฉายภาพว่า ไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะ “ต้องเพิ่มวิธีการ แนวทาง เทคโนโลยี เพื่อรับมือ–ป้องกันภัยน้ำ” จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ยุคโลกรวน”ที่เกิดขึ้น
ถามว่า “จะมีวิธี–มีแนวทางอย่างไร??”
ก็ “น่าลุ้นข้อเสนอที่น่าจะเป็นคำตอบ”
โฟกัสกันที่ “ข้อเสนอที่น่าจะเป็นคำตอบ” ดังที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ระบุข้างต้น ข้อมูลข้อเสนอที่ว่านี้มาจากทาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ซึ่งสำหรับหน่วยงานนี้ จากข้อมูลถึงปี 2567 โดยระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติก็ได้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยเพื่อรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วม และดินถล่ม รวม 42 โครงการ เช่น… แนวทางการปรับตัวที่ใช้ระบบนิเวศเป็นฐานเพื่อการลดทอนความเสี่ยงจากอุทกภัย (นางศนิ ลิ้มทองสกุล สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม – ปี 2564), Fon Faa Arkat : สถานีแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมและสภาพอากาศอย่างแม่นยำด้วย AI สำหรับชุมชน (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) – ปี 2566) …ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถใช้ ประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติ
อย่างไรก็ดี ภัยน้ำยุคโลกรวนยิ่งซับซ้อน นโยบายแก้ต้องครอบคลุมตั้งแต่ระดับพื้นที่ถึงระดับชาติ ต้องสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ–เอกชน รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาที่กระทบต่อภูมิภาคและโลก สกสว. จึงได้จัดทำ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย และแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่พึงมี ภายใต้สภาวะโลกรวน”โดยสรุปมีดังนี้…
1.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยสร้างและบำรุงรักษาระบบการจัดการน้ำเพื่อให้มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้มีการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพทุกด้าน เช่น ใช้เทคโนโลยีในการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ใช้ระบบนำน้ำไปใช้ในการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น, 2.สร้างหรือปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่มีความเชื่อถือได้ เช่น สร้างเขื่อนที่มีการวางแผนอย่างเหมาะสม และ สร้างทางระบายน้ำและสร้างช่องระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ เพื่อ…
“ลดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น” จากน้ำท่วม
เพื่อ “ลดภัยน้ำท่วมหนักยุคโลกรวน”
3.สร้างพื้นที่สีเขียว เช่น ปลูกป่า สร้างพื้นที่สำหรับการรักษาน้ำ และพื้นที่สำหรับการกักเก็บน้ำฝน เพื่อช่วยลดความเสี่ยง ทั้งจากภัยน้ำท่วม และภัยน้ำแล้งด้วย, 4.ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยพลังงานทดแทนที่ว่านี้ก็เช่น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ใช้พลังงานลม และใช้พลังงานชีวมวล เพื่อลดการใช้พลังงานที่มีปริมาณการใช้น้ำมาก
5.สร้างระบบเตือนภัยและการจัดการวิกฤติการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น สร้างระบบเตือนภัยจากน้ำท่วม ระบบการจัดการวิกฤตการณ์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น การสร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ในอนาคต, 6.เพิ่มการมองผลกระทบและมาตรการรองรับทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ การท่องเที่ยว ทั้ง ในแง่พื้นที่ และในแง่เวลา (สั้น–กลาง–ยาว) เพื่อลดความเสี่ยง และเพื่อเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน, 7.พิจารณาสมดุลในแต่ละพื้นที่ โดย พิจารณาทั้งในส่วนลุ่มน้ำ รวมถึงข้ามพรมแดน เพื่อที่จะให้เกิดการแก้ไขป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่ยุคโลกรวน, 8.จัดความสำคัญตามผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง โดยนำข้อมูลสภาพภูมิอากาศในอนาคตมาใช้ประเมินผลกระทบ (เริ่มจากโครงการขนาดใหญ่) เพื่อ เตรียมมาตรการรองรับด้วยข้อมูลทั้งในอดีตและในอนาคตประกอบร่วมกัน
9.แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างองค์กรอย่างเป็นระบบภายใต้ฉากทัศน์ของการพัฒนาในอนาคต เนื่องเพราะการเปลี่ยนแปลงในอนาคตมีทั้งปัจจัยจากสภาพภูมิอากาศและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ต้อง กำหนดบทบาทของหน่วยงานให้วางแผนแก้ปัญหาทั้งแบบเชิงเดี่ยว และปัญหาที่ต้องบูรณาการร่วมแก้ไขกับหน่วยงานอื่น ไปพร้อมกัน (ทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา) เพื่อให้แก้ไขปัญหาเบ็ดเสร็จร่วมกันได้ดียิ่งขึ้นจึงจำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างขององค์กรรองรับ, 10.ปรับตัวทั้งยามปกติและภาวะวิกฤติ เพราะความแปรปรวนของสภาพอากาศรุนแรงมากขึ้น การปรับตัวเพื่อให้เกิดการสมดุลของน้ำต้องใช้มาตรการทั้งด้านโครงสร้าง ด้านอื่น ๆ และการจัดการร่วมกัน โดย การใช้มาตรการร่วมให้สมดุลต้องออกแบบให้เหมาะสมทั้งในยามปกติและภาวะวิกฤติ รวมถึงความเหมาะสมด้านงบประมาณ และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” สะท้อนมานี้นี่ก็คือ “10 วิธีการ-แนวทาง” โดยสังเขป…จาก “ข้อเสนอเชิงนโยบาย และแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่พึงมี ภายใต้สภาวะโลกรวน” ที่ทาง สกสว. ได้จัดทำขึ้น ซึ่งหลักใหญ่ใจความของข้อเสนอก็ อิงวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยเสนอให้ไทยมีการใช้ “แก้ปัญหาภัยน้ำที่ยิ่งรุนแรงเพราะโลกรวน”
ปีนี้ “ไทยน้ำท่วมหนักทั้งเหนือ–ทั้งใต้”
ปีต่อ ๆ ไป “เสียวไส้ว่าจะยิ่งหนักขึ้น”
ภัยน้ำโลกรวน “แก้-กันเดิม ๆ ไม่พอ”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์