กรณีดังกล่าวข้างต้นนั้น…จากคำบอกเล่าของศิลปินรายดังกล่าว ก็ต้อง “อึ้ง!! เพราะมีทั้งปล่อยข่าวเท็จเกี่ยวกับคนใกล้ชิดศิลปิน มีการเข้าไปหลังเวทีคอนเสิร์ตเพื่ออัดคลิปนำไปแบล็กเมล์ จนศิลปินคนดังกล่าวเดือดดาลมาก และกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้ทางกลุ่มแฟนคลับที่พฤติกรรมน่ารัก และชาวโซเชียล มองว่า… พฤติกรรมร้ายกาจของแฟนคลับ” บางคนเช่นนี้ ดูจะคล้าย ๆ…

พฤติกรรมที่ถูกเรียกว่าการ “ซาแซง”

ที่เคย “เกิดกับวงการ K-Pop เกาหลี”

ใครจะคาดคิดว่า “ก็เกิดขึ้นในไทย!!”

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลกรณีนี้… ซึ่งใครที่ไม่ใช่คอวงการบันเทิงเกาหลี-ติ่ง K-Pop ก็คงจะไม่คุ้นคำว่า “ซาแซง” โดยคำนี้อื้ออึงในวงการบันเทิงเกาหลีอยู่เป็นระยะ ๆ เป็น “ศัพท์เฉพาะ” ที่ใช้เรียก “พฤติกรรมล้ำเส้นของแฟนคลับ” บางคน ซึ่งคำว่า “ซาแซง”หรือ ซาแซงฮวาล (Sasaenghwa)” นี้ก็หมายถึง“การทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจหรือรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของศิลปิน” โดยบริบทแฟนคลับที่มีพฤติกรรมแนวนี้ บางทีก็เรียกว่า… “ซาแซงแฟน”

ซาแซง” ที่ว่านี้ มีหลาย ๆ แหล่งข้อมูลได้สะท้อน-ได้อธิบายเอาไว้ว่า… ซาแซงเป็นคำที่เริ่มรู้จักและมีการนำมาใช้ในวงการบันเทิงเกาหลี หรือวงการ K-Pop เพื่อพูดถึงแฟนคลับที่มีพฤติกรรมรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของศิลปิน วงการบันเทิงเกาหลี ซึ่งที่เคยเกิดกระแสโด่งดังเกี่ยวกับ “พฤติกรรมซาแซง” นั้นก็มีหลาย ๆ กรณี อาทิกรณีวง EXO และ BTS วงบอยแบนด์ชื่อดัง ที่สมาชิกวงเคยรายงานถึงการถูกติดตามและการถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวจากแฟนคลับ หรืออย่างวงเกิร์ลกรุ๊ปดัง BLACKPINK ก็เคยมีการออกมาเผยถึงประสบการณ์ถูกถ่ายรูปหรือถูกแฟนคลับบันทึกวิดีโอในสถานการณ์ไม่เหมาะสม

นอกจากนั้นก็ยังมีศิลปินอีกหลายรายที่เคยได้รับผลกระทบจากการถูก “แฟนคลับซาแซง” รวมถึงวง TWICE: ซึ่งก็เป็นเกิร์ลกรุ๊ปดัง ที่สมาชิกในวงก็เคยออกเผยถึงความรู้สึกไม่สบายใจจากการที่สมาชิกในวงถูกติดตามโดยแฟนคลับ ขณะที่วงดังอย่าง GOT7 ที่สมาชิกมีคนไทยด้วย นี่ก็เคยเจอกับการถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวจนส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันเช่นกัน

นี่เป็นบางส่วนของ “ศิลปิน K-Pop”

ที่เคยเจอกรณี “แฟนคลับซาแซง”

แล้ว พฤติกรรมซาแซงร้ายกาจอย่างไร? ส่งผลกระทบกับชีวิตศิลปินแค่ไหน? ก็มีข้อมูลในหลาย ๆ แหล่ง เช่น วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี ที่ได้ระบุเอาไว้ว่า… การซาแซงศิลปินของแฟนคลับบางคน พฤติกรรมดังกล่าวนี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของศิลปิน แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตและความสามารถในการทำงานของศิลปิน ด้วย

ทั้งนี้ “พฤติกรรมไม่น่ารัก” ต่าง ๆ ที่ “เข้าข่ายซาแซง” นั้น จากข้อมูลที่มีการระบุไว้ มีอาทิ… การ “ติดตามศิลปินไปตามสถานที่ต่าง ๆ แทบจะตลอดเวลา” โดยเฉพาะที่บ้าน, การ “แอบถ่ายรูป แอบบันทึกวิดีโอ ในสถานการณ์ไม่เหมาะสม” สถานการณ์ที่ศิลปินไม่ต้องการถูกถ่าย-ถูกบันทึก, การ “ส่งข้อความ โทรศัพท์ หาศิลปินโดยไม่ได้ขออนุญาต” นี่ก็ใช่, การ “แฝงตัวเข้าไปในงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อที่จะเจอศิลปิน” นี่ก็ด้วย และการ “สร้างความยุ่งเหยิงความไม่สะดวก” ในชีวิตประจำวันศิลปิน กับ “ใช้พฤติกรรมก้าวร้าว” แสดงออกถึงความไม่เป็นมิตรต่อศิลปิน นี่ยิ่งเข้าข่าย …ซึ่งกับประเภทที่มีการ “ปล่อยข่าวเท็จ” หรือมีการ “ถ่ายคลิปในสถานการณ์ไม่เหมาะสมเพื่อแบล็กเมล์” ก็ย่อมเข้าข่ายชัด ๆ

นี่เป็นบางส่วน “พฤติกรรมซาแซง”

ที่ “กระทบต่อศิลปินและคนใกล้ชิด”

ส่วน “วิธีรับมือการซาแซง” นั้น ก็มีข้อมูลในหลาย ๆ แหล่ง โดยสังเขปมีว่า… การแก้ปัญหาพฤติกรรมซาแซงนั้นในปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศได้เริ่มมีการนำมาตรการหลาย ๆ อย่างมาใช้เพื่อที่จะปกป้องและรักษาความเป็นส่วนตัวของศิลปิน ดังนี้… ใช้กฎหมาย” โดยรัฐบาลบางประเทศได้มีการออกกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว เพื่อปกป้องศิลปินจากการติดตามและการถูกตามแอบถ่าย, สร้างมาตรการภายในบริษัท” โดยค่ายเพลงและบริษัทศิลปินได้มีนโยบายจัดการกับแฟนคลับที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม รวมถึงมีการฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับวิธีจัดการกับสถานการณ์ซาแซง

ใช้เทคโนโลยี” เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิดในสถานที่ทำงานหรือบ้านศิลปินเพื่อเพิ่มความปลอดภัย หรือใช้แอปพลิเคชันหรือระบบเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการจัดการกับการถูกติดตาม, “สื่อสารกับแฟนคลับ” ด้วยการให้ข้อมูลและการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียหรือกิจกรรมต่าง ๆ, สร้างความตระหนักรู้” ในหมู่แฟนคลับ เกี่ยวกับผลกระทบของพฤติกรรมซาแซง อย่างไรก็ตาม มาตรการที่หนักสุดก็คือดำเนินคดีทางกฎหมาย ฟ้องร้องแฟนคลับที่มีพฤติกรรมซาแซง เพื่อเป็นการลงโทษและเป็นกรณีตัวอย่าง …เหล่านี้เป็นข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับกรณีที่เรียกว่า “ซาแซง”

พฤติกรรมเชิงลบ” แฟนคลับบางคน

พฤติกรรมไม่น่ารักที่ “ทำต่อศิลปิน”

จาก K-Pop “ลามสู่ T-Pop ด้วย!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์