สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าในระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (31 ต.ค. 67) ยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ 61.85%, ถ่านหิน (รวมลิกไนต์) 19.40%, พลังงานหมุนเวียน (พลังน้ำ, อื่น ๆ) 17.52%, น้ำมันดีเซล 0.02%, น้ำมันเตา 0.16%, อื่น ๆ (สปป.ลาว, มาเลเซีย, ลำตะคองชลภาวัฒนา) 1.05%
การเจรจาพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย–กัมพูชา (OCA) จะสำเร็จลุล่วง จนถึงการขุดก๊าซธรรมชาติ–น้ำมันดิบ ขึ้นมาแบ่งกันใช้สองประเทศ ต้องผ่านอะไรบ้าง
1.คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (JTC) ตอนนี้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังไม่ได้ตั้ง JTC ไปคุยกับกัมพูชา ภายในกรอบและกลไกในการเจรจาที่เรียกกันว่า “MOU 2544”
2. ถ้า JTC สองประเทศเจรจาหารือประเด็นต่างๆ จนได้ข้อสรุปแล้ว! JTC ฝ่ายไทยจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ
3.ถ้า ครม.เห็นชอบ ก็ส่งเรื่องไปที่รัฐสภา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภา 700 คน (สส.+สว.) โหวตว่าเห็นชอบให้รัฐบาลไปลงนามกับกัมพูชาในกรณี OCA หรือไม่
“MOU 2544” ผ่านมาหลายรัฐบาล! แต่ทำไมเพิ่งมาคลั่งชาติ รักชาติกันตอนนี้? พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศมาเกือบ 10 ปี เป็นผู้นำที่ “ท็อปฟอร์ม” มาก ๆ เนื่องจากมี “ม.44” ขนาดสั่งปิดเหมืองทองคำใน จ.พิจิตร ก็ยังทำมาแล้ว! ทำไมไม่ไปเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ ม.44 สั่งยกเลิก MOU2544 ให้รู้แล้วรู้รอดไป!
อันที่จริง OCA ที่ไทยจะพัฒนาร่วมกับกัมพูชา ก็เหมือนกับแหล่ง JDA ที่ไทย-มาเลเซียพัฒนาร่วมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงบางคนขอว่าอย่าเรียก “พื้นที่ทับซ้อน” แต่ให้เรียก “พื้นที่อ้างสิทธิ”
ข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุถึงแหล่ง JDA คือบริเวณที่ไทยและมาเลเซียอ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร
ปี 2512 ไทยและมาเลเซีย เจรจากันเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน และมีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2522 ได้ทำ MOU เพื่อพัฒนาและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว
ปี 2533 ได้ลงนามในความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย–มาเลเซีย โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคลรับผิดชอบแทนรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต 50:50
จนกระทั่งปี 2548 จึงเริ่มดำเนินการผลิต (First Gas) ในแหล่ง A-18 จากนั้นปี 2552 เริ่มดำเนินการผลิตในแหล่ง B-17 และปี 2559 เริ่มผลิตก๊าซในแปลง B-17-01
จะเห็นได้ว่าการเจรจาแหล่ง JDA ไทย-มาเลเซีย สำเร็จลุล่วง ชัดเจนถึงการแบ่งปันผลผลิต 50:50 มาตั้งแต่ปี 2533 ตอนนั้น “ทักษิณ ชินวัตร” ยังไม่ได้เล่นการเมือง ส่วนไทยก็ไม่ได้เสียดินแดนให้มาเลเซีย
ดังนั้นเรื่อง MOU2544 ยาวไปถึง OCA มีบ่อก๊าซของเราเองก็ไม่เอา! แต่จะฝากอนาคตไว้กับพวกปิดนั่นปิดนี่ อยากจะใช้ไฟฟ้าแพงขึ้น เพราะต้องนำเข้าก๊าซมาผลิตไฟฟ้า ก็สุดแต่ใจจะไขว่คว้า!!.
………………………………………….
พยัคฆ์น้อย