ทั้งนี้ ยุคดิจิทัลเช่นยุคนี้…ศิลปินหรือคนดัง ๆ นิยมใช้ “ช่องทางโซเชียล” เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับเหล่าด้อมของตนเอง ซึ่งก็มีผลเชิงบวกต่อศิลปิน ช่วยรักษาฐานความนิยมจากกลุ่มแฟนคลับ แต่ก็อาจมี “ปัญหา” จาก “ความสัมพันธ์แบบด้อม” ได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับ “ด้อม” บางคนที่ “ไม่รักษาระดับความสัมพันธ์” รูปแบบนี้ จน…
ส่งผลให้ “เกิดความสัมพันธ์เป็นพิษ”
“จากรักที่มากล้นเกิน” เกินระดับพอดี
จน “เกิดปัญหาทั้งต่อศิลปินและด้อม”
อย่างไรก็ตาม นอกจาก “มุมลบ” ในแง่ “ข้อเสีย” จากการที่ “ความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียลฯ มีมากไป” แล้ว ในมุมกลับกัน ถ้าหาก “ด้อม” หรือ “แฟนคลับ” สามารถรักษาระดับความสัมพันธ์แบบข้างเดียวหรือแบบฝ่ายเดียวดังกล่าวเอาไว้ให้ “อยู่ในขอบเขตเหมาะสม–พอดี” ไม่ล้นเกินไป กรณีความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียลฯ ก็จะมี“มุมบวก”ก็จะมี“ข้อดี”…
จะดีอย่างไร??…ลองมาพินิจข้อมูลกัน…
ทั้งนี้ กับ “ข้อดี” กับ “มุมไม่แย่” ของ“รักแบบด้อม”ซึ่งเป็น “ความสัมพันธ์แบบกึ่งมีส่วนร่วมทางสังคม” นั้น ก็มีการสะท้อนไว้ผ่านรายการออนไลน์ที่จัดโดย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้ร่วมรายการประกอบด้วย ผศ.ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม และนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะจิตวิทยา คือ นัทธ์ชนัน สังฆรักษ์ กับ วรินธา วิจิตรวรศาสตร์ ซึ่งก็มีการวิเคราะห์ผ่าน “มุมจิตวิทยา” ถึง “ข้อดี” ของความสัมพันธ์ “พาราโซเชียล รีเลชั่นชิป”
ทาง นัทธ์ชนัน นิสิตคณะจิตวิทยา หนึ่งในผู้ร่วมรายการ ได้ระบุถึงเรื่องนี้ไว้ว่า…จากที่ได้ทำการศึกษา ค้นพบว่า… ปัจจุบันสามารถจำแนก “พฤติกรรมของด้อม”หรือแฟนคลับ ได้ “4 ระดับ” โดยแบ่งออกเป็นระดับต่าง ๆ ดังนี้คือ… ระดับที่ 1 “แฟนคลับที่รู้เพียงผิวเผิน” ซึ่งเป็นกลุ่มด้อมหน้าใหม่ที่อาจจะเพิ่งได้มาติดตามศิลปินแบบใกล้ชิด, ระดับที่ 2“แฟนคลับที่เริ่มอุทิศตัว” เป็นการขยับจากแฟนคลับในระดับที่ 1 ก้าวขึ้นมาสู่ระดับที่ 2 โดยแฟนคลับกลุ่มนี้จะเริ่มมีการติดตามศิลปินมากขึ้น เช่น มักมองหากิจกรรมที่เข้าร่วมเพื่อให้ได้ใกล้ชิดศิลปินมากขึ้น จากเดิมที่แค่ติดตามหรือส่องผ่านช่องทางต่าง ๆ

ถัดมา… ระดับที่ 3“แฟนคลับที่เริ่มทุ่มเทกายใจ”ซึ่งเป็นการก้าวขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งของ “ชาวด้อม” โดยแฟนคลับที่ขยับขึ้นสู่ระดับที่ 3 นี้ก็จะเริ่มเพิ่มขอบเขตการติดตามศิลปินที่ชอบที่รัก จากเดิมที่แค่ติดตามผ่านโซเชียลและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ศิลปินไปร่วมงาน ก็จะขยายวงการติดตามศิลปิน ด้วยการ พยายามไปดักรอเพื่อให้ได้พบเจอศิลปินตามสถานที่ต่าง ๆ
และ…อีกระดับก็คือ… ระดับที่ 4“แฟนคลับที่เริ่มล้ำเส้น” ที่เริ่มแสดงออกให้เห็นถึง พฤติกรรมไม่เหมาะสมของด้อมต่อศิลปิน เช่น การ สะกดรอยตามศิลปินในชีวิตจริง ซึ่งในต่างประเทศ อย่างเกาหลีใต้ ก็เคยเกิดกรณีในลักษณะนี้โดยเหล่าแฟนคลับของศิลปินเกาหลีใต้ จนเกิดคำว่า “ซาแซงแฟน” ขึ้นมา เพื่อนำมาใช้อธิบาย “รักร้าย ๆ” รูปแบบนี้ …เหล่านี้เป็น “4 ระดับความสัมพันธ์แบบข้างเดียวของด้อม” ที่มีตั้งแต่รักระดับปกติ…ไปจนถึงขั้นรักร้าย ๆ ที่ไม่เหมาะไม่ควร
แล้วถ้า “รักษาระดับ” ความสัมพันธ์แบบข้างเดียว หรือ “พาราโซเชียล รีเลชั่นชิป” แบบนี้ ให้อยู่ในขอบเขต–ให้อยู่ในระดับที่พอดี กรณีนี้ จะส่ง “ผลดีต่อด้อม” หรือแฟนคลับ ได้อย่างไรบ้าง?? ประเด็นนี้ วรินธา หนึ่งในผู้ร่วมรายการ ระบุไว้ว่า…จากประสบการณ์ส่วนตัวที่พบ ถ้า “ความชอบอยู่ในระดับที่เหมาะสมก็จะมีประโยชน์มาก” ในแง่ของการ “ฮีลจิตใจจากอารมณ์ที่กำลังแย่” เช่น หากกำลังมีปัญหาชีวิต เมื่อได้พูดคุยกับศิลปินที่ชื่นชอบก็จะช่วยให้ความรู้สึกแย่ ๆ ลดน้อยลงหรือหายไปได้ จนมีกำลังใจในชีวิตต่อไป หรืออยากที่จะสู้ชีวิตต่อไปเพื่อที่จะได้มีโอกาสติดตามศิลปินต่อไปเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ ทางผู้ร่วมรายการคนเดิมยังระบุถึง “ข้อดีของรักแบบด้อม” ซึ่งมี “ต่อสุขภาวะทางจิต” ไว้อีกว่า… จากงานวิจัยที่ทำในหัวข้อ “การศึกษาระดับที่แฟนคลับเทิดทูนบูชาศิลปิน” เพื่อหาคำอธิบายว่า… “ความรัก–ความสัมพันธ์แบบด้อม” นั้นจะมีผลอย่างไรต่อสุขภาวะทางจิตหรือไม่?? จากผลศึกษาพบว่า… ถ้าแฟนคลับมีการติดตามหรือรับชมศิลปินโดยที่สามารถบาลานซ์ระดับการใช้โซเชียลของตัวเองได้ หรือ ควบคุมระดับความคลั่งไคล้ได้ในความสัมพันธ์รูปแบบ “พาราโซเชียล รีเลชั่นชิป” ก็จะ “ช่วยเพิ่มสุขภาวะทางจิตที่ดี” โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับ “ด้อม” ที่มี “รักแบบทึกทักจนมากเกินไป”
ขณะที่ ผศ.ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ ก็ได้อธิบายสรุปเรื่องนี้ในช่วงท้ายของรายการออนไลน์ที่จัดโดย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไว้ว่า… “ความสัมพันธ์ของแฟนคลับกับศิลปิน” ที่เป็น “สัมพันธ์แบบรักข้างเดียว” นี้ หากจะใช้เรื่องนี้ให้เกิด “ประโยชน์ต่อสุขภาวะทางจิต” ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกันของ 2 ฝ่าย คือ ศิลปิน และแฟนคลับ โดย แฟนคลับต้องรู้ขอบเขต ต้องไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของศิลปิน ส่วนศิลปินก็ต้องรู้ว่าคอนเทนต์แบบใดเปิดเผยได้–แบบใดอันตรายและที่สำคัญศิลปินต้องไม่ปกป้องแฟนคลับที่ทำผิดกฎ …นี่เป็นคำแนะนำน่าพิจารณา เพื่อให้เกิดประโยชน์จาก…
สัมพันธ์ข้างเดียว หรือ “รักแบบด้อม”
“ทึกทักรักมากไป” ก็จะ “เป็นปัญหา”
“รักเหมาะสม” ก็จะ “เป็นประโยชน์”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์