มหากาพย์ที่ดิน 5,083 ไร่ บริเวณเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่กฤษฎีกาได้วินิจฉัยแล้ว ป.ป.ช.ก็วินิจฉัยแล้ว และศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาหลายปีแล้วว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
“เมื่อกรมรถไฟแผ่นดิน (รฟท.ในปัจจุบัน) ใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง และบ้านตะโก ทั้งยังใช้เป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ย่อมถือได้ว่าที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินดังกล่าว เป็นที่ดินที่จัดหามาเพื่อใช้ในกิจการรถไฟโดยชอบ”
ช่วยปลายปี 67 อธิบดีกรมที่ดินเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติเสนอมา พร้อมทั้งแจ้งให้รฟท. ทราบว่าหากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดิน ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดิน ต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป
ต่อมาวันที่ 6 มี.ค.68 “พยัคฆ์น้อย” เห็นข่าวนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ รฟท. เปิดเผยว่าขณะนี้ทีมกฎหมายของ รฟท. อยู่ระหว่างยกร่างคำฟ้อง เพื่อยื่นต่อศาลปกครองกลางสู้คดีข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง ซึ่งจะเป็นการยื่นฟ้องในประเด็นใหม่ โดยให้ถอนคำสั่งทางปกครองของกรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดย รฟท. จะขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ รฟท. มองว่าไม่ถูกต้อง จากคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง
รฟท. คาดว่าจะยื่นคำฟ้องได้ภายในเดือน มี.ค. 68 ซึ่งตามระยะเวลาจะครบกำหนดสิ้นสุดในต้นเดือน เม.ย. 68
งานนี้มีนักกฎหมายกระซิบกับ “พยัคฆ์น้อย” ว่าถ้ารฟท. จะยื่นฟ้องในประเด็นใหม่ผ่านศาลปกครอง ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเรื่องนี้ที่สังคมให้ความสนใจ จะจบลงเมื่อไหร่กันแน่?
แต่ขอเสนอให้ รฟท. เปลี่ยนมาเป็นการ “ฟ้องขับไล่” จะได้ข้อยุติเร็วขึ้น! เพราะถึงอย่างไร “ลำดับศักดิ์” ในข้อกฎหมาย ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ย่อมมีลำดับศักดิ์ที่สูงกว่ามติของคณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน อยู่แล้ว!
ดังนั้น รฟท. จึงควรยึดแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา มาเป็นบรรทัดฐานในการ “ฟ้องขับไล่” ผู้ถือครองและทำประโยชน์บนที่ดินของ รฟท. บริเวณเขากระโดง
ไม่ได้ “ฟ้องขับไล่” ไสส่งกันไปไหน! แต่เพื่อขับไล่ให้มาเข้าช่องทางการ “เช่าที่ดิน” ของ รฟท. เพื่อทำประโยชน์กันต่อไป
เนื่องจากปัจจุบัน รฟท. ได้ตั้ง “บริษัทลูก” คือ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRT) ขึ้นมาหารายได้ ตั้งแต่บริการรับจ้างบริหารจัดการสัญญาเช่าทรัพย์สินของ รฟท. (โดยทรัพย์สินทั้งหมดยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.)
บริการจัดสรรพื้นที่และเจรจาสัญญากับบุคคลที่สาม หรือร่วมทุนกับเอกชน, การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยการเช่าพื้นที่จาก รฟท. หรือซื้อที่ดินจากองค์กรอื่น เพื่อนํามาพัฒนาพื้นที่โครงการหรือเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์
ที่ดิน รฟท. บริเวณเขากระโดง ต้องเข้าสู่กระบวน การฟ้องขับไล่ (ขออัยการจากส่วนกลางมาช่วยทำงาน) เพื่อนำไปสู่การเช่า! จ่ายค่าเช่าให้ SRT ก่อนจะไปต่อสัญญาทำประโยชน์อะไร ก็เป็นเรื่องของคุณ!!.
……………………………………
พยัคฆ์น้อย