กรณีร้าย ๆ แนวนี้นั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เกิดเหตุ “อดีตสามีแทงภรรยาเก่า” ที่มีเหตุจาก “หึงหวง” แม้เลิกรากันแล้วก็ตาม ขณะที่อีกเหตุก่อนหน้าไม่นานก็ “โหดร้าย” ไม่แพ้กัน เมื่อ “สามีโมโหภรรยา” เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ในครอบครัว บันดาลโทสะ “บีบคอ–ใช้หมอนกดหน้าจนเสียชีวิต”…
เหตุการณ์ลักษณะนี้ “ต้องตั้งคำถาม”
ว่าไฉน “ปัญหาคู่รักในสังคมปัจจุบัน”
ดูจะ “มีการใช้ความรุนแรงกันมาก!!”
เกี่ยวกับคำถามข้างต้นนี้ ในมุมวิชาการด้านจิตวิทยาก็ให้ความสนใจ ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล…ที่เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับ “ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก” หรือที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Intimate partner violence” ที่เป็น “คำศัพท์จิตวิทยา” อีกคำซึ่งมักพบบ่อย ๆ ในแวดวงจิตวิทยาการให้คำปรึกษาสำหรับ “คู่รักที่มีปัญหา” หรือ “มีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง” ในความสัมพันธ์ของบุคคลใกล้ชิดอย่างคู่รักที่เป็นหนึ่งในประเภทย่อยของความรุนแรง
สำหรับคำอธิบายคำศัพท์อย่าง “Intimate partner violence” หรือ “ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก” นั้น ใน www.psy.chula.ac.th ของ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการให้ข้อมูลศัพท์คำนี้ไว้ โดยสังเขปมีว่า… ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักเกิดขึ้นได้ทั้งกับคู่รักอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ คู่รักที่อยู่ร่วมกันหรือไม่ได้อยู่ร่วมกัน หรือสมรสแล้วและยังไม่สมรส รวมไปถึงเกิดได้ทั้งกับคู่รักที่ความสัมพันธ์ได้ยุติไปแล้วหรือยังดำเนินอยู่ โดย “ผลกระทบทางลบจากความรุนแรง” ในความสัมพันธ์ของคู่รักนั้น มีทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ หรือแม้แต่ทางเพศ และก็รวมไปถึงการ…
“มีพฤติกรรมควบคุมคนรัก” ของตน!!
ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวระบุถึง “ความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ” ที่เกิดในความสัมพันธ์แบบคู่รักไว้ว่า… ประเภทแรกคือ ความรุนแรงทางร่างกาย (physical violence) ได้แก่ ตบตี เตะต่อย กัดข่วน ปาของใส่ ข่มขู่ด้วยอาวุธ ประเภทต่อมาคือ ความรุนแรงทางจิตใจ (emotional violence) ได้แก่ ทำให้อับอาย ทำให้หวาดกลัวอันตราย เช่น คุกคาม ข่มขู่ ด่า ล่อลวง ด้อยค่า และอีกประเภทคือ ความรุนแรงทางเพศ (sexual violence) ได้แก่ สะกดรอย ใช้กำลังบังคับให้อีกฝ่ายมีเพศสัมพันธ์ หรือมีกิจกรรมทางเพศด้วย โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอมพร้อมใจ ซึ่งทำไปโดย มีเป้าหมายให้เหยื่อถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์

นอกจากรูปแบบดังกล่าวข้างต้น กับการ “ควบคุมคู่รัก” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบพฤติกรรมที่ เข้าข่ายความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก อาทิ การพยายามควบคุมไม่ให้อีกฝ่ายพบปะผู้คน หรือพยายามควบคุมการเข้าถึงข้อมูลของอีกฝ่าย หรือแม้แต่บังคับให้อีกฝ่ายต้องจำใจทำในสิ่งที่ไม่ยินยอม …นี่เป็นคำอธิบายโดยสังเขปของรูปแบบความรุนแรงต่าง ๆ
และข้อมูลที่ทาง คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้อธิบายไว้นั้น นอกจากความหมายหรือคำจำกัดความของความสัมพันธ์เชิงลบลักษณะนี้แล้ว ก็ยังสะท้อนถึง “ปัญหาความรุนแรง” ไว้ว่า… ปี 2021 ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เก็บข้อมูลจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น พบว่า… “เพศหญิง” ร้อยละ 13-61 มีโอกาสประสบความรุนแรงทางร่างกาย และร้อยละ 6-59 มีโอกาสประสบความรุนแรงทางเพศ ในความสัมพันธ์แบบคู่รัก และเหยื่อทั้ง 2 กลุ่มก็มีโอกาสเสี่ยงต่อพฤติกรรมควบคุมต่าง ๆ โดยคู่รักร่วมด้วย …นี่เป็นอัตราผู้หญิง “เหยื่อความรุนแรงในความสัมพันธ์รัก”
เรื่องร้ายนี้องค์การอนามัยโลกก็สนใจ
นอกจากนี้ จากการศึกษากรณีนี้ในประเทศไทยเมื่อปี 2018 ก็พบสถิติน่าตกใจ โดยพบว่า… ผู้หญิงที่เคยประสบ “ความรุนแรงในความสัมพันธ์คู่รักแบบคู่สมรส” นั้น มากกว่า 1 ใน 6 ตกเป็นเหยื่อซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง!! …ซึ่งประเภทความรุนแรงนั้น ที่พบมากที่สุด ได้แก่ ความรุนแรงทางจิตใจ เช่น ทำให้หวาดกลัว ถูกคุกคาม ทำให้อับอาย การข่มขู่ รองลงมาคือ ความรุนแรงทางร่างกาย เช่น การผลักหรือตบ เตะ กระทืบ บีบคอ การทำโดยใช้อาวุธ
ทั้งนี้ ในชุดข้อมูลชุดนี้ยังได้มีการแปรผลจากผลการศึกษาหลาย ๆ ชิ้นออกมา และก็พบเรื่องน่าตกใจว่า… “การยอมทำตาม” และ “การรีบออกจากความสัมพันธ์” กลับทำให้ “ยิ่งเพิ่มแนวโน้มที่จะถูกใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น”แม้จะเป็นกระบวนการที่ “ผู้หญิงต้องการปกป้องตนเอง” ก็ตาม โดยมีงานศึกษาในปี 2004 ที่พบว่า…ยิ่งผู้หญิงประสบความรุนแรงในระดับสูง ก็มักจะมีความพยายามในการทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อปกป้องตนเองมากขึ้น แต่ก็ ยังคงได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนั้นต่อ สะท้อนว่า…ผู้หญิงไม่ได้นิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีวิธีการใดที่ดีที่สุดที่ได้ผลกับทุกคน
“เพราะไม่มีวิธีใดดีที่สุดที่จะเหมาะกับผู้หญิงทุกคนที่เป็นเหยื่อได้ เพราะการสู้กลับทางร่างกายก็มักทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง ดังนั้น วิธีที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้มากที่สุดคือ การติดต่อศูนย์ที่ให้ความช่วยเหลือ เพื่อหาคนมาช่วยเหลือ เพื่อวางแผนรับมือ เพื่อความปลอดภัย” …เป็น “ทางออกปัญหา” ที่ในชุดข้อมูลนี้ได้มีการแนะนำไว้
ที่ “ก็น่าคิด” และ “ก็นำสู่คำถามสำคัญ”
ว่า “ระบบดึงเหยื่อให้หลุดวังวนร้ายนี้”
ระบบ-กลไก…“ในไทยวันนี้ดีแล้ว??”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์